"TAVI" ทางเลือกใหม่รักษาลิ้นหัวใจเสื่อม

"TAVI" ทางเลือกใหม่รักษาลิ้นหัวใจเสื่อม

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงวัย คือ การมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปี คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า10% ของประชากรทั้งหมด ส่งผลให้ 'โรคลิ้นหัวใจเสื่อม' ในกลุ่มผู้สูงอายุพบเห็นได้มากขึ้น จากเดิมที่พบโรคลิ้นหัวใจรูมาติกอันเกิดจากภาวะทุโภชนาการ หรือการเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งมักพบในเด็กและกลุ่มคนที่อยู่ชายขอบของประเทศ แต่ในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯจะพบน้อยลงเรื่อยๆ

\"TAVI\" ทางเลือกใหม่รักษาลิ้นหัวใจเสื่อม

"ตามปกติร่างกายของทุกคนล้วนมีความเสื่อมขึ้นอยู่กับอายุและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่มีอยู่ ทั้งทางพันธุกรรม ระดับไขมัน ความดันโลหิต โรคเบาหวาน การสูบบุหรี่ และพฤติกรรมการรับประทานอาหาร ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตจะเป็นตัวเสริมทำให้โรคที่เกิดจากความเสื่อม อาทิ ลิ้นหัวใจตีบ หัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งบางทีเร็วกว่าวัย แต่ส่วนใหญ่จะตามวัย ปัจจุบันคนอายุยืนขึ้นซึ่งจะทำให้พบโรคที่เกิดจากความเสื่อมมากขึ้นเรื่อยๆ " นพ.ระพินทร์ กุกเรยา อายุรแพทย์หัวใจและมัณฑนากรหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ เกริ่นให้เห็นภาพโรคที่มาพร้อมกับวัยที่เพิ่มขึ้น

โรคลิ้นหัวใจเสื่อม ทำให้ลิ้นหัวใจไม่ยอมเปิด หรือเปิดแล้วไม่ยอมปิดหรือปิดไม่สนิท ซึ่งลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างหลอดเลือดแดงห้องล่างซ้าย จะทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกาย จากเดิมที่เคยบางเฉียบเหมือนพลาสติกใส เปิดปิดรวดเร็ว แต่เมื่ออายุมากขึ้นหลอดเลือดจะแข็งกรอบ ทำให้ลิ้นหัวใจกางไม่ออก ซึ่งทำให้หัวใจต้องบีบตัวมากขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดให้เพียงพอที่จะไปเลี้ยงร่างกาย แต่ยิ่งบีบมากขึ้น กล้ามเนื้อหัวใจก็จะหนาตัวขึ้นและคลายตัวช้าลง เพราะกล้ามเนื้อเกร็งนานเกินไป ยิ่งถ้าผู้ป่วยมีน้ำหนักตัวมาก จะส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก ลุกขึ้นเดินเพียงเล็กน้อยก็เหนื่อยหอบหรือเป็นลม กล้ามเนื้อแขนขาอ่อนแรง ซึ่งอาจทำให้เลือดค้างอยู่ในปอดมากขึ้น  กลายเป็นโรคความดันโลหิตในปอดสูงตามมา

\"TAVI\" ทางเลือกใหม่รักษาลิ้นหัวใจเสื่อม

แนวทางการรักษาเริ่มจากการใช้ยา แต่ช่วยไม่ได้มากเพราะไม่สามารถทำให้ลิ้นหัวใจที่กรอบและแข็งกลับมาพริ้วไหวได้เหมือนเดิม ขั้นตอนการรักษาต่อมาคือการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ  แต่ผู้ป่วยสูงอายุมักเผชิญกับความเสื่อมของอวัยวะส่วนต่างๆตั้งแต่หัวจรดปลายเท้า ประกอบกับมีโรคประจำตัวอื่นๆร่วมด้วย เช่น ถุงลมปอดไม่ดี เบาหวาน ความดัน ฯลฯ ทำให้มีความเสี่ยงในการผ่าตัดสูง แม้แต่การวางยาสลบ แต่ไม่มีทางเลือกอื่นจึงต้องรักษาด้วยการผ่าตัด ที่ผ่านมาการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอกเพื่อเปลี่ยนลิ้นหัวใจถือเป็นแนวทางการรักษาพื้นฐานที่มีมานาน ในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้ การผ่าตัดมีความเสี่ยงมาก ทั้งในระหว่างการผ่าตัดและหลังการผ่าตัด ซึ่งจะฟื้นตัวช้า มีภาวะแทรกซ้อนมากและมีอัตราการเสียชีวิตสูง ในบางกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถรับการผ่าตัดได้ จึงทำได้แค่รักษาแบบประคับประคอง ซื้อเวลาไปเรื่อยๆ ซึ่งผู้ป่วยมักจะเสียชีวิตในเวลาไม่นานนัก

