‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ เปิดช่องภาคธุรกิจ ร่วมสร้าง ‘นิติธรรม-พัฒนายั่งยืน’

‘วิสาหกิจเพื่อสังคม’ เปิดช่องภาคธุรกิจ ร่วมสร้าง ‘นิติธรรม-พัฒนายั่งยืน’

 

การสร้างสังคมนิติธรรมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยเฉพาะในยุคที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด หรือ “disruptive technology” นั้นไม่สามารถใช้การขับเคลื่อนจาก “กลไกรัฐ” แต่เพียงฝ่ายเดียวได้อีกแล้ว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมด้วย

โดยเฉพาะภาคธุรกิจเอกชนที่ถูกมองว่าทำกิจการเพื่อแสวงหาผลกำไร แต่แท้ที่จริงแล้วสามารถประกอบกิจการในแบบที่ส่งเสริมให้เกิดการคุ้มครองสิทธิและสร้างความเป็นธรรมได้ด้วยเช่นกัน

ในช่วงหลังมีความพยายามใหม่ๆ ที่เพิ่มบทบาทภาคเอกชนในการมีส่วนสร้างสรรค์สังคมมากขึ้น ทั้งในระดับสหประชาชาติ และในการพัฒนากฎหมายเพื่อให้เกิดรูปแบบใหม่ๆ ทางธุรกิจในการทำกิจการที่เป็นประโยชน์กับสังคม

แนวทางที่ริเริ่มโดยสหประชาชาติเรียกว่า Global Compact เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนเข้าเป็นสมาชิกและมีปฏิสัมพันธ์กับยูเอ็นมากขึ้น พร้อมนำหลักการสำคัญๆ ของยูเอ็นไปใช้ โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยให้ความสำคัญใน 4 ประเด็น คือ การปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชน การจ้างงานที่เป็นธรรม
การรักษาสิ่งแวดล้อม และการขจัดคอร์รัปชั่น

พัฒนาการอีกด้านที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของรูปแบบของ “ธุรกิจเพื่อสังคม” หรือ Social Enterpriseทำเกิดช่องทางใหม่ๆ เพิ่มเติมจากที่มีอยู่เดิมที่เน้นนโยบายดำเนินกิจการที่มีความยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) หรือดำเนินกิจกรรมในเชิงการกุศล ไปสู่การดำเนินธุรกิจในรูปแบบที่ให้ความสำคัญจริงๆ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืนของคนและเครือข่ายธุรกิจซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่าประเทศไทยเองก็มีเครือข่าย Global Compact และมีการตรากฎหมาย“วิสาหกิจเพื่อสังคม” ในแนวคิดใหม่นี้ออกมารองรับแล้วด้วย (อ่านในล้อมกรอบ)

-------------------------------------------

พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเริ่มนับหนึ่ง

พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม พ.ศ.2562 ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม และมีผลบังคับใช้ในวันรุ่งขึ้นทันที

ท้ายพระราชบัญญัติมีการระบุเหตุผลของการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ว่าการประกอบธุรกิจที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อส่งเสริมการจ้างงานแก่บุคคลผู้สมควรได้รับการส่งเสริมเป็นพิเศษ ตลอดจนการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนาชุมชน สังคม หรือสิ่งแวดล้อม หรือเพื่อประโยชน์ส่วนรวมอื่น หรือคืนประโยชน์ให้แก่สังคม สมควรได้รับการส่งเสริมให้ขยายตัวมากขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ

กฎหมายฉบับนี้ได้กำหนดมาตรการในการสนับสนุนวิสาหกิจเพื่อสังคมที่ได้รับการจดทะเบียน และจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคมเพื่อให้ความช่วยเหลือและพัฒนาวิสาหกิจเพื่อสังคม กลุ่มกิจการเพื่อสังคมรวมทั้งประสานความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ที่ผ่านมากรมสรรพากรยังได้ประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ของกิจการเพื่อสังคมเอาไว้ด้วย ผู้สนใจสามารถตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้จากกรมสรรพากร

