Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาและการนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ประโยชน์ ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ

ตอนที่ 8 : ก้าวแรกกับการพัฒนา “โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ” ในอินโดนีเซีย

นอกจากการนำพลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลมมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าแล้ว พลังงานความร้อนใต้พิภพนับเป็นแหล่งพลังงานหมุนเวียนอีกประเภทหนึ่ง ที่มีศักยภาพในการนำมาผลิตไฟฟ้าเช่นกัน

สำหรับประเทศไทย การพัฒนาและการนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาใช้ประโยชน์ ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก เมื่อเทียบกับหลายๆ ประเทศ เนื่องจากแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพส่วนใหญ่ของโลก จะพบมากในบริเวณที่ภูเขาไฟยังคุกรุ่นอยู่ หรือที่เรียกว่า “วงแหวนแห่งไฟ” หรือ “The Ring of Fire” ซึ่งอยู่รอบมหาสมุทรแปซิฟิก มาจนถึงแถวหมู่เกาะสุมาตราในภูมิภาคอาเซียน โดยพื้นที่ที่เหมาะสม และสามารถนำพลังงานความร้อนใต้พิภพมาผลิตไฟฟ้าได้ เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และนิวซีแลนด์

อินโดนีเซีย นับเป็นประเทศที่มีแหล่งพลังงานความร้อนใต้พิภพมากเป็นอันดับ 3 ของโลก ซึ่งสามารถผลิตไฟฟ้าได้ถึง 27,000 เมกะวัตต์ ด้วยศักยภาพดังกล่าว บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป บริษัทผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่แห่งแรกของไทย เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจไฟฟ้าในอินโดนีเซีย จึงได้เข้าร่วมทุนในโรงไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยถือหุ้น 20% ใน “โรงไฟฟ้าสตาร์ เอนเนอร์ยี่” เมื่อเดือนตุลาคม 2557

โรงไฟฟ้าสตาร์ เอนเนอร์ยี่ มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 227 เมกะวัตต์ ประกอบด้วยโรงไฟฟ้า 2 หน่วย ขนาด 110 เมกะวัตต์ และ 117 เมกะวัตต์ เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2543 และ 2552 ตามลำดับ และขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าอินโดนีเซีย ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว โดยถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพแห่งแรกที่เอ็กโก กรุ๊ป มีส่วนเข้าไปร่วมทุน นอกจากนี้ โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังได้สิทธิ์ในการขายไฟฟ้าได้สูงสุดถึง 400 เมกะวัตต์ ทำให้ยังมีโอกาสขยายกำลังการผลิตเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย

หากพิจารณาถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้า โดยหลักการแล้ว กระบวนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนใต้พิภพ ไม่แตกต่างจากโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทั่วไป แต่สิ่งที่ต่างกัน คือ แทนที่จะนำเชื้อเพลิง เช่น ก๊าซธรรมชาติ ไปต้มน้ำให้กลายเป็นไอน้ำแรงดันสูง เราสามารถนำไอน้ำแรงดันสูงใต้พื้นผิวโลก มาใช้ขับเคลื่อนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้โดยตรง

การลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ รวมทั้งการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนประเภทอื่นๆ ยังคงเป็นธุรกิจที่น่าสนใจและสามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่เรายังคงใช้ไฟฟ้าในการดำเนินชีวิต โดยเป็นหนึ่งทางเลือกของพลังงานที่ใช้ได้ไม่มีวันหมด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม