Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

พลังงานน้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้

ตอนที่ 6 Headline: โรงไฟฟ้าพลังน้ำระดับมาตรฐานสากล

พลังงานน้ำเป็นพลังงานหมุนเวียนประเภทหนึ่งที่สามารถนำมาผลิตไฟฟ้าได้ ซึ่งในภูมิภาคอาเซียน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือ สปป.ลาว เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำมากที่สุด เนื่องจากลักษณะภูมิประเทศมีแหล่งน้ำขนาดใหญ่และอุดมสมบูรณ์

ปัจจุบัน สปป.ลาว มีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ 3,200 เมกะวัตต์ ซึ่ง 2 ใน 3 ของกำลังการผลิตทั้งหมด จะถูกส่งออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยที่เป็นผู้ซื้อไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด โดย สปป.ลาว ยังมีศักยภาพในการขยายกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานน้ำได้สูงสุดถึง 24,000 เมกะวัตต์

เอ็กโก กรุ๊ป หนึ่งในผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย ได้เข้าร่วมลงทุนพัฒนาโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยร่วมกับกลุ่มบริษัทไฟฟ้าประเทศฝรั่งเศส หรือ EDF และรัฐบาล สปป.ลาว ภายใต้การดำเนินงานของ บริษัท ลาว โฮลดิ้ง สเตท เอ็นเตอร์ไพรซ์ จำกัด โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 35:40:25 ตามลำดับ

โรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 ตั้งอยู่ในแขวงคำม่วน ตอนกลางของ สปป.ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำระดับสูง เริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์และจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบในปี 2553 มีกำลังการผลิตทั้งหมด 1,070 เมกะวัตต์ จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากังหันน้ำ จำนวน 6 เครื่อง โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้กว่า 95% ส่งกลับมาจำหน่ายในประเทศไทย และอีก 5% ใช้ภายใน สปป. ลาว

จุดเด่นของโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 คือ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และยังเป็นโครงการที่เกิดจากความร่วมมือของภาครัฐ ภาคเอกชน และได้รับการสนับสนุนจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ธนาคารโลก (World Bank) และโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) เป็นต้น รวมทั้ง เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังน้ำต้นแบบที่มีการบริหารจัดการที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ตั้งแต่การออกแบบ การก่อสร้าง การจัดการสิ่งแวดล้อม และการพัฒนาชุมชน

นอกจากนั้น โรงไฟฟ้าแห่งนี้ยังมีส่วนช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 3.19 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี หรือประมาณ 79 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ตลอดอายุสัญญาของโรงไฟฟ้า 25 ปี

ความสำเร็จของการพัฒนาโรงไฟฟ้าน้ำเทิน 2 นอกจากมีส่วนช่วยเสริมสร้างความมั่นคงให้กับระบบไฟฟ้าของไทยแล้ว ยังทำให้เห็นถึงศักยภาพของบริษัทเอกชนไทย ในการมีส่วนร่วมพัฒนาและบริหารจัดการโรงไฟฟ้าระดับมาตรฐานสากลในต่างประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจและเป็นฐานสำหรับการต่อยอดไปสู่ความร่วมมือและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่น่าจับตามอง