การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 52 วางคอนเซ็ปต์ความร่วมมือ

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 52 วางคอนเซ็ปต์ความร่วมมือ

 

ประเทศไทยในฐานะประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศครั้งที่ 52 ซึ่งมีผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจามากกว่า 30 ประเทศเข้าร่วมโดย พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานในการเปิดงานเมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยวันแรกของการประชุม อาเซียนและจีนประกาศความสำเร็จ ในการพิจารณาร่างเนื้อหาการจัดทำ ประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้อันเป็นฉบับแรก ที่สำเร็จลุล่วงได้ด้วยดี นับเป็นก้าวสำคัญในการจัดทำประมวลการปฏิบัติในทะเลจีนใต้ หรือ code of conduct ให้สมบูรณ์ในสามปี
ตามที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ ทั้งนี้นายอรรถยุทธ์ ศรีสมุทร รองปลัดกระทรวงการต่างประเทศได้ให้ความเห็นว่า ถ้าได้มีการเจรจากันในรอบแรกก็จะได้มีความเข้าใจพื้นฐานกันในเรื่องของหลักการ เป้าหมาย และรายละเอียด นอกจากนั้นคือการยึดมั่นในกฎหมายระหว่างประเทศ ด้านนายหวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศจีนระบุว่า ความสำเร็จนี้สะท้อนให้เห็นว่าทุกประเทศที่เกี่ยวข้องล้วนมีความจริงใจในการเจรจา เพื่อยุติปัญหาในความขัดแย้ง ด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน พร้อมยืนยันจะให้ความสำคัญกับอาเซี่ยนเป็นอันดับต้นต่อไป เพื่อสานต่อความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้น โดยจะเดินหน้าสนับสนุนการจัดตั้งการค้าเขตเสรีและผลักดันความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือ RCEP ให้สำเร็จได้ภายในปีนี้ ข้อตกลง RCEP เป็นประเด็นข้อตกลงที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศเอเชียตะวันออกและอาเซียนบวกสาม ต่างเน้นย้ำว่าจะผลักดันให้สำเร็จได้ตามเป้าหมายสิ้นปีนี้หลังจากมีการแสดงความกังวลเกี่ยวกับนโยบายกีดกันทางการค้า สืบเนื่องมาจากสถานการณ์สงครามทางการค้า ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีนที่ยังคงยืดเยื้อ โดยการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนครั้งที่ 52 นี้ เป็นเวทีที่ไมค์ ปอมเพโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกาเน้นย้ำแสดงถึงความสำคัญของอาเซียนต่อสหรัฐอเมริกา และแสดงความยินดีต่อการออกเอกสารมุมมองของอาเซียนต่อแนวคิดอินโด-แปซิฟิกในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 เมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นความพยายามที่จะถ่วงดุลกับจีนที่รุกคืบส่งเสริมการค้ากับอาเซียนอย่างเต็มกำลัง หลังจากที่อาเซียนขึ้นแท่นเป็นกลุ่ม เป้าหมายที่จีนนำเงินเข้ามาลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับสองเป็นมูลค่าในการลงทุนกว่า 320,000 ล้านบาทเป็นครั้งแรก

ในการเปิดงานการประชุม พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดงานขึ้นกล่าวเปิดการประชุม โดยท่านนายกฯ ได้เน้นย้ำว่าสิบชาติจะต้องร่วมมือกันในทุกมิติ และเน้นย้ำประเด็นสำคัญในการประชุมครั้งนี้ในเรื่องความมั่นคงทางด้านไซเบอร์ และอาชญากรรมข้ามชาติ และนอกจากนี้ก็เตรียมที่จะทำการเจรจาผลักดันทำข้อตกลงเรื่องของหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคหรือ RCEP โดยจะผลักดันให้สำเร็จภายในปีนี้ รวมไปจนถึงปัญหาสำคัญในเรื่องการลี้ภัยของผู้ลี้ภัยในรัฐยะไข่ที่ต้องมีการแก้ไขปัญหาร่วมกัน โดยได้กล่าววว่า ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนอาเซี่ยนจะต้องร่วมมือกันในทุกฝ่ายเพื่อสานต่อเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งสมาคมอาเซี่ยนกว่าห้าทศวรรษที่ผ่านมา ที่จะสร้างภูมิภาคแห่งสันติสุข และความเจริญก้าวหน้าให้แก่ประชาชนอาเซียนทุกคน ตลอดจนวางรากฐานที่มั่นคงแข็งแรง ให้คนรุ่นหน้า ในครึ่งศตวรรษหลังจากนี้ ประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการร่วมมือร่วมใจจากทุกประเทศสมาชิก ทั้งจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ภาคประชาสังคม และที่สำคัญที่สุดเจ้าของประชาคมอาเซี่ยน ก็คือประชาชนทุกคน ทุกช่วงวัย จับมือร่วมแรงร่วมใจกันให้เข้มแข็ง ก้าวไปข้างหน้า เพื่อวางรากฐานให้ประชาคมอาเซี่ยน มุ่งไปสู่ประชาคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และมองไปสู่อนาคตด้วยกัน ไปสู่ความยั่งยืน แห่งอนาคตโดยแท้จริง

