ล้วงลึกสัมมนา“ส่องหุ้นปีหน้าจะ 1,800 หรือ 1,400”

ล้วงลึกสัมมนา“ส่องหุ้นปีหน้าจะ 1,800 หรือ 1,400”

เข้าใกล้ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2562 เข้าไปทุกที ขณะที่นักลงทุนหลายคนคงเริ่มปรับพอร์ตลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในปีหน้า โดยเมื่อวันที่ 7 พ.ย.ที่ผ่านมาได้มีการจัดงานสัมมนาครั้งใหญ่ก่อนส่งท้ายปีภายใต้หัวข้อ “ส่องหุ้นปีหน้าจะ 1800 หรือ 1400”โดยบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จํากัด (มหาชน) หรือ TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งรายใหญ่ของไทยส่องหุ้น ซึ่งภายในงานได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงเศรษฐกิจ การลงทุน และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาเป็นวิทยากรในการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในปี 2563 กันอย่างคับคั่ง รวมถึงมีผู้ร่วมงานสัมมนาทั้งนักลงทุนรายบุคคลและสื่อมวลชนเข้ารับฟังกันอย่างเนืองแน่นจนเต็มห้องประชุมชั้น 30 อาคารทีพีไอ ทาวน์เวอร์

โดยงานนี้ได้รับเกียรติจาก “ประชัย เลี่ยวไพรัตน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPL เป็นผู้กล่าวปาฐกถาเปิดงาน ซึ่งมีใจความสำคัญระบุว่าในปัจจุบันต้องยอมรับว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนมากและในช่วง1-2 ปีก็ไม่ได้เป็นปีที่ดีนักสำหรับนักลงทุนไทยโดยเฉพาะนักลงทุนรายบุคคลหรือรายย่อย โดยเชื่อว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะการเข้ามามีบทบาทมากขึ้นของนักลงทุนสถาบันทั้งไทยและต่างประเทศ ประกอบกับการเกิดขึ้นของภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่สืบเนื่องมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน ดังนั้นการเพิ่มเติมข้อมูลเพื่อการลงทุนจึงมีความสำคัญมาก จึงเป็นที่มาของจัดงานสัมมนาในครั้งนี้ พร้อมเน้นย้ำจะสร้างความรู้ให้กับนักลงทุนรายย่อยเพื่อให้อยู่คู่กับตลาดหุ้นไทยตลอดไป

ขณะที่เปิดสัมมนาหัวข้อแรก “เศรษฐกิจและตลาดหุ้นโค้งสุดท้ายปี 2562” โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจและด้านการลงทุนอย่าง “ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์” นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐกิจและการเมือง และ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์” รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจประชาธิปัตย์ มาช่วยบอกเล่ามุมมองเศรษฐกิจและตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้และทิศทางในปี 2563 ซึ่งทั้งคู่มีความเห็นสอดคล้องกันว่าแม้เศรษฐกิจปีนี้อาจดูแย่ แต่ปีหน้าจะเห็นทิศทางที่ดูดีขึ้น

-แม้เศรษฐกิจไม่ดี แต่ลุ้นจากนี้ดัชนียังไปต่อ

โดยดร.สมชาย กล่าวว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2562 แย่มาก ส่วนเศรษฐกิจโลกล่าสุดปรับเหลือ 3% และการค้าโลกเดิมคิดว่าจะขยายตัว 3.5-3.6% แต่ล่าสุดเหลือ 1% กว่าๆ อย่างไรก็ตามแม้ทุกอย่างดูแย่ไปหมด แต่ตลาดหุ้นไทยก็ปรับตัวขึ้นมาได้ ซึ่งจริงๆแล้วเป็นเพราะตลาดหุ้นเป็นการมองไปข้างหน้า ซึ่งถ้าหากใช้สมมติฐานนี้กับเศรษฐกิจไทยก็เชื่อว่าจะดีขึ้นเช่นกัน เนื่องจาก IMF คาดการณ์เศรษฐกิจโลกปีนี้ 3% แต่ปีหน้า 3.3-3.4% ประกอบกับคาดว่าภายใน 1-2 เดือนนี้เราจะเห็นเป็นครั้งแรกที่สงครามการค้าจะไม่มีการสู้กัน โดยจะจบลงแบบวินๆทั้ง 2 ฝ่าย แม้จะมีการขู่กันไว้เยอะ เนื่องจากเชื่อว่าทั้ง 2 ฝ่ายหากถึงจุดหนึ่งก็ต้องหลีกเลี่ยงความขัดแย้งเพราะเศรษฐกิจทั้ง 2 ประเทศย่ำแย่มาก