ต่อมาจึงมีการพัฒนาทางเลือกในการรักษาโรคลิ้นหัวใจโดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด ด้วยเทคนิคการใช้สายสวนหรือที่เรียกว่า "TAVI" (Transcatheter Aortic Valve Implantation) ด้วยการนำลิ้นหัวใจใหม่เข้าไปทดแทนลิ้นหัวใจเดิมโดยที่ไม่ได้ตัดลิ้นหัวใจเก่าออก ซึ่งจะเริ่มรักษากับกลุ่มผู้ป่วยที่ ‘ไม่มี’ ทางเลือกก่อน วิธีการคือ ใช้ลิ้นหัวใจเทียมที่ยึดติดอยู่กับขดลวด ม้วนให้เล็กลงเพื่อให้เข้าไปอยู่ในท่อเล็กๆของระบบนำส่ง สอดไปตามหลอดเลือดแดงบริเวณขาหนีบไปถึงยอดของหัวใจห้องล่างซ้าย และเมื่อถึงตำแหน่งของลิ้นหัวใจเอออร์ติกจึงปล่อยให้ลิ้นหัวใจเทียมที่ม้วนอยู่ออกมา จากนั้นลิ้นหัวใจจะกางออกกลายเป็น 'ลิ้นหัวใจใหม่' ซึ่งสามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ตามปกติ  

ข้อดีของการรักษาด้วยวิธีนี้คือ ผู้ป่วยฟื้นตัวจากการผ่าตัดเร็ว ประมาณ 3-4 วันก็สามารถกลับบ้านได้ ในขณะที่ผู้ป่วยที่รักษาโดยการผ่าตัดแบบเปิดหน้าอกต้องพักรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล 7-10 วันหลังจากที่เปลี่ยนลิ้นหัวใจ

สำหรับช่วงเดือนแรก ผู้ป่วยต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด งดการออกกำลังกายหรือทำกิจกรรมที่หักโหม และต้องรับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด 2 ชนิด (ASA และ Plavix) เพื่อป้องกันลิ่มเลือดไปเกาะที่ลิ้นหัวใจที่ใส่ไปใหม่ ต่อมาในระยะ 3-6 เดือน แพทย์จะลดลงมาเหลือเพียง ASA ขนาดเล็กต่อไป การติดตามอาการเป็นระยะๆ เริ่มจาก 1 เดือน  3  เดือน และ 6  เดือน

นพ.ระพินทร์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่า เทคนิคการใช้สายสวน "TAVI" ที่นำลิ้นหัวใจใหม่เข้าไปทดแทนลิ้นหัวใจเดิมโดยที่ไม่ได้ตัดลิ้นหัวใจเก่าออกนั้นได้รับการยอมรับมากขึ้น โดยเริ่มจากกลุ่มผู้ป่วยที่ไม่มีทางเลือกก่อน ซึ่งหลังจากการเก็บข้อมูลระบุว่า ระยะเวลา 2-5 ปี หลังการเปลี่ยนลิ้นหัวใจด้วยเทคนิคนี้ ไม่มีความแตกต่างจากผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปิดหน้าอก แพทย์จึงขยายการรักษามายังกลุ่มผู้ป่วยอายุที่เกิน 75 ปี และมีความเสี่ยงสูง  ล่าสุดได้รับอนุญาตให้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงปานกลางได้ ข้อดีของ TAVI นอกจากที่กล่าวมาแล้ว คือ สามารถทำซ้ำได้ หากลิ้นหัวใจเสื่อม หมดอายุการใช้งาน  นอกจากนี้ยังใช้กับผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจมาแล้ว และลิ้นหัวใจเสื่อม หมดอายุการใช้งานได้อีกด้วย ซึ่งคาดว่าในอนาคตจะสามารถทำได้ในกลุ่มผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงน้อยหรือไม่มีความเสี่ยง จะทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดน้อยลง ฟื้นตัวเร็ว และลดความเสี่ยงในการเสียชีวิตจากการผ่าตัด

ในผู้สูงอายุมากๆ เราอาจจะไม่ได้ทำให้ชีวิตของท่านยืนยาวได้มากนัก แต่ก็สามารถทำให้ชีวิตที่เหลืออยู่มีคุณภาพและมีความสุข สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถเล่นกับลูกหลานได้  ไปทานข้าวนอกบ้านได้ อาการที่ควรสังเกตุ คือ เหนื่อยเร็วกว่าเดิมอย่างรวดเร็ว หัวใจล้มเหลว เกิดน้ำท่วมปอด หรือมักเป็นลมบ่อย และมีอาการเจ็บหน้าอก  ลูกหลานควรรีบพาท่านไปตรวจหาสาเหตุกับพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้การรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้ท่านมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยืนยาวขึ้น