“ดิจิทัล” แท้จริง เหลื่อมล้ำหรือสร้างโอกาส?

“ดิจิทัล” แท้จริง เหลื่อมล้ำหรือสร้างโอกาส?

“ดิจิทัล” กำลังเข้ามามีบทบาทต่อทุกคนในแทบทุกช่วงเวลาของชีวิตโดยไม่รู้ตัว เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า ทุกคนกำลังมองหา “โอกาส” และหวังใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล

แต่ขณะที่โลกกำลังถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น เราเคยคิดหรือไม่ว่า บางทีเราอาจกำลังทิ้ง “ใครบางคน” ไว้ข้างหลัง

จากกลุ่มเครือข่ายนักคิดดิจิทัล Digital Thinkers Forum ที่มองเห็นเค้าลางปัญหา “ความเหลื่อมล้ำ” จึงรวมตัวกันร่วมเสนอมุมมองแห่งความเป็นธรรม หวังเพื่อกระตุกต่อมคิดคนในสังคม ผ่านเวทีการเสวนา “จากความเหลื่อมล้ำสู่ความเป็นธรรมยุคดิจิทัล เรากำลังทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ที่สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) TCDC และภาคีเครือข่าย

“ดิจิทัล” แท้จริง เหลื่อมล้ำหรือสร้างโอกาส?

 “การเข้าถึง” ด่านแรกของความเหลื่อมล้ำโลกดิจิทัล

เวทีเปิดประเด็นโดย ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. ที่บอกเล่าเหตุผลการจัดงานว่า จากการที่ สสส.เล็งเห็นว่า ในยุคปัจจุบัน คือยุคดิจิทัลที่กำลังมีบทบาทสำคัญ โดยส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงมากมายในสังคมไทย ที่สำคัญ เราทุกคนล้วนเป็นทั้งเหยื่อและผู้ได้รับผลประโยชน์จากเทคโนโลยีและความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ในแทบทุกมิติ

“ปัจจุบันข้อมูลสุขภาพทั้งหลายส่วนใหญ่ล้วนมากับดิจิทัลทั้งนั้น และยังเข้ามาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพคนไทยได้ทั้งในเชิงบวกและลบ โดยหากเราส่งข้อมูลที่ถูกต้องก็จะทำให้คนเรามีข้อมูลสุขภาพที่ดีขึ้น เป็นเหตุผลที่ สสส.ต้องเข้ามาร่วมวงในเรื่องนี้ด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์เอ่ย

ต่อด้วยประเด็นเข้มข้นอย่างความเหลื่อมล้ำขั้นพื้นฐานที่สุด นั่นคือ “การเข้าถึง” ด้วยมุมมองจากนักวิจัยอิสระด้านสื่อและโทรคมนาคม วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง ที่ฉายภาพข้อเท็จจริงเรื่องการสร้างโอกาสใช้อินเตอร์อย่างมีคุณภาพในสังคมว่า แม้ปัจจุบันในภาพรวมอาจพบว่าคนไทยทั่วประเทศเข้าถึงอินเตอร์เน็ตเยอะมากขึ้น เพราะการขยายตัวของผู้ให้บริการเอกชน รวมถึงภาครัฐที่มีนโยบายต้องการลดช่องว่างการเข้าถึง และเพิ่มบริการที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงมากขึ้น อาทิ โครงการ เน็ตประชารัฐ หรือเน็ตชายขอบที่เปิดโอกาสให้กับกลุ่มประชากรชายขอบหรือผู้มีโอกาสน้อยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตมากขึ้น

“แต่สิ่งที่รัฐแตะไป 3 เรื่อง คือ หนึ่ง การเข้าถึงเทคโนโลยี สอง การสร้างความรู้และศักยภาพในการใช้งานดิจิทัล และสาม การเพิ่มบริการภาครัฐ ผมมองว่ารัฐยังสอบตกทั้งสามอย่าง เพราะหากพูดถึงเรื่องดิจิทัล มันไม่ใช่แค่การไปถึงเข้าถึง แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น แต่คือการทำอย่างไรให้คนสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ และสามารถนำไปสร้างสรรค์ หรือมีส่วนร่วมในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อกำหนดชีวิตและสร้างอนาคตของพวกเขา”

“ดิจิทัล” แท้จริง เหลื่อมล้ำหรือสร้างโอกาส?

