โครงสร้างเหล็กปะการังเทียม…บ้านใหม่สัตว์ทะเล ณ เกาะพะงัน

โครงสร้างเหล็กปะการังเทียม…บ้านใหม่สัตว์ทะเล ณ เกาะพะงัน

 

ภายในระยะเวลา 3-6 เดือนหลังจากที่มีการวาง โครงสร้างเหล็กที่ทำจากคาร์บอนสตีล (carbon steel)  วัสดุเดียวกันกับขาแท่นปิโตรเลียม หน้าอ่าวโฉลกหลำ เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี

ไพทูล แพนชัยภูมิ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรทางทะเล จากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ซึ่งทำการติดตามประเมินผลด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อมของโครงการนี้ เริ่มสังเกตเห็นสิ่งมีชีวิตเล็กๆ เข้ามาอาศัยในบริเวณโครงสร้างเหล็กดังกล่าว

และในเวลา 3 ปี เขาได้เห็นระบบนิเวศถือกำเนิดขึ้น เป็นพื้นฐานของระบบนิเวศของสัตว์ประเภทเกาะติดและสัตว์ประมง รวมทั้งปลาเศรษฐกิจกว่า 19 ชนิด จากปลาทั้งสิ้นที่พบ 24 ชนิดในบริเวณโครงสร้างเหล็กเหล่านั้น เกิดเป็นปะการังเทียมที่ทำหน้าที่เป็นอีกหนึ่งแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำและแหล่งประมงแห่งใหม่ของเกาะพะงัน

นั่นเป็นช่วงระยะเวลาของการศึกษาติดตามประเมินผลด้านนิเวศวิทยาและสิ่งแวดล้อม บริเวณปะการังเทียมโครงสร้างเหล็กภายใต้ความร่วมมือของ ทช. และสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ซึ่งระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของ “บ้านปลา” แห่งนี้ เป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ถึงความเป็นไปได้ในการนำขาแท่นปิโตรเลียมจริงมาจัดทำเป็นปะการังเทียมในอนาคต


4 ทศวรรษขาแท่นฯ สู่ความหวังบ้านใหม่สัตว์ทะเล

ย้อนกลับไปประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยได้เริ่มศึกษาความเป็นไปได้ในการแปลงขาแท่นผลิตปิโตรเลียมเป็นปะการังเทียม เนื่องจากในอนาคตอุตสาหกรรมสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงของการเริ่มรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่ใช้ในกิจการปิโตรเลียมบางส่วนที่ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้แล้ว หลังจากมีการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยมาแล้วเกือบ 4 ทศวรรษ และสิ่งติดตั้งที่มีความเป็นไปได้ในการนำมาทำเป็นปะการังเทียมในปัจจุบัน คือ ส่วนขาของแท่นผลิตปิโตรเลียม

ในช่วง 10 - 20 ปีที่ผ่านมา ความท้าทายในกิจการปิโตรเลียมอย่างหนึ่งคือการทำความเข้าใจกับชุมชนโดยรอบ ให้เห็นว่ากิจการปิโตรเลียมมีมาตรฐานสูง ไม่ได้ทำลายสิ่งแวดล้อมดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม กล่าว

สถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยจึงได้ริเริ่มโครงการศึกษาทดลองจัดสร้างปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็ก โดยร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบธุรกิจด้านสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศไทย 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, บริษัท มิตซุยออยล์เอ็กซ์โปลเรชั่น จำกัด, บริษัท เอ็กซอนโมบิล เอ็กซ์โพลเรชั่น แอนด์ โพรดักชั่น โคราช อิงค์ จำกัด, บริษัท ซีอีซี อินเตอร์เนชั่นแนล ลิมิเต็ด (สาขาประเทศไทย) หรือ โคสตัล เอนเนอยี่ จำกัด, บริษัท ซาลามานเดอร์ เอนเนอร์ยี่ (บัวหลวง) ลิมิเต็ด จำกัด,บริษัท เฮสส์ (ไทยแลนด์) จำกัด และ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมสนับสนุนโครงการ

โดยโครงการนี้ได้นำโครงสร้างเหล็กทำจาก carbon steel เช่นเดียวกับขาแท่นผลิตปิโตรเลียม มีขนาด 12x12 เมตร สูง 8 เมตร จำนวน 4 แท่น น้ำหนักประมาณ 50-75 ตัน มาจัดวาง 2 จุด (จุดละ 2 แท่น) บริเวณอ่าวโฉลกหลำ โดยมีระยะทางในแนวตั้งฉากห่างจากชายหาดประมาณ 1 กิโลเมตร ที่ระดับความลึก 18-20 เมตร


เกาะพะงัน
บ้านปลา

คณะทำงานเลือกพื้นที่เกาะพะงัน ส่วนหนึ่งด้วยเหตุผลความเหมาะสมของระดับความลึกของน้ำ

จากความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กำลังเกิดขึ้น ปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กดังกล่าว ถูกคาดหวังว่าจะช่วยลดแรงกดดันในแหล่งดำน้ำธรรมชาติรอบบริเวณ และพื้นที่ใกล้เคียง รวมทั้งหินใบที่มีชื่อของเกาะพะงัน ไปจนถึงเกาะเต่าที่ห่างออกไป ซึ่งเป็นแหล่งดำน้ำระดับโลกและดึงดูดนักดำน้ำทั่วโลกให้เข้ามาสัมผัส จนทำให้แหล่งปะการังในบริเวณเกิดความเสื่อมโทรมลง

นักดำน้ำและเจ้าของธุรกิจดำน้ำในพื้นที่ ต่างกล่าวถึงประโยชน์ที่กำลังได้รับจากแหล่งปะการังที่ทำจากโครงสร้างเหล็ก โดยกล่าวว่าพวกเขากำลังมีแหล่งดำน้ำใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในพื้นที่ที่จะช่วยลดแรงกดดันของแหล่งดำน้ำหินใบ ซึ่งในบางช่วงเวลาในช่วงไฮซีซั่น มีนักดำน้ำมากถึงวันละ 500-1,000 คน

จันทร์โชติ พิริยะสถิตย์ เจ้าของร้านดำน้ำแรกๆ ของเกาะพะงัน โลตัสไดว์วิ่ง กล่าวว่า หากย้อนกลับไปเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว จะพบเห็นความหนาแน่นของกิจกรรมดำน้ำที่แหล่งดำน้ำหินใบจนเป็นเรื่องปกติ โดยจะมีเรือจำนวนมากรอเข้าคิวต่อแถวกัน เพื่อรับส่งนักดำน้ำที่หินใบ

ด้วยเหตุดังกล่าว นักดำน้ำและเจ้าของธุรกิจดำน้ำจึงเริ่มคิดถึงการใช้ประโยชน์ของแหล่งดำน้ำที่มีอยู่ให้น้อยลง เพราะไม่ต้องการเห็นมันเสื่อมโทรมลง

พวกเราบนเกาะก็คุยกัน ทำอย่างไรให้มีแหล่งดำน้ำใหม่ๆ และใช้ประโยชน์ร่วมกับชาวประมงได้ด้วย เลยเกิดโครงการนี้ขึ้นมา เมื่อได้พบกับทางผู้บริหารของสถาบันฯ ในฐานะนักดำน้ำ เราเห็นความสำคัญว่า ถ้ามีการสร้างปะการังเทียมขนาดใหญ่ๆ ก็จะเป็นการเพิ่มแหล่งดำน้ำ เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ และเป็นจุดเริ่มของประเทศไทยที่เป็นการสร้างแหล่งดำน้ำใหม่ๆ แบบนี้ ปีที่แล้วเราเห็นปลาวาฬนำร่อง หรือแม้แต่ฉลามวาฬเข้ามาในบริเวณด้วย ชาวประมงก็เจอ ก็เป็นนิมิตหมายที่ดีนายจันทร์โชติกล่าว

นายพงศักดิ์ หาญกล้า ผู้ใหญ่บ้านโฉลกหลำ ม.7 ต.เกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กดังกล่าว ได้กลายเป็นที่อยู่และบ้านที่ปลอดภัยของสัตว์น้ำขนาดเล็ก ดึงดูดให้สัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นๆ เข้ามาตามห่วงโซ่อาหาร ปริมาณสัตว์น้ำในพื้นที่เพิ่มขึ้น

ปะการังเทียมยังเป็นแนวป้องกันการลักลอบทำการประมงผิดกฎหมายด้วยเครื่องมือทำลายล้าง อวนลาก อวนรุน ในระบบนิเวศชายฝั่งทะเล นายพงศักดิ์กล่าว

ถอดบทเรียนสู่อนาคต

ดร.คุรุจิตกล่าวทิ้งท้ายถึงความเป็นไปได้ที่จะนำขาแท่นปิโตรเลียมที่อาจถูกปลดระวางในอนาคตอันใกล้ไปทำปะการังเทียม หลังจากมีการทดลองให้เห็นเป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ปะการังเทียมจากโครงสร้างเหล็กจากวัสดุเดียวกันกับขาแท่นปิโตรเลียมไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“…ทางสถาบันฯ เห็นว่าโดยหลักการแล้ว ขาแท่นน่าจะมีผลดีมากกว่าผลเสีย แต่ก็แน่นอน เราก็ทดลองจากของเล็กๆ ก่อน ถ้ามันได้ผลแล้วค่อยเอาของขนาดใหญ่ไปวางดร.คุรุจิตกล่าว

ในต่างประเทศ ดร.คุรุจิตกล่าวเพิ่มเติมว่า มีการนำขาแท่นปิโตรเลียมไปวางเป็นปะการังเทียมเช่นกัน อาทิ ยุโรป และสหรัฐ “มันจะกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ในเรื่องของ artificial reef ขนาดใหญ่ ว่าจะมีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและทรัพยากรทางทะเลอย่างไรได้บ้าง ถ้ามันกลายเป็นที่ที่อนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำได้ มันก็เป็นสิ่งที่ดีดร.คุรุจิตกล่าว