ทั้งนี้จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2563 ให้มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะประเทศไทยจะได้รับปัจจัยบวกจากภายในประเทศ เช่น โครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) และการใช้งบประมาณของภาครัฐเป็นตัวขับเคลื่อนนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจ จึงมองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2563 จะขยายตัวได้ระดับ 3-3.3% จากปีนี้ที่คาดขยายตัวเพียง 2.5-2.8%

“หากมองมาที่ SET ภายใต้สมมุติฐานปี 62 เศรษฐกิจแย่ แต่ตลาดหุ้นถือว่าไม่แย่ จึงคิดว่าจากนี้จะมีช่วงหนึ่งที่ดัชนีปรับขึ้นอีกไปถึงจุดเดิมที่ 1,750 จุด โดยมองปี 63 จะดีขึ้นมาที่ 1,570-1,700 จุด และจุดสูงสุดจะดีกว่าปีนี้ บนสมมติฐานเศรษฐกิจไทยขยายตัว 3-3.3%”

-คาดปี 63 เศรษฐกิจไทยโตกว่าปีนี้

ด้านนายปริญญ์ กล่าวว่ามองตลาดหุ้นไทยตอนนี้มีค่าพีอีสูงและมียีลด์ที่ต่ำ จึงเชื่อว่าในช่วงระยะสั้นนักลงทุนสถาบันต่างชาติจะไม่กลับมาซื้อสุทธิตลาดหุ้นไทย เพราะการเติบโตของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ หลังจากกลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่มีผลต่อดัชนี เช่น กลุ่มโตรเคมีและกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีอัตราการเติบโตที่จำกัดหรือน้อยกว่าที่คาดไว้

อย่างไรก็ตามมองว่าตลาดหุ้นไทยปี 2563 ควรจะดีกว่าปีนี้ เพราะทุกอย่างเริ่มคลี่คลายโดยคาดว่าแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะเห็นทิศทางที่ดีขึ้นจากปีนี้ เนื่องจากมีปัจจัยหนุนเข้ามาช่วยหลายด้าน เช่น กรณีที่กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการเจรจาทางการค้า (FTA) หรือเขตการค้าเสรีกับกลุ่มประเทศยุโรป,อังกฤษ,ตุรกี รวมถึงกลุ่มประเทศตะวันอออกกลาง ซึ่งจะช่วยกระตุ้นการส่งออกได้ดียิ่งขึ้น

ขณะที่มองว่าการลงทุนของภาครัฐในปี 2563 จะมีเม็ดเงินลงทุนในโครงการ EEC อย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะการก่อสร้างเมืองใหม่สมาร์ทซิตี้,การก่อสร้างสนามบิน และท่าเรือน้ำลึก ซึ่งคาดจะมีการลงทุนเข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ในปี 2563 จะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐ จึงเชื่อว่านายโดนัล ทรัมป์จะมีนโยบายที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯเพื่อเป็นการเรียกคะแนนเสียงและความเชื่อมั่น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจโลกด้วยและถือเป็นปัจจัยที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจปีหน้า

ถัดมาหัวข้อ “รู้จักผู้นำพลังงานทางเลือกพลังงานแห่งอนาคต”โดยนายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน TPIPP,นายประเสริฐ อิทธิเมฆินทร์ รองผู้จัดการใหญ่ อาวุโส สายบัญชีและการเงิน TPIPL และนายสุวัฒน์ กมลพนัส ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

-เทรนด์พลังงานทางเลือกกำลังมา

โดยนายสุวัฒน์ กล่าวว่าในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนสภาอุตสาหกรรม มองว่าปัจจุบันพลังงานทางเลือกมีอยู่ 2 ประเภท คือ 1.ประเภทใช้วัตถุดิบเป็นเชื้อเพลิง และ 2.ประเภทที่ไม่ต้องใช้วัตถุดิบ ขณะที่ประเทศไทยมีการพัฒนาพลังงานทางเลือกมานาน จึงเริ่มมีเทรนด์ผู้ประกอบการหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมามีการเข้าไปลงทุนในเวียดนามกว่า 40,000 ล้านบาท ขณะที่จะดูบริษัทไหนดีหรือไม่ดีต้องดูสัญญาการซื้อขายขายไฟ (PPA) ว่ามีมากน้อยแค่ไหน

