ชวนนักดื่มพักตับ กับมิชชั่น Virtual Run 90 วัน 90 กิโลเมตร

ชวนนักดื่มพักตับ กับมิชชั่น Virtual Run 90 วัน 90 กิโลเมตร

 

ใครๆ ก็รู้ว่า การดื่มแอลกอฮอล์นั้นมีแต่ “เสีย” กับ “สูญเสีย”

นอกเหนือจาการที่คนไทยเสียชีวิตจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ปีละมากกว่า 26,000 คน ทั้งด้วยสาเหตุ “เมาแล้วขับ” ที่ทำให้อุบัติเหตุทางถนนสูงติดอันดับโลก ไม่รวมบาดเจ็บและพิการอีกมากมาย ไปจนถึงปัญหาสังคม ซึ่งหากจะคิดมูลค่าความเสียหายปีละมากกว่า 2 แสนล้านบาท

แม้แต่ในระดับปัจเจกบุคคลเอง การดื่มแอลกอฮอล์ ก็ยังเป็นต้นเหตุสำคัญของการเสียสุขภาพมากมาย โดยเฉพาะแอลกอฮอล์มีผลกระทบโดยตรงต่อ “ตับ” ที่คร่าชีวิตคนไทยมาแล้วไม่น้อยเช่นกัน

ชวนนักดื่มพักตับ กับมิชชั่น Virtual Run 90 วัน 90 กิโลเมตร

“ตับ” พระเอกผู้รับบทหนัก

“ตับ” เป็นอวัยวะที่อยู่ชายโครงด้านขวา เป็นอีกหนึ่งอวัยวะในร่างกายเราที่ต้องรับบทหนักที่สุด

หน้าที่ของตับนั้น เป็นแหล่งผลิตและสะสมพลังงาน กำจัดของเสียออกจากร่างกาย

เรียกว่าทุกครั้งที่ร่างกายย่อยและดูดซึมอาหารจากกระเพาะอาหารและลำไส้ สารอาหารและวิตามินจะถูกตับสะสมและปรับเปลี่ยนดัดแปลงไปเป็นผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับร่างกาย และสะสมเป็นพลังงานเพื่อใช้ในคราวจำเป็น รวมทั้ง แยกกรอง กำจัดสารพิษออกจากร่างกาย และผลิตน้ำย่อย เรียกว่าน้ำดี เพื่อย่อยสารอาหารจำพวกไขมันผ่านทางท่อน้ำดี เพื่อย่อยไขมันในลำไส้ ตับจึงเหมือนบ่อบำบัดน้ำเสียที่ต้องคอยกรองสิ่งที่ดีออกจากร่างกายตลอดเวลา

โดยปกติแล้วตับเป็นอวัยวะที่สามารถฟื้นฟูตัวเองได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าหากมีการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ จะทำให้เกิดผลเสียต่อตับในระยะยาว เกิดการสะสมของพังผืดและทำให้ตับแข็ง

การดื่มที่ “ถี่” เกินไป จะไปทำร้ายเซลล์ของตับได้ และยังเป็นสาเหตุโดยตรงที่ทำให้เกิดโรคตับ ไม่ว่าจะเป็นโรคตับแข็ง ตับวาย รวมถึงมะเร็งตับตามมา

แต่ทุกคนอย่าเพิ่งตกใจ เพราะยังพอมีข่าวดีอยู่บ้าง นั่นคือ ถ้าหากเรามีการเว้นระยะหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ ตับก็จะฟื้นฟูตัวเองได้ แม้จะเริ่มตับแข็งก็ยังฟื้นได้ในระดับหนึ่ง เพียงเริ่มหันมา“พักตับ” อย่างจริงจัง

ชวนนักดื่มพักตับ กับมิชชั่น Virtual Run 90 วัน 90 กิโลเมตร

“ตับ” เองก็ต้องพัก

ในช่วงปีที่ผ่านมา หลายคนอาจได้ยินวาทกรรม “พักตับ” ที่กลายเป็นกระแสกระตุกใจชาววัยทีนไม่น้อย

 แนวคิดดังกล่าวเกิดจากไอเดียของสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ต้องการกระตุ้น และปลุกกระแสการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา พร้อมทั้งเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หันมาตั้งใจดูแลสุขภาพ ลด ละ เลิกแอลกอฮอล์และอบายมุข ร่วมส่งเสริมค่านิยมการดูแลสุขภาพให้แข็งแรงในห้วงเวลา 3 เดือน

 “พักตับ” นอกจากจะหมายถึงการงดดื่มเหล้าช่วงเข้าพรรษาแล้วยังสื่อเรื่องการหันมาดูแลตับของเราให้อยู่ไปนานๆ

