การลงทุนในหุ้นกู้

การลงทุนในหุ้นกู้

 

ในปัจจุบัน สภาวะการลงทุนในตลาดหุ้นมีความผันผวนมากขึ้นจากผลของสงครามการค้า ทำให้ การลงทุนในหุ้นบริษัทจดทะเบียน อาจมีความเสี่ยงที่ราคาหุ้นจะปรับตัวลดลง แม้ปัจจัยพื้นฐานของบริษัทไม่เปลี่ยนแปลง  ขณะที่การลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชน ผู้ลงทุนจะยังคงได้รับผลตอบแทนสม่ำเสมอในรูปของดอกเบี้ย และได้รับเงินต้นคืนเมื่อถือจนครบกำหนดไถ่ถอน    

อย่างไรก็ตาม การที่เราซื้อหุ้นกู้บริษัทเอกชน เปรียบเสมือน เราปล่อยเงินกู้ ให้แก่บริษัทนั้นๆ  เราจึงควรมีความเข้าใจในธุรกิจที่บริษัทลงทุน  เพราะแม้แต่ธนาคารที่มีความเชี่ยวชาญ ในการปล่อยกู้ ก็ยังมีโอกาสเกิดหนี้เสียได้  ดังนั้น ผู้ลงทุนจึงควรเข้าใจว่า จะมีโอกาสที่จะเกิดการผิดนัดชำระหนี้จากการลงทุนในหุ้นกู้เช่นกัน

ที่ผ่านมา มีปัญหาเกิดขึ้น ในแวดวงหุ้นกู้ (เช่น กรณี EARTH) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) จึงได้มีการออกกฎเกณฑ์ เพื่อจัดระเบียบใหม่ เช่น 

  • มีตัวแทนผู้ถือหุ้นกู้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของนักลงทุน
  • ให้นักลงทุนทุกคนรู้ข้อมูลเท่าเทียมกัน
  • ให้ผู้แนะนำการลงทุน คัดเลือกตราสารที่จะนำมาเสนอขาย โดยคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมกับความเสี่ยงที่ผู้ลงทุนรับได้

ก่อนจะลงทุนในหุ้นกู้ เราสามารถศึกษาข้อมูลต่างๆ ได้จากเวปไซต์ของสมาคมตราสารหนี้ไทย และกลต. โดยมีหัวข้อสำคัญ ได้แก่

  1. บริษัทผู้ออกหุ้นกู้ จะนำเงินครั้งนี้ไปใช้ทำอะไร?
  2. ผลตอบแทน น่าดึงดูดหรือไม่? หรือ เปรียบเทียบกับบริษัทอื่นๆ ในตลาด
  3. บริษัทประกอบธุรกิจอะไร รายได้หลักมาจากไหน?
  4. ประวัติบริษัท ประสบการณ์ผู้บริหาร
  5. บริษัท จะนำเงินจากแหล่งใด มาชำระคืน /สามารถชำระหนี้ในอนาคตได้หรือไม่?
  6. พิจารณางบการเงิน และที่สำคัญ คือ งบกระแสเงินสด(ซึ่งจะสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ ได้ดีกว่า)
  7. มีสินทรัพย์ค้ำประกัน หรือ มีผู้ค้ำประกัน การออกหุ้นกู้ครั้งนี้ หรือไม่? (หากมี จะยิ่งดี)
  8. อันดับความเสี่ยงของบริษัท และ หุ้นกู้ ควรเลือกตราสารหนี้ที่มีความน่าเชื่อถือในอันดับที่ลงทุนได้ (Investment Grade) ขึ้นไป

     (ซึ่งอาจจะไม่เท่ากัน เช่น กรณีหุ้นกู้ที่ไม่กำหนดระยะเวลาไถ่ถอน (Perpetual Bond) จะมีอันดับความเสี่ยงต่ำกว่าอันดับความเสี่ยงของบริษัท เพราะตราสารมีลักษณะกึ่งหนี้ กึ่งทุน มีความเสี่ยงมากกว่า หุ้นกู้ปกติ ที่มีระยะเวลาไถ่ถอนแน่นอน)

ข้อดีหุ้นกู้      

1.  มีกระแสเงินสดรับที่แน่นอน โดยได้รับดอกเบี้ยตามงวดการจ่าย (3 เดือน ,6 เดือน ฯลฯ) 

2.  ได้รับเงินต้นคืน เมื่อครบกำหนดอายุตราสาร

ข้อเสียหุ้นกู้   

1. ต้องศึกษาข้อมูลมาก   

2. ต้องซื้อในจำนวนเงินคราวละมาก ๆ (ส่วนใหญ่ จะกำหนดขั้นต่ำ เช่น หนึ่งแสนบาท หรือ หนึ่งล้านบาท)

3. การยืดอายุการจ่ายชำระ มีโอกาสเกิดขึ้นได้

4. การผิดนัดชำระหนี้ มีโอกาสเกิดขึ้นได้

5. สภาพคล่องต่ำ เนื่องจาก หากต้องการขายก่อนครบกำหนด ต้องขายในตลาดรอง และอาจขายได้ราคาน้อยกว่าเงินลงทุนเริ่มแรก

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการลดข้อจำกัดดังกล่าว ปัจจุบัน สถาบันการเงินได้จัดตั้ง หน่วยงานที่เป็นกลางที่ได้คัดเลือกหุ้นกู้ ที่มีความน่าเชื่อถือ ฐานะการเงินดี และได้มีการพิจารณาความเสี่ยง และผลตอบแทนที่เหมาะสมให้กับผู้ลงทุน

TIPS:
ปัจจุบัน ยังมีสถาบันการเงิน ที่ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเพื่ออำนวยความสะดวกกับลูกค้า ให้สามารถส่งคำสั่งซื้อขายหุ้นกู้ตลาดรอง ผ่าน Mobile Application ได้ทุกที่ ทุกเวลา และมีบริการแนะนำหุ้นกู้ที่น่าสนใจลงทุนอีกด้วย