โครงการ “คืนดวงใจให้แม่ return heart to home” เปลี่ยนฉลากน้ำดื่ม ช่วยตามหาเด็กหาย รับ “วันแม่”

โครงการ “คืนดวงใจให้แม่ return heart to home”  เปลี่ยนฉลากน้ำดื่ม ช่วยตามหาเด็กหาย รับ “วันแม่”

 

สถิติข้อมูลมูลนิธิกระจกเงา พบว่า ใน 1 วัน จะมีเด็กที่หายออกจากอ้อมอกคนในครอบครัวอย่างน้อย 1 คน กลุ่มที่น่าเป็นห่วงมากที่สุด คือ อายุต่ำกว่า 12 ปี แม้จะมีเพียง 5% ของเรื่องที่รับแจ้งทั้งหมด แต่เด็กกลุ่มนี้มีแนวโน้มถูกนำไปหาประโยชน์ กระทำทางเพศ หรือถึงขั้นเสียชีวิต และยังพบอีกว่า เด็กอายุระหว่าง 0 – 18 ปี ที่หายไป ปี 2559 จำนวน 418 คน พบแล้ว 387 คน (92.58 %) ปี 2560 จำนวน 403 คน พบแล้ว 365 คน (90%) ปี 2561 จำนวน 309 คน พบแล้ว 265 คน (85.76%) ปี 2562 (สถิติ เดือน กรกฎาคม) จำนวน 153 คน พบแล้ว 124 คน (81.06%)

โครงการ “คืนดวงใจให้แม่ return heart to home”  เปลี่ยนฉลากน้ำดื่ม ช่วยตามหาเด็กหาย รับ “วันแม่”

ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าว โครงการ “คืนดวงใจให้แม่ return heart to home” ว่าปัญหาเด็กหายเป็นอีกปัญหาทางสังคมที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด จากประสบการณ์ที่เคยพาลูกไปห้างและหาลูกไม่เจอแค่ 5 นาที ยังรู้สึกว่า “หัวใจเราหายไป” ทุกครั้งที่ได้ยินเรื่องนี้ เราถามตัวเองตลอดว่าจะช่วยอะไรได้บ้าง

โครงการ “คืนดวงใจให้แม่ return heart to home”  เปลี่ยนฉลากน้ำดื่ม ช่วยตามหาเด็กหาย รับ “วันแม่”

ตนจึงเกิดไอเดียที่จะใช้พื้นที่บนฉลากน้ำดื่มสิงห์เป็นอีกช่องทางการสื่อสารตามหาเด็กที่หายไป เกิดเป็นโครงการ “คืนดวงใจให้แม่ return heart to home” ร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา โดยคัดเลือกเด็กที่หายไปอย่างยาวนาน ตั้งแต่ 6-17 ปี ซึ่งถือเป็นกรณีที่ยากที่สุด จำนวน 5 คน ประกอบด้วย น้องเท็น-ด.ช.ชัยภาส ด้านเกื้อกูล, น้องโอ๊ต-ด.ช.นฤดล เยื้อนหนูวงศ์, น้องจีจี้-ด.ญ.จีรภัทร ทองชุม, น้องพลอย-ด.ญ.เบญรัตน์ วงษ์ประจักษ์ และ น้องเจต -ด.ช.เดชาวัต ยาต่อ โดยจัดพิมพ์รูปของน้องบนขวดน้ำดื่มสิงห์ ขนาด 750 มล.และ 600 มล. จำนวน 20 ล้านขวด เพื่อให้เข้าถึงประชาชนในวงกว้าง พร้อมตระหนักถึงปัญหาเด็กหาย และระมัดระวังบุตรหลานของตนให้ปลอดภัย

โครงการ “คืนดวงใจให้แม่ return heart to home”  เปลี่ยนฉลากน้ำดื่ม ช่วยตามหาเด็กหาย รับ “วันแม่”

เด็กต่ำกว่า 12 ปี เสี่ยงถูกนำไปหาประโยชน์

เอกลักษณ์ หลุ่มชมแข ประธานมูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูลว่า เด็กกลุ่มใหญ่สุดที่หายไป คือ สมัครใจหนีออกจากบ้านมีอายุระหว่าง 12 – 18 ปี 90% กลุ่มที่เกิดจากปัญหาแย่งกันปกครองบุตร 5% และกลุ่มที่เราให้ความสำคัญมากที่สุด คือ ต่ำกว่า 12 ปีลงมา เนื่องจากกลุ่มนี้มีความเสี่ยงในการถูกล่อลวง ลักพาตัว พลัดหลง อุบัติเหตุ และเสียชีวิต แม้ว่าสัดส่วนน้อยเพียง 5% ก็ตาม

สำหรับกระบวนการตามหามีการจัดการด้วยองค์ความรู้ ช่วงอายุจะบอกได้ว่าเป็นเรื่องอะไร เช่น เด็กอายุมากกว่า 12 ปีขึ้นไป มักเป็นเรื่องสมัครใจหนีออกจากบ้าน ดังนั้น จำเป็นต้องตรวจสอบประวัติครอบครัว พ่อแม
่แยกทางกันหรือไม่ มีเหตุความรุนแรงในครอบครัวหรือไม่ เด็กเล่นโทรศัพท์ ติดเพื่อน มีแฟน คุยกับคนในโลกออนไลน์หรือไม่ เด็กหายจากสิ่งไหนให้ตามหาจากสิ่งนั้น

“แต่หากต่ำกว่า 12 ปีลงมา มีแนวโน้มโดนลักพาตัว เมื่อตรวจสอบแล้วว่าไม่ใช่ปัญหาครอบครัวแย่งปกครองบุตร จึงลงไปยังที่เกิดเหตุ ตรวจสอบข้อมูลว่ามีแหล่งน้ำ ป่า กล้องวงจรปิด หรือจุดเสี่ยงที่ทำให้เด็กพลัดหลงหรือไม่ พร้อมดูแฟ้มประวัติคนร้ายว่าอยู่ในระแวกนั้นหรือไม่ ทำประกาศภาพเด็กหายออกสู่สาธารณะ เพื่อให้คนในสังคมเป็นหูเป็นตา แจ้งเบาะแสเข้ามา รวมถึงประสานกับหน่วยงานในพื้นที่จัดกำลังคนเข้าค้นหา หากไม่พบจะมีการประเมินว่าเด็กออกนอกพื้นที่หรือไม่ และประสานไปยังสื่อมวลชนในการดำเนินการประกาศต่อไป” นายเอกลักษณ์ กล่าว

เด็กมักถูกลักพาตัวในที่ๆ พ่อแม่คิดว่าปลอดภัย

ด้าน กนกวรรณ พูลเพิ่ม เจ้าหน้าที่ประสานงาน ศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา ให้ข้อมูลว่า ที่ผ่านมาหากเป็นเด็กที่ถูกคนร้ายลักพาตัวไป ต้องอาศัยประชาชนในการช่วยเป็นหูเป็นตามองหา คนร้ายมักจะลักพาตัวเด็กในพื้นที่สาธารณะที่พ่อแม่คิดว่าปลอดภัย เช่น หน้าบ้าน ตามงานวัด ฯลฯ ซึ่งเวลาหาเด็กพบ จึงมักจะเจอจากประชาชนที่โทรเข้ามาแจ้ง ซึ่งเราเป็นหน่วยงานกลางประสานกับตำรวจเพื่อตรวจสอบ ติดตามตามเบาะแส หากใช่ก็เป็นข่าวดีของพ่อแม่

เด็กที่ถูกลักพาตัวไปหาประโยชน์ขายดอกไม้ ขอทาน คนร้ายส่วนใหญ่เป็นคนเร่ร่อนที่บังเอิญเดินมาเจอเด็ก ส่วนลักพาตัวไปกระทำทางเพศ คือ กลุ่มคนที่มีปัญหาทางจิตเวช และอีกกลุ่มคือ คนร้ายที่อยากมีเพื่อนเล่นมาเจอเด็กอยู่คนเดียว ก็พาเด็กไปแต่ไม่ทำอันตราย ตะเวนไปเรื่อยๆ เล่นเกม นอนข้างถนน เปรียบเสมือนน้อง คนร้ายจะมีวิธีการพูดคุย หรือไม่ให้หนี แต่เด็กบางรายก็รู้สึกว่าได้เล่น ด้วยวุฒิภาวะอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าตัวเองถูกลักพาตัวไป ทั้งนี้ หากพบเจอเด็ก คนที่ลักพาตัวจะต้องถูกดำเนินคดีข้อหาพรากผู้เยาว์ แต่ก็ต้องมาดูว่าคนกลุ่มนี้ ลักพาตัวไปด้วยเหตุอะไร ซึ่งหากมีอาการทางจิต ก็ต้องถูกเยียวยา เพราะ หากพ้นโทษออกมา ก็อาจจะกระทำความผิดซ้ำเนื่องจากไม่ได้รักษาอาการทางจิตเวช

แม้ที่ผ่านมา สถิติการติดตามเด็กสูญหายจะสำเร็จกว่า 90% อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายกรณีที่เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ถูกลักพาตัวหายไปอย่างไร้ร่องรอย อย่างกรณี ด.ช.ชัยภาส ด้านเกื้อกูล หรือน้องเท็น ซึ่งหายไปจากบ้านที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ขณะอายุเพียง 11 ปี ปัจจุบัน เป็นเวลายาวนานกว่า 12 ปี 7 เดือนที่มูลนิธิกระจกเงา และคุณแม่ ยังคงตามหาด้วยความหวังว่าจะพบเจอน้องอีกครั้ง

