การประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนกันของอาเซียน-จีน

การประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนกันของอาเซียน-จีน

การประชุมสุดยอดอาเซียน(อาเซียนซัมมิท) เป็นการประชุมระดับสุดยอดผู้นำของเอเชียอันหนึ่งที่มีสมาชิกระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมทั้งประเทศอาเซียนและประเทศคู่เจรจามีความมุ่งหมายทั้งในการแลกเปลี่ยนและการประกาศนโยบายในเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นจุดแข็งของภูมิภาคและการนำเสนอทิศทางและความริเริ่มใหม่ๆ ที่ประเทศสมาชิกจะได้แลกเปลี่ยนความรู้จากภายนอกภูมิภาคโดยเน้นกลไกลที่มีอยู่และการนำเสนอกลไกลใหม่

การประชุมอาเซียนปีนี้มีความสำคัญยิ่งต่อทั้งไทยและจีนในการนำเสนอนโยบายและยุทธศาสตร์ของตนต่อภูมิภาคและประชากรโลก (export promotion) พร้อมกับเป็นเวทีรับความคิดเห็นจากภายนอก (Import substitution) กล่าวคือเป็นโอกาสที่จีนและชาวโลกจะได้รับฟังแนวนโยบายการต่างประเทศของไทยและทิศทางการพัฒนาของไทยทีมีผลต่อภูมิภาค อาทิ การพัฒนา
อย่างยั่งยืน(sustainable development) ที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยืนของสหประชาชาติ (SDG)

ด้านจีน เป็นโอกาศจะได้รับฟังแนวทางและทัศนะของภูมิภาคที่จะมีผลกระทบต่อมหายุทธศาสตร์ความริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีน ทั้งนี้ผลกระทบในเชิงระดับประเทศต่อระดับภูมิภาคและระดับโลกย่อมจะก่อให้เกิดความร่วมมือใหม่ๆ ที่จะช่วยปรับปรุงแก้ไขกลไกลของแต่ละชาติที่เชื่อมโยงกลไกลระดับภูมิภาคนำไปสู่ภาคการปฏิบัติในเชิงนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีความสอดคล้องกันต่อไป

ประเด็นที่สำคัญยิ่งการประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกฎบัตรอาเซียนในเชิงหลักการทั้ง ๓ ประการให้คงอยู่ต่อไป กล่าวคือ หลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของชาติอื่น  หลักการแก้ข้อพิพากโดยสันติ และหลักการฉันทามติ ซึ่งจะสอดคล้องกับหลักการอยู่ร่วมกันโดยสันติ ๕ ประการ ที่ประกาศโดยนายกรัฐมนตรีโจเอิ้นไหล เมื่อกว่า ๕๐ ปีมาแล้วในปฏิญญาบันดุง

ทั้งนี้การที่ผู้นำสูงสุดของแต่ละประเทศสมาชิกของอาเซียนและประเทศคู่เจรจามาร่วมกันยังมีโอกาศได้ให้ระดับรัฐมนตรีประเทศคู่เจรจากับประเทศสมาชิกอาเซียนเปิดเวทีย่อยระดับทวิภาคีคู่ขนานกันไปเพื่อให้นโยบายระดับทวิภาคีเกื้อหนุนกลไกลระดับพหุภาคีทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสหประชาชาติในท้ายที่สุดซึ่งถือเป็นเจตจำนงค์ร่วมคือการพัฒนาอย่างยั่งยืนประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมของมวลมนุษยชาติ

การประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ ๓๕ สาระสำคัญมุ่งมั่นความมั่งคั่งตอบย้ำอาเซียนจับมือกันให้แน่นโดยวางรากฐานความมั่นคงอย่างยั่งยืน ซึ่งผลลัพท์ที่เป็นรูปธรรมคือการเปิดศูนย์ด้านอาเซียน ๓ แห่งในประเทศไทย (๑) ศูนย์อาเซียนเพื่อการศึกษาและคิดค้นด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (๒) ศูนย์อาเซียนเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุและนวัตกรรม (๓) ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสวัสดิการและการคุ้มครองทางสังคม ทั้งนี้โดยตลอดเวลา ๕ วันของการประชุม (๓๑ ต.ค. ถึง ๔ พ.ย.) ถือเป็นการกำหนดนโยบายภายในกลุ่มอาเซียนด้วยกันและระหว่างคู่เจรจาของอาเซียน ผลที่สำคัญคือที่ประชุมสุดยอดผู้นำรับรองปฎิญญาด้านขยะทะเลอาเซียนเร่ง ผลักดัน RCEPภายในปีนี้

การประชุมสุดยอดอาเซียนเป็นโอกาสแลกเปลี่ยนกันของอาเซียน-จีน

นอกจากนี้เป็นโอกาสที่ประเทศไทยขอประชุมนอกรอบกับสหรัฐเรื่อง GSP ซึ่งมีมูลค่าตลาดรวมเกือบ ๔๐,๐๐๐ ล้านบาท

ข้อสังเกต  การประชุมครั้งนี้ผู้นำจากประเทศมหาอำนาจที่เป็นคู่เจรจาอาเซียนไม่ว่าสหรัฐ จีน รัสเซียต่างไม่สามารถเข้าร่วมประชุมได้แต่ก็ส่งผู้นำระดับสูงเข้าร่วมประชุมแทน สหรัฐมอบให้ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติเป็นฑูตพิเศษอาจทำให้มองเห็นระดับความสำคัญในสายตาของสหรัฐต่อการประชุมครั้งนี้ที่มีดีกรีลดลงหากเปรียบเทียบสมัยประธานาธีบดีโอบามา