-จุดเริ่มต้นของการลงทุนในธุรกิจพลังงานทางเลือก

นายประเสริฐ ระบุสาเหตุของการก่อตั้งบริษัท TPIPP นั้น เนื่องจากบริษัทได้ลงทุนธุรกิจพลังงานอยู่แล้ว เพราะการผลิตปูนซิเมนต์ต้องใช้ความร้อนจากถ่านหิน แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งราคาถ่านหินปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จึงมีการนำขยะมาช่วยในการลดต้นทุนในการผลิตปูนและมาถึงจุดหนึ่งคิดว่าทำไมไม่เอาขยะมาทำ RDF หรือมาผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งเป็นการช่วยประเทศไทยลดภาระขยะและถือเป็นพลังงานสะอาดสีเขียว

ทั้งนี้มองว่าในอนาคตภาครัฐจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการผลิตพลังงานทางเลือกมากขึ้น ซึ่งตามแผน PDP ปี 2018 กำหนดพลังงานทางเลือกต้องเป็น 30% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศหรือราว 18,176 เมกกะวัตต์ (MW) พร้อมแยกโรงไฟฟ้าขยะออกมาต่างหาก โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ควรได้รับการส่งเสริมเป็นโครงการการเร่งด่วน โดยเพิ่มสัดส่วนจาก 500 MW เป็น 900 MW จึงมั่นใจว่าหากรัฐเปิดใบอนุญาตใหม่ๆออกมาบริษัทจะได้มีส่วนแบ่งตลาดในส่วนนี้แน่นอน เพราะบริษัทเป็นผู้เล่นที่มีมาร์เก็ตแชร์ 50% ของตลาดนี้ นอกจากนี้ยังสนใจและต้องการเข้าร่วมในการเข้าไปมีส่วนร่วมและพัฒนาไม่ว่าจะเป็นนิคมฯ,โรงไฟฟ้า หรือท่าเรือน้ำลึกในโครงการเอ็นเนอร์ยี่คอมเพล็กในพื้นที่ภาคใต้

 “เรามองประเทศไทยมีขยะประมาณ 1 ปี 28 ล้านตัน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสามารถสร้างโรงไฟฟ้าได้ 2,000 MW ต่อปี ซึ่งภาครัฐที่ออกมาเพียง 900 MW ต่อปีถือว่าบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมนี้ก็ยังมีโอกาสเติบโตไปได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นนโยบายที่รัฐให้การส่งเสริม”

นายประเสริฐ กล่าวต่อว่าส่วนการลงทุนของ TPIPLนั้น ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนของการผลิตปูนซิเมนต์เพื่อเพิ่มวอลุ่มการขายและการแข่งขันในตลาดได้มากขึ้น ขณะที่การเติบโตของธุรกิจส่วนใหญ่จะเน้นการลงทุนผ่าน TPIPP เป็นหลัก ซึ่งหลักการลงทุนปัจจุบันเนื่องจากเรามีกระแสเงินสดอยู่ระดับหนึ่งและทำให้บริษัทยังสามารถกู้ได้อีกจำนวนมาก โดยมองผลตอบแทนจากการลงทุนในแต่ละโครงการต้องไม่ต่ำกว่า 15-20 ขึ้นไปเพื่อผลประโยชน์สูงสุดของ TPIPP ซึ่งเมื่อTPIPP มีกำไรมากก็จะมาในรูปเงินปันผลให้ผู้ถือหุ้นและส่งต่อมายัง TPIPL ซึ่งบริษัทก็จะจ่ายปันผลให้ผู้ถือหุ้น TPIPLต่อไป

ล้วงลึกสัมมนา“ส่องหุ้นปีหน้าจะ 1,800 หรือ 1,400”

นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน TPIPP

-TPIPP ยันกระแสเงินสดเยอะ พร้อมลงทุน

นายภัคพล กล่าวว่าตอนนี้ TPIPP มีฐานะการเงินที่แข็งแรงมาก โดยมีอัตราหนี้สินต่อทุน (DE) ในระดับต่ำ เห็นได้จากการที่บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 26,700 ล้านบาท และมีหนี้สินหมุนเวียนและไม่หมุนเวียนประมาณ 10,000 ล้านบาท ดังนั้นด้วย D/E ที่ต่ำบริษัทจึงมีศักยภาพในการกู้ยืมเงินได้หากต้องการขยายศักยภาพในอนาคต ประกอบกับยังมีกระแสเงินสดที่เหลืออีกกว่า 5,000 ล้านบาท ซึ่งทำให้บริษัทสามารถขยายธุรกิจในอนาคตหรือจะแจกคืนผู้ถือหุ้นก็ทำสามารถดำเนินการได้