ชวนนักดื่มพักตับ กับมิชชั่น Virtual Run 90 วัน 90 กิโลเมตร


วิ่งพักตับ
90 วัน

จากความสำเร็จของการรณรงค์ปีที่ผ่านมา ทำให้ใกล้ฤดูกาลเข้าพรรษาที่กำลังจะเวียนมาครบรอบในปีนี้  ทาง สคล. และ สสส. จึงขอผลักดันงานรณรงค์งดเหล้ากันอีกครั้ง โดยจัดกิจกรรม “วิ่งพักตับ ปอดขยับตับพักผ่อน Season 2”  ปี 2562  สำหรับปีนี้ได้สอดแทรกความแปลกใหม่ของกิจกรรม ด้วยการหยิบเทรนด์ Virtual Run ที่กำลังได้รับความสนใจมาชวนทุกคนวิ่งในมิติใหม่ และช่วยสร้างสีสันและความคึกคักให้คนไทยสามารถวิ่งพักตับสะดวก ง่ายกว่าเดิม ในชื่อกิจกรรม “วิ่งพักตับ 90K. 90 days ตับ..จะกลับมาดี เริ่มวันนี้งดเหล้า”

ธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) กล่าวว่า สคล. และสสส.ได้เริ่มรณงค์งดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ปี 2546 มีการรณรงค์เชิญชวนให้ประชาชนตระหนักและร่วมงดเหล้าเข้าพรรษามาหลายวิธี หลายรูปแบบ สำหรับปีนี้ด้วยกระแสสุขภาพที่มาแรง ทางสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า เครือข่ายเยาวชน SDN ชมรมคนหัวเพชร และภาคีเครือข่ายร่วมจัด โครงการเดิน-วิ่งรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษา “วิ่งพักตับ ปอดขยับตับพักผ่อน Season2  ปี2562 ” ตอน “วิ่งพักตับ 90 k. 90 days  ตับ...จะกลับมาดี เริ่มวันนี้งดเหล้า”

ชวนนักดื่มพักตับ กับมิชชั่น Virtual Run 90 วัน 90 กิโลเมตร

ซึ่งนอกจากจะการวิ่งแบบ VIRTUAL RUN (วิ่งเก็บระยะ) ยังมีกิจกรรมวิ่งสนามจริง วิ่งพักตับฯใน 9 ภาค 10 พื้นที่ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนทั่วไป และผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์หันมา รักสุขภาพ ใช้โอกาสเข้าพรรษานี้ตั้งใจดูแลสุขภาพลดละเลิกอบายมุข

“สสส. และสคล. พยายามหาแนวทางรณรงค์ใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพื่อให้คนที่ตั้งใจงดเหล้าเข้าพรรษาตลอด 3 เดือนไม่หันกลับไปหาเหล้าเบียร์อีก แคมเปญ “วิ่งพักตับ” จะเป็นกิจกรรมใหม่ในช่วงเข้าพรรษา ให้คนหันมาดูแลรักษาสุขภาพด้วยกิจกรรมการออกกำลังกายเดินวิ่งพร้อมไปกับการลดละเลิกเหล้า ซึ่งเป็น 2 เรื่องที่ทำพร้อมกันได้ในเวลาเดียวกัน และการเดินวิ่งนั้นเป็นการดูแลสุขภาพที่ทำได้ง่าย ใช้อุปกรณ์น้อยชิ้น เป็นเทรนด์สุขภาพที่สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นเป็นจำนวนมากในทุกพื้นที่” ธีระ กล่าว

ด้าน ครูดิน หรือ สถาวร จันทร์ผ่องศรี อดีตนักวิ่งมาราธอนทีมชาติไทย และยังเป็นครูผู้สร้างนักวิ่งหน้าใหม่ในการดูแลสุขภาพร่างกาย กล่าวว่า ตับคนเรามีความมหัศจรรย์ คือฟื้นฟูตัวเองได้ เมื่อเราออกกำลังกายไป และให้เขาได้รับ สารอาหารที่ดี จะทำให้เขาลดปริมาณของเสียที่ต้องกำจัดทิ้ง ไม่ต้องทำงานหนัก

“เคยมีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่จังหวัดน่าน ซึ่งเป็นจังหวัดอันดับต้นๆ ที่มีปัญหาผู้ดื่มสุรามากที่สุด ผลวิจัยนั้นค้นพบว่าคนที่ไม่ดื่มสุราภายใน 3 เดือน หรือเขาได้พักตับ สามารถมีวิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงได้ รวมถึงมีสุขภาพดีขึ้น ผิวพรรณ อาการนอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทก็ดีขึ้น

“หากถามว่าระหว่างพักตับเฉยๆ กับพักตับแล้วออกกำลังกายด้วยต่างกันไหม ผมยกตัวอย่างนะ ถ้าเราพักตับอย่างเดียว ไม่ออกกำลังกาย ก็เหมือนเราไม่ได้เติมสารหรือสิ่งที่เป็นพิษเข้าไปสู่กระบวนการทำงานของตับ ตับก็จะกลับมาทำงานดีขึ้น แต่ในกระบวนการสกัดแอลกอฮอล์ของตับจะเกิดสารพิษ ที่ทำลายผิวตับ ให้ตับอักเสบและทำให้เก็บสะสมไขมันที่ตับไว้ และอาจพัฒนาไปเป็นตับแข็งและตับวาย”