-------------------------------------------

TIJ หรือ สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ตระหนักถึงความสำคัญของเรื่องนี้ทั้งในแง่ของการระดมสรรพกำลังจากทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อสร้างสังคมนิติธรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผ่านการจัดหลักสูตร TIJ Executive Program on the Rule of Law and Development หรือ RoLD Program ซึ่งปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 3 แล้ว

ขณะเดียวกันก็ขับเคลื่อนสร้างองค์ความรู้เพื่อขยายแนวคิด Global Compact ผ่านการจัดเสวนาในหัวข้อ “บทบาทภาคธุรกิจกับวิสาหกิจเพื่อสังคมที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชน” เพื่อเป็นเวทีระดมสมองจากผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการในการส่งเสริมและสนับสนุน “วิสาหกิจเพื่อสังคม” หรือ social enterprise ในฐานะเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และเคารพสิทธิมนุษยชนโดยไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังท่ามกลางสถานการณ์พัฒนาแบบก้าวกระโดด

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการ TIJ กล่าวเอาไว้ตอนหนึ่งระหว่างการเปิดเสวนา ซึ่งสะท้อนถึงทิศทางของการสร้างเครือข่ายวิสาหกิจเพื่อสังคม ภายใต้แนวคิด Global Compact ของยูเอ็นอย่างชัดเจน“เรื่องของหลักนิติธรรม หากพิจารณาอย่างกว้าง จะเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทำให้บุคคลต่างๆ
ที่เข้ามาเกี่ยวข้องสามารถสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้ในมุมหรือมิติที่ตนเองรับผิดชอบ เพราะสังคมที่ยุติธรรมและเป็นธรรมสามารถมีผู้เล่น (player) ได้มากกว่าภาครัฐ ขณะที่ภาคธุรกิจสามารถเอื้อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิ และช่วยให้เกิดความเป็นธรรมได้เช่นกัน ถ้าดำเนินการตามหลักการของสิทธิมนุษยชนจากแนวคิดเรื่อง Global Compact ของสหประชาชาติ”

สำหรับผู้ทรงคุณวุฒิที่เข้าร่วมการเสวนา ได้ให้ทัศนะเอาไว้น่าสนใจหลายประเด็น เริ่มจาก ณัฐพงษ์
จารุวรรณพงศ์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคม บอกว่า “วิสาหกิจเพื่อสังคม” เป็นเครื่องมือในการออกแบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในสังคมรูปแบบใหม่ เป็นการกลับวิธีคิดเดิมคือแทนที่จะมุ่งไปที่การแก้ไขปัญหา เปลี่ยนไปมุ่งที่การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาแทนตัวอย่างเช่น บริษัทขนาดใหญ่ก็สามารถทำเรื่องเกี่ยวกับวิสาหกิจเพื่อสังคมได้ โดยอาศัยการใช้ห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ในการหนุนเสริมให้เกิดวิสาหกิจเพื่อสังคมขนาดเล็ก พร้อมสนับสนุนให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ เช่น บริษัทจำหน่ายนํ้าผลไม้ รับซื้อผลไม้จากคนในชุมชน อาจให้ราคาสูงกว่าตลาดเล็กน้อย แต่ตั้งราคาจำหน่ายเท่ากับตลาดผลลัพธ์ก็ยังมีกำไร และสามารถนำเงินทุนไปต่อยอดให้กับคนในชุมชนได้ขณะที่ ธีรดา ศุภะพงษ์ ผู้แทนองค์กรประจำประเทศไทย ศูนย์ประสานการเสวนาเพื่อมนุษยธรรมอธิบายว่า การทำโครงการทางธุรกิจบางโครงการรัฐเป็นผู้บริหารนโยบายและกำกับดูแลด้วยซํ้า จากนั้นก็มอบสิทธิแก่ภาคธุรกิจไปใช้ทรัพยากรในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง ปรากฏว่าบางกรณี การใช้ทรัพยากรนั้นก็ส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน นำไปสู่การละเมิดสิทธิของชุมชนเรียกว่าเป็นการออกแบบความสัมพันธ์ขององค์ประกอบในสังคมครอบคลุมหรือ inclusive นั่นเอง