ขณะที่ปัจจุบันบริษัทมีความสนใจที่จะเข้าประมูลโครงการโรงไฟฟ้าขยะ2 แห่ง ได้แก่ พื้นที่จังหวัดสงขลาและจังหวัดนครราชสีมา โดยทั้งสองแห่งมีขนาดกำลังการผลิตรวม 10 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะใช้เงินลงทุนต่ำกว่าโรงไฟฟ้าขยะที่จังหวัดกรุงเทพฯ ซึ่งใช้เงินลงทุนไปประมาณ 3,500 ล้านบาท เนื่องจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่น้อยกว่า นอกจากนี้บริษัทยังสนใจเข้าไปลงทุนตามแผน PDP ใหม่ซึ่งภาคใต้มีความต้องการไฟฟ้าเพิ่มอีก 1,700 MW ซึ่งยังต้องติดตามว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ในส่วนของหัวข้อสุดท้าย “เจาะลึกหุ้นร้อน” โดยได้รับเกียรติจาก 2 เซียนหุ้น คือ “วัชระ แก้วสว่าง’หรือ เสี่ยป๋อง นักลงทุนรายใหญ่ในตลาดหุ้น,นายแพทย์รัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา (หมอวิน) นักลงทุนรายใหญ่สายเทคนิคคอล พร้อมนักวิเคราะห์อีก 2 ราย ได้แก่ นายณัฐวัฒน์ อ้นรัตน์ รองกรรมการฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) จำกัด และนายประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด

-ขาใหญ่เตือนดัชนีใกล้จบขาขึ้น

เสี่ยป๋อง กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยปีหน้านั้น การลงทุนอาจต้องเพิ่มความระมัดระวัง เนื่องจากการดูเส้นกราฟสัญญาณทางเทคนิคของตลาดหุ้นไทย (SET INDEX) ปัจจุบันจะพบว่าแท่งเทียนรายเดือนและรายไตรมาสมีสัญญาณน่าเป็นห่วง ประกอบกับตลาดหุ้นอยู่ในช่วงขาขึ้นมากว่า 10 ปีแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มที่ดัชนีฯจะเข้าสู่ช่วงใกล้จบรอบปลายขาขึ้นรอบนี้และโอกาสที่จะปรับตัวลดลงแรง

ทั้งนี้จากการไล่ติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอดนั้น ในมุมมองของตนเองคิดว่าตอนนี้การเคลื่อนไหวของ SET INDEX น่าจะเข้าสู่ช่วงขาที่ 3 ของวัฏจักรขาขึ้นรอบใหญ่หรือที่รียกว่า “แกนซุปเปอร์ไซเคิล”แล้ว แต่ปัญหาคือยังไม่มีใครรู้ว่ามันจบรอบขาขึ้นรอบนี้ไปแล้วรึยัง ซึ่งหากยังไม่จบดัชนีฯก็มีโอกาสขึ้นไปที่ระดับ 1,900-2,000 จุดได้ แต่หากจบรอบนี้แล้วตามทฤษฎีมีโอกาสที่ดัชนีฯจะปรับตัวลดลงอย่างเบามาที่ระดับ 1,300 จุด ส่วนกรณีร้ายแรงสุดดัชนีฯไม่น่าหลุดระดับ 900 จุด

ส่วนดัชนีฯที่อยู่แถว 1,640 จุด ส่วนตัวก็ยังซื้ออยู่เป็นบางตัว แต่เชื่อว่าหากดูเส้นกราฟ SET อย่างเดียวไม่ได้ต้องเน้นดูรายตัว เพราะหากดู SET อย่างเดียวจะหลอน เนื่องจากสัญญาณกราฟมันตัดลง แต่เมื่อดัชนีฯปรับตัวขึ้นมามันก็ต้องดูเป็นสเต็ปไป อย่างไรก็ตามแนะนำว่าการลงทุนช่วงนี้หากสามารถจัดพอร์ตได้ ควรจัดแบ่งพอร์ตเป็นเงินลงทุนราว 30% เพื่อลงทุนในหุ้นที่สามารถเล่นได้ เพราะหากลงทุนกระจายหุ้นเต็มพอร์ตก็อาจทำหุ้นที่ไม่เข้าเป้ากินตัวที่ทำกำไรไปหมดและทำให้หุ้นที่เหลืออยู่ในพอร์ตเสียหายได้

