ผู้นำอาเซียนกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนต่อต้านนโยบายการปกป้องทางการค้า

ผู้นำอาเซียนกังวลสงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ส่งสัญญาณชัดเจนต่อต้านนโยบายการปกป้องทางการค้า

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2562 การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 34 ได้ปิดฉากลงที่กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย การประชุมสุดยอดครั้งนี้เน้นให้ความสำคัญกับประเด็นการเมือง เศรษฐกิจ ความมั่นคง และสังคม-วัฒนธรรม แม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากข้อพิพาททางการค้าที่เริ่มขึ้นโดยสหรัฐอเมริกา แต่ประเทศสมาชิกอาเซียนได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนในการต่อต้านนโยบายการปกป้องทางการค้า ขณะที่ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่กับระบบการค้าแบบพหุภาคี โดยประเด็นที่ได้รับการหยิบยกขึ้นมาหารืออย่างกว้างขวาง คือ ความตกลงพันธมิตรทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP)

ทั้งจีนและสหรัฐฯ เป็นพันธมิตรที่สำคัญของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีความกังวลอย่างมากกับการพิพาททางการค้าระหว่างทั้งสองประเทศที่กำลังดำเนินอยู่ Zhai Kun รองประธานสถาบัน Area Studies แห่งมหาวิทยาลัยปักกิ่ง เชื่อว่าการพิพาททางการค้าระหว่าง จีน-สหรัฐฯ จะกลายเป็นปัจจัยสำคัญหรือตัวแแปรหลักที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความร่วมมือระหว่างจีน-อาเซียน ซึ่งกำลังลุกลามไปสู่เศรษฐกิจและความมั่นคงของอาเซียน

 

อาเซียนจะรักษาความเป็นกลางได้หรือไม่?

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกอาเซียนต่างแสดงความกังวลต่อนโยบายการปกป้องทางการค้า หนังสือพิมพ์ Bangkok Post ฉบับวันที่ 21มิถุนายน ได้แสดงความเห็นว่า การพิพาททางการค้าที่ยืดเยื้อระหว่างสองมหาอำนาจได้สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้นำของประเทศอาเซียนต่างๆ ว่าอาเซียนจะสามารถรักษาความเป็นกลางไว้ได้หรือไม่

ในวันที่ 19 มิถุนายน นายแรนดัลด์ ซริเวอร์ ผู้ช่วยเลขาธิการกระทรวงกลาโหม ซึ่งรับผิดชอบกิจการด้านความมั่นคงของภาคพื้นอินเดียและแปซิฟิก ได้กล่าวปาฐกถาในงานกาล่าดินเนอร์ ในโอกาสฉลองครบรอบ 35 ปีของหอการค้าสหรัฐฯ-อาเซียน กระตุ้นให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตัดสินใจเลือกระหว่างสหรัฐฯ และจีน ก่อนหน้านี้ นายลี เซียนหลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ได้กล่าวในการเจรจาแชงกรีล่า ว่าฝ่ายอื่นๆ ไม่ควรบีบบังคับให้ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต้องตัดสินใจเลือกว่าจะอยู่ข้างสหรัฐฯ หรือจีน และยังเคยแสดงความเห็นในพิธีเปิดการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 33 เมื่อปีที่แล้วว่า การแข่งขันระหว่างจีน-สหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เป็นเรื่องที่ยากลำบากสำหรับประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไม่ได้มีผลประโยชน์ใดๆ จากการเลือกข้าง และกล่าวต่อว่า สงครามการค้าจะสร้างความเสียหายอย่างมากให้กับระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับทุกประเทศตลอดหลายปีที่ผ่านมา และไม่มีประเทศใดที่จะได้รับผลดีจากสงครามนี้

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย ได้แสดงความกังวลต่อปัญาหานี้เช่นกัน หนังสือพิมพ์ Bisnis Indonesia รายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ คาดว่า การพิพาททางการค้าระหว่าง จีน-สหรัฐฯ จะกลายเป็นหัวข้อที่เป็นศูนย์กลางในการประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศ G20 ที่เมืองโอซาก้า และประเทศไทย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม พร้อมที่จะสะท้อนมุมมองของอาเซียนที่มีต่อปัญหานี้ในการประชุม นอกจากนี้ ยังตั้งความหวังว่าการประชุมนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาความขัดแย้งทางการค้า ในการประชุมสุดยอดผู้นำธุรกิจ Bloomberg ASEAN Business Summit เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน พล.อ. ประยุทธ์ ได้แสดงความเห็นว่าการพิพาททางการค้าระหว่างประเทศมหาอำนาจจะส่งผลกระทบกับบรรยากาศการค้าและการลงทุนของโลก และมีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปเป็นสงครามการค้าที่รุนแรง

ในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งล่าสุด ได้มีการรับรอง “วิสัยทัศน์ผู้นำอาเซียนว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนเพื่อความยั่งยืน” ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลที่มีต่อการใช้นโยบายการปกป้องทางการค้าในปัจจุบัน และผลกระทบต่อโลกยุคโลกาภิวัฒน์ ซึ่งจะยังคงทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกและเป็นภัยคุกคามระบบการค้าพหุภาคี ผู้นำของประเทศอาเซียนทั้งหมดต่างเห็นพ้องที่จะบรรลุข้อตกลง RCEP ให้ได้ภายในปลายปีนี้ เพื่อที่จะฟื้นฟูการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งกระตุ้นให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องยกระดับความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

 

RCEP กลไกสำคัญในการคลี่คลายการพิพาททางการค้า

การพิพาททางการค้าระหว่าง จีน-สหรัฐฯ เป็นเป้าความสนใจของทั่วโลกตลอดเวลากว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา และส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีเสถียรภาพมายาวนานกว่า 40 ปี Zhai Kun เชื่อว่าการพิพาทดังกล่าวจะส่งผลเสียต่อประเทศในอาเซียน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การค้า และความมั่นคง

ประการแรก การพิพาททางการค้าระหว่าง จีน-สหรัฐฯ มีผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจและการค้า ข้อมูลสถิติจากจีนระบุว่า จากเดือนมกราคมถึงเมษายนของปีนี้ ปริมาณการค้าทวิภาคีระหว่างจีนและอาเซียนมีมูลค่า 1.88 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้อาเซียนก้าวขึ้นมาเป็นคู่ค้าลำดับที่สองของจีนแทนสหรัฐฯ ดัชนี World Trade Outlook Indicator (WTOI) ที่จัดทำโดยองค์การการค้าโลก (WHO) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาต่ำที่สุดในรอบเก้าปี การค้าโลกที่หดตัวท่ามกลางการพิพาททางการค้าระหว่าง จีน-สหรัฐฯ ย่อมส่งผลกระทบกับอาเซียนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ข้อมูลเศรษฐกิจของปี 2561 ระบุว่ามูลค่าทางการค้าระหว่าง จีน-อาเซียน คิดเป็น 4.1 เปอร์เซนต์ของ GDP รวมของทั้งสองฝ่าย ซึ่งสูงกว่ามูลค่าทางการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ 2.3 เปอร์เซนต์ ซึ่งหมายความว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน จีนจะให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการเติบโตทางการค้าระหว่าง จีน-อาเซียนมากกว่า

ประการที่สอง ประเด็นเศรษฐกิจและการค้าย่อมมีความเชื่อมโยงกับความมั่นคง นับตั้งแต่ยุคที่ทรัมป์เริ่มเข้ามาบริหารประเทศ กองทัพสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการเสรีภาพในการเดินเรือและบินผ่านทะเลจีนใต้บ่อยครั้งกว่าในยุคของประธานาธิบดีโอบามา ประเทศอาเซียนส่วนใหญ่ต่างไม่ตอบรับการร้องขอจากสหรัฐฯ ที่จะเข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศของตน ทำให้สหรัฐฯ ต้องพบกับความยากลำบากในการส่งกองทัพเข้ามาประจำการบริเวณทะเลจีนใต้ในอนาคตอันใกล้นี้

ในการประชุมครั้งล่าสุดนี้ เหล่าผู้นำอาเซียนได้แสดงเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะบรรลุข้อตกลง RCEP ให้ได้ภายในปลายปีนี้ ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ไม่มั่นคงขึ้นเรื่อยๆ อันเนื่องมาจากนโยบายปกป้องทางการค้าและผลกระทบอย่างรุนแรงต่อโลกาภิวัฒน์ การเร่งให้เกิดการบรรลุข้อตกลง RCEPภายหลังการประชุมในครั้งนี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเปิดเสรีทางการค้าและเอื้อให้เกิดการค้าในระดับภูมิภาค รวมทั้งการค้าเสรีในระดับโลก ตลอดจนการรวมตัวทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค