ขีดเส้นตายสายเดินเรือ-โรงกลั่น ปรับตัวรับกฎเหล็กลดปล่อยกำมะถัน

ขีดเส้นตายสายเดินเรือ-โรงกลั่น  ปรับตัวรับกฎเหล็กลดปล่อยกำมะถัน

ความตื่นตัวในการบังคับใช้มาตรการที่กำหนดให้เรือขนส่งระหว่างประเทศต้องปรับเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ตามกฎ IMO 2020 ขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) ที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2563

องค์การขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศได้สร้างการรับรู้มาตรการดังกล่าวให้กับประเทศสมาชิกมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การประกาศจนถึงโค้งสุดท้ายก่อนถึงส้นตายของการบังคับใช้ องค์การขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเตรียมที่จะจัดประชุมวิชาการ IMO 2020 และเชื้อเพลิงทางเลือก ในวันที่ 17-18 ตุลาคม 2562 ที่สำนักงานใหญ่ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เพื่อสร้างการตระหนักและเตรียมการสำหรับกฎ IMO 2020 และหารือถึงบทบาทของเชื้อเพลิงทางเลือกในการลดการปล่อยมลพิษของการขนส่งระหว่างประเทศ

การประชุมดังกล่าวมีการถ่ายทอดสดเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมทางไกลให้กับรัฐภาคีสมาชิก องค์การระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน ภาคเอกชนและประชาชนที่สนใจ ซึ่งองค์การขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศเป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคีสมาชิกมาตั้งแต่ปี 2516

องค์การขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศให้ความสำคัญกับการลดซัลเฟอร์ออกไซด์ (SOx) ที่ปล่อยจากเรือขนส่งระหว่างประเทศมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2548 ที่เริ่มออกกฎในชื่อสนธิสัญญา MARPOL และนับตั้งแต่นั้นมาข้อจำกัดของการปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์มีความเข้มงวดขึ้น

จนมาถึงการออกกฎ IMO 2020 ที่กำหนดให้เรือทุกลำต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงที่มีการปล่อยกำมะถันให้เหลือเพียง 0.5% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.5% เพื่อลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม

ในน้ำมันดิบมีองค์ประกอบกำมะถันอยู่ด้วย เมื่อนำมากลั่นได้น้ำมันเตาเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหนักสำหรับการเดินเรือ ในการเผาไหม้ในเครื่องยนต์จึงมีการปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยจะทำให้เกิดอาการระบบทางเดินหายใจและโรคปอด รวมทั้งการปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจะนำมาสู่ฝนกรดที่อาจเป็นอันตรายต่อพืชป่าและสัตว์น้ำ และทำให้เกิดความเป็นกรดในทะเล

การปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์จากเรือที่ลดลง จะช่วยลดมลพิษทางอากาศและส่งผลให้สภาพแวดล้อมสะอาดขึ้น รวมทั้งยังช่วยลดฝุ่นละอองอนุภาคขนาดเล็กที่เกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงและเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต โดยการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์จากการปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์ของเรือขนส่งเมื่อปี 2559 คาดการณ์ว่าหากไม่ลดการปล่อยซัลเฟอร์ออกไซด์จากเรือขนส่งลงภายในปี 2563 จะส่งผลให้มลพิษทางอากาศจากเรือขนทำให้มีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควรระหว่างปี 2563-2568 ประมาณ 570,000 คน

IMO 2020 กำหนดว่าหากเรือขนส่งใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่สอดคล้องกับปริมาณกำมะถันที่เกินกว่า 0.50% สามารถใช้การเทียบเท่าได้ เช่น การติดตั้งระบบทำความสะอาดไอเสีย หรือ ใช้เชื้อเพลิงทางเลือก เช่น แอลเอ็นจี และใช้แหล่งจ่ายไฟบนบกเมื่ออยู่ในท่าจอดเรือ

ซึ่งหลังจากนี้ความต้องการน้ำมันเตาสำหรับเดินเรือที่มีกำมะถันต่ำจะเป็นที่ต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น เพราะการติดตั้งระบบทำความสะอาดไอเสียมีต้นทุนค่อนข้างสูงถึงลำละ 3-5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ความต้องการน้ำมันเตาสำหรับการเดินเรือที่มีกำมะถันต่ำทำให้โรงกลั่นหลายแห่งทั่วโลกมีการลงทุนเพื่อปรับกระบวนการกลั่นน้ำมัน เพื่อผลิตน้ำมันเตาให้ได้ค่ากำมะถันตามเกณฑ์ ซึ่งรวมถึงโรงกลั่นในประเทศไทยที่มีการลงทุนดังกล่าวแล้วด้วย

ในกรณีที่ไม่มีการลงทุนปรับกระบวนการกลั่นน้ำมันนั้น โรงกลั่นอาจใช้วิธีการซื้อน้ำมันดิบที่มีค่ากำมะถันต่ำมากลั่น แต่จะมีต้นทุนในการกลั่นที่สูงขึ้น กฎเกณฑ์ดังกล่าวจึงมีผลต่อธุรกิจโรงกลั่นน้ำมันของไทยอย่างมีนัยสำคัญหากไม่มีการปรับตัว