หมอวิน กล่าวว่าประเมินสัญญาณทางเทคนิคตอนนี้ดูไม่ค่อยดีเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนต้องระวังให้ดี เพราะในช่วง 3 เดือนนี้มีโอกาสที่ดัชนีฯจะลงมากกว่าขึ้น โดยเชื่อว่าตลาดผ่านจุดพีคสุดไปเรียบร้อยแล้วที่ระดับ 1,850 จุด ซึ่งหากหลุดระดับ 1,600 จุด ซึ่งถือเป็นแนวรับที่สำคัญก็มีโอกาส

ย่อตัวลงไประดับ 1,500 จุดและแนวรับถัดไปที่ระดับ 1,400 จุด พร้อมแนะนำให้ขายหรือลดพอร์ตลงหากหลุดระดับดังกล่าว

“กลยุทธ์ตอนนี้คือต้องเล่นสั้นและเลือกกลุ่มหุ้นที่ดีๆ ขณะที่หากดัชนีฯหลุด 1,600 จุดติดต่อกัน 5 วันแนะให้ลดพอร์ตลง แต่หากหลุดเกิน 2 สัปดาห์ก็แนะให้ล้างพอร์ต”

-นักวิเคราะห์ เชื่อหุ้นไทยยังมีแรงหนุน

ด้านนายณัฐวัฒน์ กล่าวว่าที่ผ่านมาดัชนีตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวขึ้นลงรุนแรงกว่าในอดีตเพราะได้รับผลกระทบจากบล็อกเทรด และ DW ดังนั้น กลยุทธ์การลงทุนหลังจากนี้จึงแนะนำให้นักลงทุนเล่นให้เร็วขึ้นโดยใช้เครื่องมือจากตลาด Tfex มาช่วยในการสร้างผลกำไรนั่นคือการเปิดสถานะ Shot เมื่อหุ้นแตะเส้น 200 วันและสถานะLong หรือเข้าซื้อหุ้นเมื่อราคาลงมาแตะเส้น 50 วัน โดยคาดว่าในช่วงสั้นหุ้นไทยจะปรับตัวขึ้นได้หลังจากที่ผ่านมาตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้นไปแล้ว นอกจากนี้ ส่วนตัวยังมองว่าประเด็นเรื่องสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนเริ่มคลี่คลายหลังจากค่าเงินหยวนเริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาน้ำมัน่าจะทรงตัวเพื่อรอรับบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่เข้าซื้อขายในตลาดหุ้นในช่วงสิ้นปีนี้

ส่วนนายประกิต กล่าวว่ามองว่าภายในไตรมาสที่ 1 หุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปที่ 1,780 จุดได้ จากปัจจัยบวกต่างๆ ได้แก่ 1.สภาพคล่องทั่วโลกเพิ่มขึ้นตามการลดอัตราดอกเบี้ย และการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าระบบของธนาคารกลางสำคัญๆ ทั่วโลก ซึ่งจะทำให้เงินเหล่านี้ไหลเข้าตลาดหุ้นเกิดใหม่ได้ในปีหน้า 2. รัฐบาลของแต่ละประเทศทั่วโลกเดินหน้านโยบายการคลัง ผ่านการลงทุนโครงการต่างๆ รวมถึงใช้นโยบายแจกเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจหลังจากที่ผ่านมาตลอด 4 ไตรมาสจะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจทุกประเทศทั่วโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง 3. ภาวะความกลัวของนักลงทุนค่อยๆ ปรับตัวลดลง เห็นได้จากนักลงทุนเริ่มขายตราสารหนี้ระยะยาวจนทำให้อัตราผลตอบแทนตราสารหนี้อายุ 10 ปีของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น และนำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นแทน 4. แรงกดดันเรื่องกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยเติบโตในระดับต่ำจะเริ่มคลี่คลาย โดยคาดว่าในปี 2563 EPS หุ้นไทยจะขึ้นไปอยู่ที่ 106 บาทต่อหุ้น จากปีนี้ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะอยู่ที่ 96 บาทต่อหุ้น ทั้งนี้กลยุทธ์การลงทุนหลังจากนี้แนะนำให้เลือกหุ้นที่มีสถานะคงค้าง (Open Interest) ในระดับต่ำเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบจากบล็อกเทรด โดยมีหุ้นที่น่าสนใจลงทุนคือ TRUE, LH, AMATA, CENTEL, CPALL และ BCH