โครงการ “คืนดวงใจให้แม่ return heart to home”  เปลี่ยนฉลากน้ำดื่ม ช่วยตามหาเด็กหาย รับ “วันแม่”

ใจสลายทุกครั้งเมื่อมีความหวัง

กรสิริ ด้านเกื้อกูล คุณแม่น้องเท็น เล่าว่า โดยปกติน้องค่อนข้างซนไม่ค่อยอยู่บ้าน ออกไปเล่นซนตามประสาเด็ก ครั้งสุดท้าย คือ น้องออกไปเล่นและหายไป หลังจากนั้นจึงเดินทางเข้าแจ้งความแต่เขาไม่รับแจ้งเพราะยังไม่ถึง 24 ชั่วโมง เราคิดว่ามันไม่ทันการ หลังจากนั้น จึงเข้าขอความช่วยเหลือกับมูลนิธิกระจกเงาเพื่อให้ช่วยตามหา แม้ว่าล่าสุดเมื่อ 3-4 ปีที่ผ่านมา จะมีคนแจ้งเบาะแส จากประเทศกัมพูชาว่าพบเด็กไทยอาศัยอยู่กับพระคาดว่าจะเป็นน้องเท็น ทางมูลนิธิฯ จึงประสานกับกลุ่ม NGO ฝั่งกัมพูชา เพื่อให้พาข้ามแดนไปตรวจสอบ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่ข่าวดีอย่างที่ทุกคนหวัง

“แม่ออกรายการทีวีทุกปีๆ ละหลายครั้ง หากใครพบน้องเท็นโปรดเมตตา เพราะแม่ตามหามา 12 ปี 7 เดือน มันเป็นความทุกข์ทรมานที่ยาวนานมาก ทุกครั้งที่มีความหวัง คือ ทุกครั้งที่ใจสลาย” กรสิริ กล่าว

เช่นเดียวกับ มลฑา ศิริทัย คุณแม่น้องพลอย ด.ญ.เบญรัตน์ วงษ์ประจักษ์ เล่าว่า น้องพลอยหายไปขณะอายุ 4 ขวบ ระหว่างวิ่งเล่นกับเพื่อนขณะที่คุณแม่เตรียมของขายที่ตลาดนัดคลองหลวง จ.ปทุมธานี ราว 6 โมงเย็น ปัจจุบันผ่านมากว่า 13 ปี คุณแม่ตามหาและออกสื่อในทุกช่องทางเพื่อหวังว่าจะเจอลูกสาวของตนเอง

ขณะที่ สุรีรัตน์ บัวนาค คุณแม่ของน้องโอ๊ต ด.ช.นฤดล เยื้อนหนูวงศ์ ซึ่งหายไปยาวนานก่อนมูลนิธิกระจกเงาก่อตั้งถึง 3 ปี คุณแม่เล่าว่าระหว่างนั้นพยายามประกาศตามวิทยุ จส.100 และตามหาทุกที่ที่คิดว่าน้องจะไปตลอดระยะเวลา 16 ปี “ช่วงที่น้องหาย ที่ไหนที่คิดว่าลูกจะไปเราไปหมด น้องโอ๊ตเป็นเคสที่หายเข้ากลีบเมฆ เราไม่รู้ว่าเขาหายไปอย่างไร ไม่มีเบาะแส ตอนนี้
รอคอยอย่างเดียว ถ้าถามว่าคิดถึงลูกไหม คิดถึงตลอดเวลา แต่เราไม่พูด เราใช้การทำงานเพื่อไม่ให้มีเวลาว่าง”

นอกจากนี้ ยังมีเคสของน้อง จีจี้ ด.ญ.จีรภัทร ทองชุม ซึ่งหายไปขณะช่วยคุณแม่มณี ไพสาลี ขายพวงมาลัยบริเวณหน้าปั๊มแห่งหนึ่งใน อ.แก่งคอย จ.สระบุรี ระหว่างอายุ 9 ปี ปัจจุบันน้องอายุราว 17 ปี ซึ่งคุณแม่พยายามตามหา ปิดประกาศ ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา รวมถึงยังมีเด็กๆ อีกหลายคนที่ยังหายไปอย่างไรร่องรอย ท่ามกลางการรอคอยอย่างมีความหวังของผู้เป็นแม่ ที่คาดว่าสักวันจะได้พบเจอลูกของตนเองอีกครั้ง

ทั้งนี้ จากสัดส่วนที่พบเด็กหายอายุต่ำกว่า 12 ปีส่วนใหญ่ มาจากเบาะแสที่ประชาชนทั่วไปแจ้งเข้ามา ซึ่งทุกคนในสังคมสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือ “คืนดวงใจของแม่ ให้กลับบ้าน” ด้วยการร่วมกันเป็นหูเป็นตา และแจ้งเบาะแส ประสานทางมูนิธิให้ตรวจสอบ ได้ที่สายด่วน  1900-190-199