ดิจิทัล โลกแห่งอำนาจที่ไม่เท่าเทียม

เสริมด้วยความเห็นของ ชลนภา อนุกูล  สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่าโครงสร้างเรื่อง “อำนาจ” เป็นอีกต้นเหตุความเหลื่อมล้ำในสังคม และยิ่งเมื่อเข้าไปอยู่ในโลกอินเตอร์เน็ต “อำนาจ” ก็ยังคงสร้างความเหลื่อมล้ำเช่นเดิม

ที่สำคัญมองว่าความเหลื่อมล้ำอาจไม่ได้เกี่ยวกับความยากจนอย่างเดียวเท่านั้น แม้อินเตอร์เน็ตจะช่วยสร้างประโยชน์มากมายในโลกใบนี้ แต่การกระจายผลประโยชน์มันไม่ได้สัดส่วน ไม่เท่าเทียม ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอีกรูปแบบ

“เราเคยฝันใหญ่ว่าอินเตอร์เน็ตจะเปลี่ยนแปลงโลก ทุกคนจะเข้าถึงอินเตอร์เน็ต และมีโอกาสใช้ทรัพยากรนี้ เพื่อลดความขัดแย้งหรือความเหลื่อมล้ำ แต่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเราอกหักเยอะมาก สิ่งที่เราเห็นวันนี้คือเราเป็นเพื่อนกันน้อยลง และบางทีอาจสร้างศัตรูมากขึ้น”ชลนภาเอ่ย

ด้าน กำราบ พานทอง จากเครือข่ายเกษตรกรชาวสวนยางพัฒนา ตัวแทนของคนตัวเล็กในสังคมที่โดนผลกระทบของความเหลื่อมล้ำส่งเสียงสะท้อนยอมรับว่า พวกเขาคือประชากรกลุ่ม “ด้อยโอกาส” ในโลกดิจิทัลตัวจริง

กำราบยังทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง จากพี่น้องชาวเกษตรกรบอกเล่าถึงสิ่งที่พวกเขาต้องเผชิญว่า ปัญหาสำคัญที่สุดในวันนี้ คือการเสียเปรียบ  ที่ผ่านมาชาวบ้านเสียเปรียบเรื่องราคาผลผลิตมาตลอด จากการที่พ่อค้าคนกลางร่วมมือกันสร้างอำนาจต่อรองกำหนดราคาสินค้าเอง  แต่เกษตรกรที่เข้าไม่ถึงดิจิทัลจึงไม่มีโอกาสที่จะได้รับข้อมูลหรือรู้เท่าทัน สุดท้ายจึงต้องเสียเปรียบโดยการขายผลผลิตในราคาต่ำหรือขาดทุน ไม่นับรวมปัญหาความเสี่ยงในเรื่องความปลอดภัยการใช้งานอินเตอร์เน็ต หรือเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องภัยพิบัติที่จะช่วยให้รับมือกับสถานการณ์ล่วงหน้าได้

“หากเรามีเทคโนโลยีที่ช่วยให้เราเรียนรู้ราคาล่วงหน้าได้ จะทำให้เรารู้ทันและสามารถกำหนดราคาขายได้เองแต่ ทุกวันนี้ เราเข้าไม่ถึงตรงนั้น แถมต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีการสื่อสาร ซึ่งเป็นต้นทุนสูง ทั้งที่รายได้เขาไม่กี่บาท”

“ดิจิทัล” แท้จริง เหลื่อมล้ำหรือสร้างโอกาส?

Sharing Economy ที่ไม่มีเรื่อง “Share” อยู่จริง

อีกมุมมองของความเหลื่อมล้ำจากเทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงซับซ้อนมากขึ้น จากการถ่ายทอดโดย อรรคณัฐ วันทนะสมบัติ นักวิจัยศูนย์แม่โขงศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่หยิบยกจากงานวิจัยเจาะลึกเกี่ยวกับปัญหาเรื่อง Disruptive Technology ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ว่า จากการศึกษาแพลตฟอร์มต่างๆ ที่กำลังเบ่งบานในยุคอุตสาหกรรมดิจิทัล อาจกำลังเป็นบ่อเกิดของความขัดแย้งในสังคมอย่างที่เราคาดไม่ถึง

โดยเขายกตัวอย่างแพลตฟอร์มด้านการขนส่งที่กำลังเป็นที่นิยมในปัจจุบัน จากการลงพื้นที่สืบค้นประเด็นขนส่งสาธารณะในจังหวัดเชียงใหม่ ที่เดิมรับรู้กันว่าผู้ใช้มีทางเลือกไม่มากนัก ดังนั้นการมีแพลตฟอร์มจึงทำได้เป็นตอบรับในกลุ่มผู้ใช้บริการ แต่สิ่งที่ตามมาคือความขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการเดิมกับแพลตฟอร์มที่เกิดขึ้นใหม่

อรรคณัฐเสนอมุมมองชวนคิดว่า สำหรับผู้ใช้บริการอาจมองว่าแพล็ตฟอร์มมีประโยชน์ ในมุมผู้บริโภคที่ไม่พึงพอใจต่อบริการที่เคยได้รับจากผู้ให้บริการกลุ่มเดิม  แต่เราอาจลืมนึกถึงมิติของผู้ให้บริการว่า กว่าที่พวกเขาจะมาทำอาชีพนี้ ก็ต้องมีการลงทุนในหลายเรื่องเพื่อให้ถูกกฎหมาย ดังนั้น จึงไม่แปลกหากพวกเขาจะรู้สึกสูญเสียความมั่นคงทางอาชีพ เพราะอาจส่งผลกระทบเลยไปถึงปัญหาเศรษฐกิจภายในครอบครัวผู้ให้บริการเหล่านี้ด้วย

“ขณะเดียวกัน คนที่เข้าไปทำงานบนแพล็ตฟอร์ม แม้จะเป็นโอกาสใหม่ที่ดีจริง แต่เรายังได้พบในเรื่องความไม่เป็นธรรมจากการเอารัดเอาเปรียบโดยแพล็ตฟอร์ม ผ่านการสร้างเงื่อนไขข้อจำกัดบางอย่างที่ต้องให้ต้องปฎิบัติตาม”

อรรคณัฐยอมรับว่านี่คือเหตุผลที่เขาไม่อาจยอมรับว่าคือแพล็ตฟอร์มเหล่านี้ ควรจะเรียกว่า sharing economy

“เพราะมันไม่มีเซนส์ของ “การแชร์” แน่นอนในมุมมองเจ้าของแพลตฟอร์มมันคือการ Sharing  เพราะเขาคือผู้ที่มาแชร์ผลประโยชน์จากทรัพยากรที่เป็นของคนอื่น แต่เขาลงทุนและได้ส่วนแบ่ง มันจึงน่าจะเป็นการเช่ามากกว่าการแชร์”

เขาชี้แจงต่อว่าแม้แพล็ตฟอร์มสร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค รวมถึงคนที่มาของแชร์ธุรกิจกับแพลตฟอร์มระยะแรก แต่ขณะเดียวกัน เราอาจเผลอลืมว่ากำลังปล่อยให้แพล็ตฟอร์มเหล่านี้มีอำนาจเหนือเรามากเกินไปหรือไม่ เพราะสุดท้ายเราอาจไม่สามารถมีอำนาจต่อรองอะไรได้เลยกับแพลตฟอร์มเหล่านี้

ด้าน ศ.ดร.กาญจนา กาญจนสุต จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย ให้ความเห็นในมุมผู้เชี่ยวชาญและศึกษาด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตตั้งแต่ยุคบุกเบิก สะท้อนว่าปัจจุบันการแก้ปัญหาเหลื่อมล้ำโดยผู้พัฒนาเทคโนโลยีหรือผู้ให้บริการระดับโลกนั้นให้ความสนใจเฉพาะในมิติของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้าน universal โดยการพยายามคิดพัฒนาแอปพลิเคชันหรือเครื่องมือสำหรับผู้พิการนำมาใส่เป็นฟีเจอร์ แต่สำหรับความเหลื่อมล้ำที่เป็นปัญหาระดับท้องถิ่น เช่น อินเตอร์เน็ตกำลังเข้ามา Disrupt ภาษาท้องถิ่นกลับไม่ได้รับความสนใจจากบริษัทระดับโลก ทั้งที่ความจริงแล้วนี่คือปัญหาความเหลื่อมล้ำรูปแบบหนึ่ง

“ทางออกคือเราต้องช่วยกันแก้กันเอง” ศ.ดร.กาญจนากล่าว “เมื่อก่อนทุกคนเชื่อว่าการมีอินเตอร์เน็ตเข้ามาทำให้รายเล็กรายน้อยลืมตาอ้าปากได้ แต่ปัจจุบันกลับไปเป็นแบบเก่าอีกแล้ว คือการที่รายใหญ่หรือทุนใหญ่ในวงการก็เบียดรายเล็กออกไปนอกตลาดอีกครั้ง ที่สำคัญผู้ใช้อย่างเราๆ ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการนำเข้าเนื้อหาจากแพล็ตฟอร์มเหล่านี้ ทั้งที่เราสร้างเนื้อหาให้”

 

Tellscore โอกาสของคนตัวเล็ก ในโลกดิจิทัล

แม้ในโลกดิจิทัลจะยังคงมีความเหลื่อมล้ำหลากหลายมิติ ในอีกมุมมองบวกๆ ของโลกอินเตอร์เน็ต หากนำมาใช้ในทางที่ดี ก็สามารถช่วยสร้างสรรค์สังคมแห่งการสร้างโอกาสให้กับคนที่อยู่ชายขอบได้

ในฐานะผู้ประกอบการที่อยู่แวดวงเทคโนโลยีดิจิทัลเกือบ 100% สุวิตา จรัญวงศ์ แห่ง tellscore สตาร์ทอัพเชื้อสายไทยที่กำลังมาแรง ช่วยสะท้อนอีกมุมมองที่เติมความหวังมากขึ้น

“เราเชื่อว่าบริษัทสตาร์ทอัพช่วยลดช่องว่างเรื่องความเหลื่อมล้ำได้ โดยเฉพาะในสังคมที่ความเจริญยังเข้าไม่ถึง”

เทลสกอร์เป็นตัวอย่างของกลุ่มคนที่เริ่มผลักดัน “คนตัวเล็ก” ให้มีโอกาสใช้ประโยชน์จากอินเตอร์เน็ตในการสร้างรายได้ และพยายามหาที่ยืนในโลกดิจิทัล โดยเริ่มธุรกิจเมื่อ 3 ปีก่อน เดิมบริษัทเคยทำธุรกิจการตลาดออนไลน์ แต่จากการมองเห็น pain point ของผู้ประกอบการไทยที่อยากทำการตลาดในธุรกิจออนไลน์ แล้วต้องจ่ายให้กับแพลตฟอร์มเหล่านั้น แต่กลับประสบปัญหาไม่สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงจุด

เทลสกอร์จึงเสนอทางเลือกที่คุ้มค่ากว่าให้ลูกค้า โดยสร้างกลยุทธ์การสื่อสารผ่านอินฟลูเอ็นเซอร์ (Influencer) ที่สามารถสื่อสารและนำเสนอสินค้าได้ไปถึงผู้บริโภคได้ตรงจุดมากกว่า

“แต่เรามาคิดว่า ทำไมต้องจ้างแต่เฉพาะกับอินฟลูเอ็นเซอร์ที่เป็นคนที่มีชื่อเสียงอยู่แล้วเท่านั้น  ทำไมไม่เปิดโอกาสให้คนที่มีโอกาสน้อยกว่าเข้ามามีส่วนร่วมในสังคม โดยมาทำงานให้เรา ยมอรับว่าตอนแรกลูกค้าก็มองว่าคนเหล่านี้จะช่วยขายได้หรอ เพราะมีคนตามแค่หลักพัน แถมไม่ใช่คนดัง เราต้องอธิบายลูกค้าว่า มันเป็นไปได้ ถ้าหากคุณจ้างทีเดียวเป็นพันคน”

โดยไมโครอินฟลูเอ็นเซอร์และทีมไมโครบล็อกเกอร์ของเทลสกอร์เป็นกลุ่มคนหลากหลาย ไม่แบ่งแยก ตั้งแต่คนทั่วไปที่อยากมีรายได้ จนถึงผู้พิการ ซึ่งความสำเร็จในด้านคุณภาพชีวิตสามารถทำให้สมาชิกแต่ละคนสามารถมีรายได้จากงานนี้เฉลี่ย 4,000-5,000 บาทต่อเดือน โดยทุกสองเดือนบริษัทฯ ยังจัดอบรมเติมวิชาการทำคอนเทนท์ และดาต้าให้สมาชิก เพราะต้องการให้พวกเขาสามารถต่อยอดความรู้และเท่าทันในโลกการตลาดออนไลน์ เพื่อเพิ่มโอกาสให้ตัวเอง