สุข แท้ จริง นิยามการทำงานเพื่อการท่องเที่ยวของ “อพท.”

สุข แท้ จริง นิยามการทำงานเพื่อการท่องเที่ยวของ “อพท.”

“สุขแท้จริง” คำนี้ กับความรู้สึกของใครหลายคนอาจแตกต่างกันออกไป

แต่สำหรับ ทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท.  ได้ใช้คำคำนี้เป็นกรอบแนวทางการทำงานและเป็นเป้าหมายของการดำเนินงานขององค์กร “อพท.”

157241117052

“เราต้องพัฒนาการท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษให้ไปสู่ความยั่งยืน ทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม ให้สมดุลกัน ผลที่ได้รับคือความสุขที่เกิดกับทั้งนักท่องเที่ยว ผู้มาเยือนและผู้ให้บริการ ดังนั้น อพท. จึงมีหน้าที่สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้น ให้ชุมชนเห็นคุณค่าของตัวเอง ของวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรม และความสุขที่เกิดขึ้นต้องสมดุลทั้งผู้ให้และผู้รับ” ทวีพงษ์ กล่าว

แนวทางการทำงานด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชนกับการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสองเรื่องนี้มีความเชื่อมโยงกัน เพราะในอดีตหากเราพูดถึงการท่องเที่ยวชุมชน จะพบว่าส่วนใหญ่ชุมชนจะเป็นผู้ถูกเที่ยว แต่หลังจาก อพท. ได้เริ่มพัฒนาเรื่องการท่องเที่ยวโดยชุมชนและได้เข้าไปพูดคุย ตลอดจนศึกษาข้อมูลกับชุมชน จึงเห็นศักยภาพและอัตลักษณ์ที่เป็นจุดเด่นที่จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งหรือเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวได้ โดยชุมชนจะลุกขึ้นมาทำท่องเที่ยวหรือเป็นผู้บริหารจัดการเอง

“จุดเริ่มของการทำงานภายหลังพูดคุยกับชุมชน คือการก่อตั้งชมรมส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยชุมชน... ตามด้วยชื่อชุมชนนั้นๆ เพื่อให้เกิดการรวมกลุ่มของคนในชุมชน นำความสามารถและความชำนาญของแต่ละคน แต่ละปราชญ์ชาวบ้านมาบริหารจัดการ แบ่งสันปันส่วนทั้งเรื่องของภารกิจหน้าที่ และรายได้ ดังนั้นจากชุมชนที่เป็นผู้ถูกเที่ยวจึงกลายมาเป็นชุมชนลุกขึ้นมาทำการท่องเที่ยว”

สุข แท้ จริง นิยามการทำงานเพื่อการท่องเที่ยวของ “อพท.”

กระบวนการทำงาน อพท. ใช้เกณฑ์การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก หรือ GSTC  เป็นเครื่องมือหลัก ซึ่งมีทั้งหมด 4 ด้าน 41 ข้อ และ 105 ตัวชี้วัด โดยดูใน 4 มิติการทำงานคือ มิติเรื่องกลไกการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว มิติเรื่องเศรษฐกิจในพื้นที่ที่ อพท. เข้าไปพัฒนาว่าชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นเพียงใด มิติเรื่องการรักษาทุนทางวัฒนธรรมในพื้นที่ และมิติสุดท้ายคือสิ่งแวดล้อม

จาก GSTC อพท. ได้พัฒนาเครื่องมือให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ภายใต้ชื่อในการทำงานด้านการพัฒนาชุมชนว่า ยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวโดยชุมชนอย่างยั่งยืน หรือ CBT Thailand ซึ่งมีเกณฑ์การประเมินชุมชนทั้งหมด 5 ด้าน รวม 100 ข้อ ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี โดย 5 ด้านประกอบด้วย 1.การเสริมสร้างคุณภาพ ทักษะ และความสามารถของทรัพยากรมนุษย์ในชุมชน  2.การส่งเสริมการเพิ่มคุณค่าและมูลค่าของต้นทุนทรัพยากรชุมชนสู่การเป็นสินค้าและบริการที่มีอัตลักษณ์  3.การพัฒนาการบริหารจัดการการตลาดการท่องเที่ยวโดยชุมชน  มุ่งสร้างสมดุลของความสุขระหว่างชุมชนและนักท่องเที่ยว  4.การพัฒนากลไกการขับเคลื่อนระบบการบริหารจัดการและการทำงานเชื่อมโยงเครือข่ายประชารัฐ และ5.การพัฒนาดัชนีชี้วัดความสุขระหว่างชุมชนและนักท่องเที่ยว ตลอดจนการนำไปสู่การเป็นแหล่งเรียนรู้ในภูมิภาคอาเซียน

