จีน–สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลง เริ่มหารือด้านเศรษฐกิจและการค้ารอบใหม่

จีน–สหรัฐฯ บรรลุข้อตกลง เริ่มหารือด้านเศรษฐกิจและการค้ารอบใหม่

 

จากเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2562 ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา ได้เจรจานอกรอบในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G20 ณ เมืองโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น ผู้นำทั้งสองได้แลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่าง จีน–สหรัฐฯ ในอนาคต ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสองประเทศ รวมถึงประเด็นปัญหาต่างๆ ในระดับนานาชาติและภูมิภาค ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องที่จะร่วมพัฒนาความสัมพันธ์ จีน –สหรัฐฯ โดยให้ความสำคัญกับการประสานงาน ความร่วมมือ และความมั่นคง

นายสี จิ้นผิง แสดงความเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง จีน –สหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่มีความสำคัญมากเป็นอันดับต้นๆ ในเวทีโลก “แม้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญหลายครั้งในสถานการณ์ระหว่างประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่าง จีน–สหรัฐฯ ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา แต่ความจริงพื้นฐานอย่างหนึ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงก็คือ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างได้รับประโยชน์จากความร่วมมือ และเสียประโยชน์จากการเผชิญหน้า” เขายืนยันว่า “ความร่วมมือและการเจรจาย่อมดีกว่าความขัดแย้งและการเผชิญหน้า” และเสริมว่า แม้ว่าจีนและสหรัฐฯ จะมีความแตกต่างกัน แต่ทั้งสองประเทศต่างมีผลประโยชน์ร่วมกันอย่างสูง และมีความร่วมมืออย่างกว้างขวางและใกล้ชิด ฉะนั้น จึงต้องพยายามเลี่ยงที่ติดกับดักแห่งความขัดแย้งและการเผชิญหน้า

นายทรัมป์ กล่าวว่า สหรัฐฯ จะเดินหน้าร่วมกับจีนในการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคี โดยจะเน้นให้ความสำคัญกับการประสานงาน ความร่วมมือ และความมั่นคง และแสดงความมั่นใจว่า การประชุมกับนายสี จิ้นผิง ในครั้งนี้ จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีของทั้งสองประเทศ

ผุ้นำทั้งสองประเทศยังได้บรรลุข้อตกลงที่จะเริ่มการหารือด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างทั้งสองประเทศขึ้นใหม่อีกครั้ง บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและการเคารพซึ่งกันและกัน สหรัฐฯ ได้ให้สัญญาว่าจะไม่มีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าเพิ่มเติมจากจีนอีก โดยคณะเจรจาด้านเศรษฐกิจและการค้าของทั้งสองประเทศจะเดินหน้าหารือในประเด็นดังกล่าวต่อไป

ความสัมพันธ์ทางการค้า จีน–สหรัฐฯ บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันและการได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย

โดย Bi Jiyao

ความสัมพันธ์ทางด้านเศรษฐกิจและการค้าเป็นหัวใจสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่าง จีน–สหรัฐฯ  โดยมีผลประโยชน์พื้นฐานของประชาชนของทั้งสองประเทศ รวมทั้งความมั่งคั่งและมั่นคงของโลกเป็นเดิมพัน นับตั้งแต่ 40 ปีก่อนที่จีนและสหรัฐฯ  สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการในปี 2522 ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระดับทวิภาคีได้ทวีความแน่นแฟ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การค้าสินค้าขยายตัว 252 เท่า จาก 2.5 พันล้านดอลลาร์ ไปเป็น 6.33 แสนล้านดอลลาร์ มูลค่าการค้าในภาคบริการสูงกว่า 1.25 แสนล้านดอลลาร์ และมูลค่าการลงทุนทางตรงระดับทวิภาคีรวมเกือบ 1.60 แสนล้านดอลลาร์ วันนี้ ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างจีน–สหรัฐฯ  ได้ก้าวหน้าในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนทั้งในเชิงลึกและสาขาที่กว้างขวาง ซึ่งการส่งเสริมความสัมพันธ์บนพื้นฐานของผลประโยชน์ร่วมกันและการได้รับผลประโยชน์ทั้งสองฝ่ายแบบวิน-วิน  จากธุรกิจที่สนับสนุนซึ่งกันและกัน รวมทั้งผลประโยชน์ต่างๆ ที่เชื่อมโยงกัน ไม่เพียงก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทั่วโลก