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ก็จะมีการประชุมกลุ่มย่อยในด้านต่างๆ เช่นรัฐมนตรีต่างประเทศ รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน และจะมีการนำเอาหัวข้อในการประชุมกลุ่มย่อย มาคุยกันในที่ประชุมหลักของรัฐมนตรีผู้นำสิบชาติ มีหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรงต่างประเทศ หลังจากที่ได้มีการประชุมกลุ่มย่อยแล้วได้ออกมากล่าวแก่นักข่าวและผู้สื่อข่าวว่า หัวข้อหลักที่จะคุยกับสิบชาติอาเซียนคือการที่จะผลักดันให้ประเทศในอาเซียนมีการจัดฟุตบอลโลกนับไปอีก 15 ปีข้างหน้า โดยจะต้องมีการร่วมมือกันในการจัดฟุตบอลโลกให้ได้

การประชุมในครั้งนี้มีกรอบแนวคิดคือ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกลยั่งยืน พร้อมที่จะตั้งประชาคมเติมโต พร้อมที่จะนำผลของการประชุม G20
มาสร้างความร่วมมือ 4 ประเด็นด้วยกันคือ

1) การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีทางการเงินเพื่อเปิดโอกาสให้เข้าถึงเงินทุน

2) การลดช่องว่างการพัฒนาระหว่างเมืองและชนบท โดยจะต้องมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อน

3) การอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแก้ไขปัญหาขยะทางทะเล รวมไปจนถึงการปรับตัว และ

4) ทุนมนุษย์ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด รวมไปถึง การศึกษา การพัฒนาทักษะ และการพัฒนาสาธารณสุข อย่างไรก็ตามประเด็นที่หารือกันมีทั้งประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสนใจ และประเด็นในระดับอาเซียน มีประเด็นที่ทั่วโลกจับตามองจากการประชุมในครั้งนี้ ว่าจะมีการเจรจานอกเหนือจากสี่ประเด็นหลักที่กล่าวมาคือ

  1. ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วทุกภูมิภาคของโลก รวมถึงความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลักที่เป็นสงครามทางการค้าที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน และในการประชุมครั้งนี้ก็มีตัวแทนจากประเทศสหรัฐอเมริกาได้เข้าร่วมประชุมด้วยซึ่งเป็นรัฐมนตรีกระทรวงการค่างประเทศ ไมค์ ปอมเปโอ ส่วนรัฐมนตรีของสาธารณรัฐประชาชนจีนนั้นก็มาเข้าร่วมการประชุมด้วยเช่นเดียวกัน โดยหลายฝ่ายต่างจับตามองกันว่าทั้งสองจะประชุมกันนอกรอบเพื่อตกลงเจรจาให้ปัญหาระหว่างสองประเทศคลี่คลายลง
  2. ปัญหาในคาบสมุทรเกาหลี โดยมีการคาดการกันว่ารัฐมนตรีของสหรัฐอเมริกาจะใช้เวทีนี้เข้าหารือกับเกาหลีเหนือ ซึ่งปรากฏว่า ลี ยอง โฮ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของเกาหลีเหนือไม่มาเข้าร่วมการประชุม อีกปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้ สหรัฐพยายามที่จะเข้ามาการแทรกแซง ดังนั้นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนจึงกลายมาเป็นเวทีการประชุมที่หลายฝ่ายให้ความสนใจจับตามองว่าจะสามารถใช้เวทีแห่งนี้พูดคุยแก้ปัญหากัน
  3. การเตรียมความพร้อมในการเผชิญหน้ากับความท้าทาย โดยเฉพาะเรื่องดิจิทัล การผลักดันการเจรจา ตกลง ทางหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือระดับ RCEP เพื่อขยายการค้าการลงทุนในประเทศอาเซี่ยนและในประเทศคู่เจรจา ซึ่งจะมีการจัดตั้งกลุ่มการค้าที่ใหญ่ที่สุดของโลกที่หลายฝ่ายมองว่า RCEP จะเป็นกันชนหยุดยั้งผลกระทบจากเศรษฐกิจเช่นกรณีพิพาธการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐ
  4. ประเด็นการผลักดันผู้ลี้ภัยรัฐยะไข่ ให้กลับไปอยู่ในประเทศเมียนมา เป็นประเด็นที่ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดในเวทีกลาง เพื่อหาข้อสรุปว่าจะมีการทำประการใดเพื่อให้ความช่วยเหลือแกผู้ลี้ภัย เนื่องจากมีการผลักดันให้อาเซียนเป็นตัวกลางในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง จึงได้มีการหารือกันเพื่อวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว เพื่อขับเคลื่อนและดำเนินการต่อไป

จากการประชุมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาเซียนที่จัดขึ้น ณ ประเทศไทยที่ผ่านมาในครั้งนี้ ผลกระทบที่มีต่อประเทศไทย สามารถสรุปได้เป็นประเด็นดังต่อไปนี้คือ