การออกกำลังกายจะยิ่งช่วยให้มีการดึงไขมันที่พอกตับไปใช้ จะลดไขมันที่พอกตับลง เมื่อสารอาหารต่างๆ เข้าสู่ตับก็จะได้รับเต็มๆ มีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้เรื่องโภชนาการก็มีความสำคัญ เพราะมีส่วนช่วยการบำรุงตับ เช่น การบริโภคอาหารมีโฟเลทสูง กากใย ผักผลไม้ โปรตีน และลดในส่วนที่มีไขมันและอาหารรสจัด

“เมื่อคุณออกกำลังกายต่อเนื่องๆ จะเป็นนิสัย ในหลักวิชาการ 21 วัน แต่จริงๆ แล้วอาจ 29-30 วัน ร่างกายจะคุ้นชิน และเริ่มปรับเปลี่ยน คุณจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ดี โดยจะมีการซ่อมแซมสร้างเสริม ชดเชยสิ่งที่เราเอาเข้าหรืออกไป เมื่อแข็งแรงสมบูรณ์ สกัดส่วนที่เคยมีสารพิษ พอเราเอาเข้าไปอีกจะเกิดปฏิกิริยาต่อต้านนิดๆ นี่คือความมหัศจรรย์ของร่างกายมนุษย์” ครูดินอธิบาย

“แต่สำหรับคนที่เป้าหมายเรื่องสุขภาพที่ดีของตัวเองอยู่แล้ว คุณสามารถเริ่มต้นวันนี้ได้เลย”

ชวนนักดื่มพักตับ กับมิชชั่น Virtual Run 90 วัน 90 กิโลเมตร

 

ครูดินแนะเคล็ด นักวิ่งหน้าใหม่

“การออกกำลังกายทุกประเภทมีผลดีต่อสุขภาพ แต่การวิ่งเป็นกิจกรรมที่ง่ายที่สุด ใครเดินได้ ก็วิ่งได้ เป็นกิจกรรมที่ไม่ซ้ำซ้อน ไม่ใช้เทคนิคเยอะ หากเราวิ่งอย่างต่อเนื่องสัก 5-6 วันเราจะเริ่มรู้สึกได้ถึงความเปลี่ยนปลง ไม่เฉพาะร่างกายและเป็นทางจิตใจ” ครูดินให้ข้อมูล

ในกรณีนักวิ่งหน้าใหม่ให้เริ่มจากเดินก่อน” ครูดินแนะนำต่อว่า แล้วค่อยเพิ่มอัตราความเร็วและระยะเวลามากขึ้น  จากนั้นก็เดินช้าสลับเดินเร็ว แล้วค่อยๆ ลดการเดินช้าลง จนสามารถที่เราจะเดินเร็วได้อย่างต่อเนื่อง 20 นาที แล้วจึงเพิ่มเลเวลให้สลับกับเดินเร็ว และค่อยๆ เพิ่มการวิ่งมากขึ้น”

แต่สิ่งสำคัญ เราต้องรู้ข้อจำกัดของร่างกายตัวเอง ว่าควรออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน เพื่อความปลอดภัย

“ถ้าเป็นไปได้ ควรพบแพทย์  ไม่ได้หมายความว่าเราผิดปกติ แต่การพบแพทย์จะทำให้เราวางแผนความหนักเบาของการออกกำลังกายที่ปลอดภัย”

การออกกำลังกายมีความมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง เพราะจะส่งผลให้สมรรถภาพหรือกลไกการทำงานร่างกายมีการปรับเปลี่ยน และจะมีปฏิกิริยาต่อต้านสิ่งที่เป็นสิ่งแปลกปลอมในร่างกาย

ครูดินยกตัวอย่างว่า ถ้าคนดื่มเหล้า เมื่อได้มาออกกำลังกายแข็งแรงแล้ว หากกลับไปดื่มอีกร่างกายเราจะมีปฏิกิริยา ไม่ว่าจะเป็นแอลกอฮฮอล์ หรือบุหรี่ เพราะมันระคายเคืองต่อการดำรงชีวิต

“การออกกำลังกายไม่มีข้อห้าม แต่มีข้อจำกัดสำหรับคนที่มีโรคภัย ซึ่งมีภาวะขีดจำกัด อย่างเช่น เบาหวาน หัวใจ ความดัน เป็นต้น ควรเลือกการเคลื่อนไหวที่หลีกเลี่ยงไปกระทบกับส่วนที่ร่างกายกำลังบอบช้ำอยู่ หรืออย่าหักโหมมากนัก คนที่เป็นพิษสุราเรื้อรังหรือตับแข็งก็สามารถพอออกกำลังกายได้ เพียงแต่วางแผนให้เหมาะสม”
ที่สำคัญเมื่อคนเรารู้สึกว่าสุขภาพดีขึ้น จะทำให้เราสามารถจัดสรรการดำรงชีวิตที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การรับประทานอาหาร การพักผ่อน การทำงาน  และนี่เป็นที่มาของวิ่งเปลี่ยนชีวิตนั่นเอง