จีนควรใช้การประชุมสุดยอดอาเซียนร่วมหารือแบบทวิภาคีกับสมาชิกอาเซียนในประเด็นที่อาจจะอ่อนไหวเช่นปัญหาอาชญกรรมข้ามชาติ ปัญหาการก่อการร้าย หรือปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างกลไกลความร่วมมือทั้งระดับรัฐบาลกลางต่อประเทศคู่เจรจากับระหว่างมณฑลชายแดนของจีนกับประเทศที่มีพรมแดนติดกัน อาทิความร่วมมือล้านช้างแม่โขง (LMC) ความร่วมมืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) เป็นต้น อย่างไรก็ดีกลไกลความร่วมมือดังกล่าวอาจจะยังมีปัญหาใน ๓ ระดับ ระดับที่หนึ่ง การสื่อสารระดับนโยบายสู่หน่วยปฏิบัติ ระดับที่สอง ปัญหาระดับท้องถิ่นในด้านกฏระเบียบ ระดับที่สาม ระดับขีดความสามารถของหน่วยปฏิบัติที่ยังคงแตกต่างกัน ปัญหาทั้ง ๓ ระดับนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการพบปะกันบ่อยครั้งจนได้ผลประโยชน์ร่วมทั้ง ๓ ประการ กล่าวคือความเข้าใจร่วม ความไว้เนื้อเชื่อใจร่วม และการมีส่วนได้ส่วนเสียร่วม

แนวทางการพัฒนาประเทศของจีนอยู่ในหนังสือ “สีจิ้นผิง - ยุทธศาสตร์การบริหารประเทศ”และหนังสือ“การกำจัดความยากจน” ต่างๆ เป็นแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารประเทศซึ่งมีทั้งแนวคิดใหม่ ทัศนะใหม่ คำวินิจฉัยใหม่ จำนวนมาก ในวาทะดังกล่าวไม่เพียงแต่ตอบคำถามสำคัญทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติเกี่ยวกับการพัฒนาพรรคและประเทศภายใต้สภาวะประวัติศาสตร์ระยะใหม่ของจีนทั้งยังได้เปิดเผยถึงทัศนะและนโยบายการปกครองผู้นำชุดใหม่ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนด้วย แนวคิดดังกล่าวตอบย้ำทิศทางและความมุ่งมั่นของพรรคที่จะนำพาประชาชนทุกหมู่เหล่าทุกชนเผ่าทั้งประเทศเตรียมร่วมมือเพื่อรับมือกับอุปสรรคและความท้าทายบนเส้นทางเบื้องหน้าอย่างกระตือรือร้น มุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเปิดประเทศในมิติที่ลึกยิ่งขึ้น ทุ่มเทกำลังการสร้างระบบบริหารประเทศตามแนวทางและลักษณะเฉพาะของจีนและความสามารถในการบริหารประเทศให้มีความทันสมัยโดยผนึกรวมสรรพกำลังแข็งแกร่งเพื่อบรรลุความฝันของจีนในการที่ฟื้นฟูความเจริญรุ่งเรืองครั้งใหญ่ของประชาชาติจีน กล่าวโดยย่อเป็นการนำเสนอวาทะและคติธรรมประจำชาติจีน สู่การยืนหยัดและพัฒนาสังคมแบบมีเอกลักษณ์ของจีนโดยเน้นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การปฏิรูปรอบด้านในเชิงลึก การสร้างประเทศจีนให้เป็นนิติรัฐ การสร้างประเทศเข้มแข็งที่มีวัฒนธรรมสังคมนิยม การส่งเสริมการพัฒนาสังคมและการบริหารสังคม การสร้างอารยธรรมระบบนิเวศวิทยา การส่งเสริมกองทัพด้านกิจการกลาโหมให้ทันสมัย การยกระดับนโยบายหนึ่งประเทศสองระบบและส่งเสริมการเป็นเอกภาพของมาติภูมิการเดินบนเส้นทางแห่งการพัฒนาอย่างสันติ การผลักดันเพื่อสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาอำนาจรูปแบบใหม่ การกระชับความร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวกับประเทศกำลังพัฒนา การร่วมกิจการพหุภาคีอย่างแข็งขัน การผลักดันการปราบปรามทุจริตและการยกระดับมาตรฐานผู้นำเป็นต้น ดังนั้น แนวคิดการบริหารประเทศของจีนที่อยู่ในหนังสือเล่มนี้ สนองความสนใจของสังคมโลกและเสริมความรับรู้และความเข้าใจของสังคมโลกต่อทัศนะคติและแนวทางการพัฒนาประเทศตลอดจนนโยบายทั้งในและต่างประเทศของจีน

ในเวลาเดียวกัน จีนควรใช้โอกาสในการประชุมสุดยอดอาเซียนยืนยันนโยบายแนวทางการพัฒนาอย่างสันติซึ่งจะเป็นโอกาสให้ภูมิภาคร่วมกันศึกษาประวัติศาสตร์ของตนเอง และการศึกษาพัฒนาการทางแนวความคิดการพัฒนาของจีนจากสถานการณ์โดยรวมและบนภาคปฏิบัติที่เป็นจริงร่วมถึงเวทีนี้จะทำให้ภูมิภาคและโลกได้เข้าใจแนวโน้มการผงาดขึ้นมาของจีนกับผลกระทบต่อสังคมโลก ซึ่งจะเป็นหนึ่งในทางภาระกิจทางประวัติศาสตร์ของจีนและของภูมิภาคที่จะให้ประชาคมโลกสามารถเล็งเห็นถึงความเป็นไปได้และความภาคภูมิใจในแนวทางการพัฒนาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์และเป้าหมายแห่งประชาชนมั่งคั่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

 

พลเอก สุรสิทธิ์ ถนัดทาง

ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยยุทธศาสตร์ไทย-จีน