ประเด็นแรก ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้จัดการประชุมในครั้งนี้ สามารถจัดการประชุมให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีตั้งแต่ต้นจนจบ มีประเทศผู้เข้าร่วมประชุม และประเทศคู่เจรจา กว่าสามสิบประเทศ แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการจัดการประชุมของประเทศไทยในครั้งนี้ ว่ามีการจัดการที่มีประสิทธิภาพ และผลการประชุมออกมาอย่างเป็นที่น่าพึงพอใจ ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเอกสารกว่า 17 ฉบับ และที่จะมีการทบทวนเพิ่มมากยิ่งขึ้นในการประชุมเพิ่มเติมในลำดับต่อไป

ประเด็นที่สอง การประชุมฯ เป็นการลดแรงเสียดทานจากการต่อสู้กันทางการค้า ระหว่างประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา โดยการที่รัฐมนตรีทั้งสองฝ่ายคือ ไมค์ ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ได้มาพบปะพูดคุยกันกับ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสาธารณรัฐประชาชนจีน และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศคนอื่นๆ ในประเทศอาเซียน ซึ่งหลายฝ่ายมีความกังวลในผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการต่อสู้ทางการค้า ระหว่างประเทศสหรัฐอเมริกากับประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน

ประเด็นที่สาม เกิดข้อตกลงร่วมกันระหว่างประเทศ ในการส่งผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการค้าและอุตสาหกรรม ระหว่างประเทศคู่ค้าในกลุ่มประเทศอาเซียน และประเทศคู่เจรจาการค้า ซึ่งประเทศไทยก็ได้รับผลประโยชน์จากการเจรจาในครั้งนี้ด้วย

ประเด็นที่สี่ เกิดการเชื่อมโยงระหว่างกันในกลุ่มประเทศในอาเซียนมากยิ่งขึ้น เนื่องจากผลลัพธ์ที่ดีในการประชุมรัฐมนตรีการต่างประเทศอาเซียนในครั้งนี้ ทำให้สัมพันธภาพที่ดีของประเทศสมาชิกแน่นแฟ้นขึ้น และเกิดความเชื่อมั่นระหว่างกันมากขึ้น

ประเด็นที่ห้า ประเทศไทยได้มีการเจรจานอกรอบ กับหลายประเทศเช่นประเทศจีน ในการเจรจาเรื่องโครงการรถไฟ ที่ได้มีการตกลงทำร่วมกันในการพัฒนาโครงการรถไฟ ไทย - จีน การเชื่อมโยงเขต อ่าวกวางตุ้ง - ฮ่องกง - มาเก๊า กับโครงการ ECC นอกจากนี้ จีนยังยินดีร่วมพัฒนาด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เช่นปัญญาประดิษฐ์ (AI) และเทคโนโลยี 5G ฯลฯ เพื่อ
ส่งเสริมความเจริญของเส้นทางสายไหมด้วย

ประเด็นที่หก มีประเด็นในการพัฒนาและการบริหารจัดการน้ำ เป็นอีกประเด็นที่น่าติดตาม หลังจากปริมาณน้ำโขงของปีนี้ลดลงในปริมาณที่มากกว่าในทุกๆปีที่ผ่านมา มีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ประกอบไปด้วยรัฐมนตรีจากประเทศไทย ลาว กัมพูชา เมียนมา และ เวียดนาม และรัฐมนตรีจากประเทศคู่เจรจา ซึ่งมีการพูดคุยติดตามและมีการหาแนวทางร่วมแก้ไขปัญหาต่างๆ

ผลที่เกิดขึ้นโดยรวมจากการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในครั้งนี้ มีทิศทางไปในทางบวก ได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นเอกสารกว่า 17 ฉบับ

นอกเหนือจากนั้น ประเทศไทยยังสามารถดึงเอาข้อตกลงเก่าๆ ที่เคยมีการตกลงค้างไว้แต่ยังไม่เป็นผล มาทำการรื้อฟื้นและทำให้เกิดเป็นรูปธรรมขึ้นในการประชุมครั้งนี้ด้วย ถือเป็นการแสดงความสามารถในฐานะเป็นผู้จัดการประชุม และเป็นประธานในการจัดการประชุมครั้งนี้อย่างดีเยี่ยม เนื่องจากการจัดการประชุมในหลายครั้งที่ผ่านมาในประเทศต่างๆ มีทั้งที่สำเร็จผล และไม่สำเร็จผลแตกต่างกันออกไป ในบางประชุมที่จัดขึ้นในบางประเทศ ผู้เข้าร่วมประชุมมาไม่ครบองค์ประชุม ทำให้ขาดมติองค์ประชุมรวมไป และบางการประชุม ผู้เข้าร่วมการประชุมมาครบ แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับไม่ได้อะไรที่เป็นผลลัพธ์ของการประชุมเลยก็มี ดังนั้นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศในครั้งนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีองค์ประชุมครบถ้วน และได้ผลลัพธ์ที่ออกมาจากการประชุมที่ชัดเจน และ ยังได้นำเอาข้อตกลงเก่าๆที่ได้มีการตกลงค้างไว้มาทบทวนให้เกิดผลสัมฤทธิ์อีกด้วย

โดย.... 

ดร. ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล
นักวิจัยอาวุโส วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์