ในยุคโลกาภิวัฒน์ทางเศรษฐกิจ จีนพยายามใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบเพื่อเพิ่มการเปิดกว้างสู่การมีตลาดที่เอื้อประโยชน์ระหว่างกัน รวมทั้งส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ  ซึ่งช่วยให้บริษัทจีนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมโลกและห่วงโซ่คุณค่าอย่างเต็มตัว พร้อมๆ กับที่ช่วยขยายตลาดต่างประเทศของจีน ส่งผลให้ปัญหาการขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศบรรเทาลง และช่วยลดปัญหาการนำเข้าเทคโนโลยีที่ก้าวล้ำ รวมทั้งการถ่ายทอดประสบการณ์การบริหารจากต่างประเทศ

สำหรับสหรัฐฯ  ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีนที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้นำโอกาสทางธุรกิจค่อนข้างมากมาสู่ประเทศ ช่วยส่งเสริมภาคการส่งออก การจ้างงาน และการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งสร้างประโยชน์อย่างใหญ่หลวงให้กับพลเมืองอเมริกัน

ประการแรก การเติบโตอย่างรวดเร็วของการส่งออกสู่จีนช่วยผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปัจจุบัน จีนเป็นตลาดส่งออกสินค้าที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของสหรัฐฯ จากปี 2552 – 2561 การส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ สู่จีนมีอัตราการเติบโตรวม 73.2 เปอร์เซนต์ สูงกว่าอัตราการเติบโตเฉลี่ยของตลาดส่งออกอื่นของสหรัฐฯ ที่ 56.9 เปอร์เซนต์ เป็นอย่างมาก ในปี 2560 จีนกลายเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ สำหรับผลิตภัณฑ์เครื่องบินและถั่วเหลือง และอันดับสองสำหรับผลิตภัณฑ์ยานยนต์ วงจรรวม และฝ้าย เมื่อคำนวณโดยเฉลี่ยต่อหัว เกษตรกรอเมริกันแต่ละรายส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรสู่จีน คิดเป็นมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้ จีนยังเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดลำดับที่ห้า สำหรับรัฐส่วนมากในสหรัฐฯ

ประการที่สอง การทำการค้ากับจีนช่วยส่งเสริมการจ้างงานและเสถียรภาพของราคาสินค้าให้กับสหรัฐฯ นับจากปี 2549 – 2561 การค้าในภาคบริการระหว่างจีน –สหรัฐฯ  ได้เพิ่มขึ้น 3.6 เท่า จาก 2.74 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 1.253 แสนล้านดอลลาร์ ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมากในภาคการขนส่ง การค้าส่ง และการค้าปลีกของสหรัฐฯ รายงานที่จัดทำโดยสภาธุรกิจ จีน –สหรัฐอเมริกาซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่า ในรอบทศวรรษที่ผ่านมา ช่วงระหว่างปี 2552 – 2561 การส่งออกสินค้าของสหรัฐฯ สู่จีน ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 1.1 ล้านตำแหน่ง ในสหรัฐฯ และรายงานจากสถาบัน Cato ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ได้ชี้ให้เห็นถึงตำแหน่งงานในภาคอุตสาหกรรมการผลิตในสหรัฐฯ ที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการยกระดับอุตสาหกรรม ซึ่งไม่สัมพันธ์กับความไม่สมดุลทางการค้า การนำเข้าสินค้าคุณภาพสูงแต่ราคาถูกจากจีน ทำให้สหรัฐฯ สามารถรักษาระดับอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำ เพิ่มกำลังซื้อของผู้บริโภคชาวอเมริกัน และทำให้ผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งกลุ่มผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางได้รับประโยชน์อื่นๆ เพิ่มเติม