กลุ่มเป้าหมายของการพัฒนาคือชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่พิเศษ เมื่อชุมชนเห็นความสำคัญของวิถีชีวิต วัฒนธรรมประเพณี และสิ่งแวดล้อมของตัวเอง ก็จะเกิดการรักษาสืบทอด เกิดเป็นความยั่งยืน และความยั่งยืนในนิยามของ อพท. จะต้องสมดุลทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ผลจากที่ อพท. เริ่มนำเกณฑ์ GSTC มาปรับใช้กับการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นเกณฑ์ CBT Thailand และนำไปประเมินชุมชน ทำให้เราเห็นจุดแข็งและจุดอ่อนของชุมชน รู้ว่าชุมชนยังขาดอะไร อพท. ก็จะนำองค์ความรู้ที่มีเข้าไปเสริมให้ โดยกระบวนการทั้งหมดต้องมาจากความเต็มใจของคนในชุมชนที่ยินดีจะพัฒนา เพราะท้ายที่สุดแล้วเมื่อกระบวนการพัฒนาจาก อพท. สิ้นสุดลง ชุมชนจะยังคงต้องเดินหน้าต่อไป

157241121237

“การท่องเที่ยวโดยชุมชน เราไม่ได้มีเป้าหมายหลักที่เงินหรือรายได้ อพท. ย้ำกับชุมชนเสมอว่า ท่องเที่ยวจะเข้ามาเป็นรายได้เสริม เพราะชุมชนไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เพียงแค่รู้จักบริหารจัดการทั้งเรื่องคน เรื่องเวลา เรื่องรายได้  ชุมชนเคยมีรายได้ประจำจากการทำเกษตร ทำปศุสัตว์ ก็ให้ทำอาชีพนั้นต่อไป แล้วแบ่งเวลาที่เหลือมาทำเรื่องท่องเที่ยว แต่หากในอนาคตอาชีพเสริมจากการทำท่องเที่ยวจะสร้างเงินให้กับชุมชนได้เป็นกอบเป็นกำก็สุดแล้วแต่ เพราะ อพท. ไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะต้องมีรายได้เท่านั้นเท่านี้”

หน้าที่หลักของ อพท. คือชี้ให้ชุมชนเห็นถึงเรื่องคุณค่าทางวัฒนธรรม เมื่อท้องถิ่นเห็นว่าสิ่งรอบตัวสามารถเพิ่มมูลค่าได้ ก็จะเกิดการสืบทอด อนุรักษ์วัฒนธรรมของตัวเองไว้ โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งปัจจุบันชุมชนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น อพท. จึงผลักดันให้ชุมชนและผู้ประกอบการท้องถิ่น สามารถนำเสนอขายสินค้าการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนั้น อพท. ยังอยู่ระหว่างการนำชุมชนและพื้นที่ที่ อพท. ได้พัฒนาขึ้นมาก้าวเข้าสู่เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ หรือ Creative City  ตามกรอบของยูเนสโก้ (UNESCO) โดยใช้บทบาทของการเป็นพี่เลี้ยงผลักดันพื้นที่พิเศษ นำเสนอเข้าสู่เวทีเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก เพื่อจะได้เข้าไปอยู่ในเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์กับเมืองอื่นๆ ทั่วโลก โดยปี 2562 อพท. ส่งพื้นที่พิเศษอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชร  เข้าร่วมชิงเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ประเภทศิลปหัตถกรรมพื้นบ้าน ซึ่งมีตั้งแต่ภูมิปัญญาการทอผ้า การทำทองรูปพรรณ  และงานปั้นที่โดดเด่น

“เรามองว่าทั้งเรื่องการพัฒนาเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เป็นหัวใจหลักของการพัฒนาชุมชน เพราะหากผู้คนในชุมชนไม่เห็นคุณค่าก็จะไม่ลุกขึ้นมารักษาสืบทอด หรือต่อยอดใดๆ  ความยั่งยืนก็จะไม่เกิด”

157241123163

ดังนั้นความหมายของคำว่า สุข แท้ จริง ในนิยามของผม และของคน อพท.  คือความสุขที่เกิดขึ้นทั้งกับนักท่องเที่ยว ผู้มาเยื่ยมเยือนและผู้ให้บริการ เมื่อสองฝ่ายมีความสมดุล จะเกิดเป็นความยั่งยืน อย่าคิดแค่เงิน รายได้ หรือจำนวน โดยไม่สนใจสภาพแวดล้อมว่าจะเป็นอย่างไร ฉะนั้น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน คือการสร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นอย่างสมดุลแห่งความสุขทั้งผู้ให้และผู้รับ #ท่องเที่ยว #อพท #เที่ยว #ชุมชน #ยั่งยืน