ประการที่สาม ความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับจีน ช่วยให้เกิดการเร่งยกระดับอุตสากรรมของสหรัฐฯ ด้วยจุดแข็งของจีนในการเป็นฐานการผลิตและประกอบสินค้า ก่อนที่สินค้าจะถูกนำไปจำหน่ายทั่วโลก บริษัทข้ามชาติในสหรัฐฯ จึงนำข้อได้เปรียบของทั้งสองประเทศที่ส่งเสริมซึ่งกันและกันมาผนวกกันเพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของทั้งคู่ในตลาดต่างประเทศ ซึ่งสร้างผลประโยชน์อย่างมหาศาลให้กับบริษัทของสหรัฐฯ จำนวนมาก ข้อมูลสถิติแสดงให้เห็นว่า ในปี 2560 บริษัทในจีนที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนจากสหรัฐฯ สามารถสร้างรายได้รวมถึง 7 แสนล้านดอลลาร์ และในฐานะนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ในบริษัทด้านการเงินในจีน บริษัทด้านการเงินสัญชาติอเมริกาได้รับผลตอบแทนกว่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์ จากการลงทุน เนื่องจากหน้าที่การผลิตสินค้าส่วนใหญ่เป็นของจีน บริษัทอเมริกันจึงสามารถหันไปให้ความสำคัญกับการลงทุนในด้านอื่นๆ อาทิ นวัตกรรมและการบริหารจัดการ ซึ่งช่วยส่งเสริมการยกระดับอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ไปสู่การเพิ่มมูลค่า ขณะที่ช่วยลดแรงกดดันในด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้แหล่งพลังงานภายในประเทศ

ประการที่สี่ การลงทุนจากจีนช่วยส่งเสริมความมั่นคงทางด้านการเงินของสหรัฐฯ โครงสร้างใหม่ของแรงงานระหว่างประเทศที่เน้นการแบ่งงานตามความถนัด และระบบการเงินระหว่างประเทศในปัจจุบัน ทำให้จีนได้รับเงินทุนสนับสนุนจากต่างประเทศผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ การค้าเกินดุล และเงินกู้จากต่างประเทศ ซึ่งในที่สุดแล้วเงินก้อนใหญ่นี้ก็กลับสู่สหรัฐฯ ในรูปแบบของพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของจีนในสหรัฐฯ ยังช่วยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและความมั่นคงทางการเงินของอเมริกาอย่างมาก ข้อมูลจากกระทรวงการคลังของสหรัฐฯ ระบุว่า จนถึงปลายปี 2560 การถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ของจีนมีมูลค่าสูงถึง 1.18 ล้านล้านดอลลาร์

ข้อมูลที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือทางเศรษฐกิจจีน–สหรัฐฯ เป็นความสัมพันธ์แบบวิน-วินที่ทั้งสองฝ่ายต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน การได้ดุลการค้าของจีนต่อสหรัฐฯ สะท้อนให้เห็นถึงความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบและลักษณะอุตสาหกรรมของจีนและสหรัฐฯ ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน ตลอดจนผลที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงด้านแรงงานระหว่างประเทศที่เน้นการแบ่งงานตามความถนัด และโครงสร้างการผลิตของบริษัทข้ามชาติ ความไม่สมดุลทางการค้านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้อัตราการออมเงินในสหรัฐฯ ต่ำลง และนำมาสู่การใช้มาตรการควบคุมสินค้าส่งออกจากจีนที่เข้มงวดยิ่งขึ้นของสหรัฐฯ ซึ่งเป็นปัญหาทางด้านโครงสร้างมาอย่างยาวนาน ที่ไม่น่าจะแก้ไขได้โดยใช้นโยบายการปกป้องทางการค้า ในขณะที่นโยบายการค้าที่เป็นธรรมได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง ทั้งนี้  จีนในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่ใหญ่ที่สุดในโลก และสหรัฐฯ ในฐานะประเทศพัฒนาแล้วที่ใหญ่ที่สุดในโลก ควรจะจับมือกันเพื่อแสวงหาแนวทางความร่วมมือแนวทางใหม่ที่จะก่อให้เกิดประโยชน์กับทั้งสองประเทศและทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง

 

เกี่ยวกับผู้เขียน: Bi Jiyao เป็นรองประธาน Academy of Macroeconomic Research