โครงการ 'หิ่งห้อย' ยกระดับ CSR สู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์

โครงการ 'หิ่งห้อย' ยกระดับ CSR สู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์

 

"การแข่งขันและความยั่งยืนของธุรกิจทั้งปัจจุบันและในอนาคตขึ้นอยู่กับคน  ดังนั้นเราจึงต้องเก็บรักษาคนดีที่มีความรู้ ความสามารถ  ต้องทำให้องค์กร น่าอยู่ น่าทำงาน เพื่อให้พนักงานมีความสุข "

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน)  (CKPower) กล่าวว่า โลกยุคใหม่ให้ความสำคัญกับ "ภาพลักษณ์องค์กร" คือไม่มุ่งหวังแต่กำไรเพียงอย่างเดียว ต้องสร้างประโยชน์ตอบแทนคืนสู่สังคมด้วย 

โครงการ 'หิ่งห้อย' ยกระดับ CSR สู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์

แนวคิดดังกล่าวอาจดูเหมือนเป็นโจทย์ที่ท้าทาย  ทว่า ซีเค พาวเวอร์  ได้พบกับแนวทางที่ทำให้เรื่องของ "ความดี" กับ  "คน" มาบรรจบพบกันโดยบังเอิญ ทั้งยังสร้างผลดีอย่างคาดไม่ถึง  ผ่านโครงการ CSR ที่ชื่อว่า "หิ่งห้อย"

ซีเค พาวเวอร์ ก่อตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานประเภทต่างๆ และได้รวมธุรกิจโรงไฟฟ้าภายใต้ ช.การช่างทั้งหมดเข้ามา จากนั้นก็มีการปรับโครงสร้างองค์กรหรือ Reengineering ทั้งนำระบบบริหารสมัยใหม่ก็คือ  Share Service Center เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและลดต้นทุนต่างๆ ขณะที่ช่องว่างระหว่างพนักงานที่มีอยู่กว่า 300 คนยังคงมีอยู่

"แต่ละโรงไฟฟ้าต่างก็มีพนักงานของตัวเอง และก็ตั้งอยู่กันคนละพื้นที่ ทั้งโรงไฟฟ้าในไทยและในลาว  ในไทยมีทั้งที่กรุงเทพฯ และอยุธยา ส่วนในลาวก็มีทั้งที่ไซยะบุรี และน้ำงึมอีก  ก็ยังแบ่งเป็นพนักงานที่ทำงานในสำนักงาน และในโรงไฟฟ้าอีก

โครงการ 'หิ่งห้อย' ยกระดับ CSR สู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์

ทำโครงการหิ่งห้อยปีแรก  ครั้งนั้นมีพนักงานลงพื้นที่เพียง 30 คน แต่กลับได้เสียงตอบรับที่ดี ทั้งสะท้อนให้เห็นว่าการทำความดีโดยผ่านความยากลำบากด้วยกันนั้นสามารถทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกันให้มาสนิทสนมกลมเกลียวกันได้อย่างน่าอัศจรรย์

"โครงการหิ่งห้อยปีแรก เกิดจากคนรู้จักมาปรึกษาว่าจะไปทำเครื่องปั่นไฟฟ้าเล็กๆให้กับชาวบ้านที่อยู่บนดอย เขาเห็นว่าบริษัทของเราทำไฟฟ้าพลังน้ำจึงมาขอคำแนะนำ แต่ทำไปทำมาก็เห็นว่าบริษัทเรามีวิศวกรที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วก็เลยส่งวิศวะและพนักงานแผนกอื่น ๆ ขึ้นไปช่วยทำเครื่องปั่นไฟจากธารน้ำเล็กๆ แล้วต่อสายไฟเพื่อไปให้คนในหมู่บ้านบนดอย ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีไฟใช้กัน"

โครงการ 'หิ่งห้อย' ยกระดับ CSR สู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์

ทำไมชื่อหิ่งห้อย? เพราะซีเค พาวเวอร์เป็นธุรกิจพลังงาน และเปรียบพนักงานเป็นเหมือนตัวหิ่งห้อย ซึ่งพนักงานทุกคนจะนำเอาความรู้ที่มีอยู่ไปช่วยเหลือชุมชน ผู้คนในพื้นที่ห่างไกล  โดยปริยายเมื่อหิ่งห้อยไปอยู่ที่ใดที่ตรงนั้นก็จะมีแสงสว่างเกิดขึ้น

ผมเห็นว่าผลจากการทำกิจกรรมโครงการหิ่งห้อยในปีแรก ทำให้พนักงานเราที่อยู่คนละที่สนิทกันมากขึ้น   เกิดความสามัคคีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด   พอมาประกอบกับช่วงที่เราจะมีการปรับโครงสร้างองค์กรพอดี  เลยเป็นที่มาว่าโครงการหิ่งห้อยในปีที่ 2 และ 3 เราจึงนำแนวคิด   HR   เรื่องการสร้างค่านิยมองค์กรหรือ Core Value เข้ามาร่วมด้วย     โดยต้องการให้พนักงานได้ซึมซับและเข้าใจเรื่องค่านิยมองค์กรผ่านการลงมือทำจริงในกิจกรรมโครงการหิ่งห้อย

โครงการ 'หิ่งห้อย' ยกระดับ CSR สู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์

ซึ่งก็ได้ทั้งเรื่องจริยธรรมการทำงาน    เรื่องความเป็นทีมเวิร์ค    อันนี้สำคัญมากเพราะการทำโครงการใหญ่ๆ   ต้องอาศัยความร่วมมือจากพนักงานหลายส่วนจึงจะสำเร็จได้     เรื่องการถ่ายทอดความรู้  อย่างเวลาไปสร้างโรงเรียนบนดอย  เราไม่ได้แบ่งหน้าที่ตามแผนกเหมือนเวลาอยู่ที่ออฟฟิต     แต่เป็นหน้าที่ตามสมัครใจ  เพราะฉะนั้น  พนักงานบัญชีอาจจะต้องมาเรียนรู้ การผสมปูนจากวิศวกร  มันก็เกิดการถ่ายทอดความรู้ซึ่งกันและกันแบบพี่สอนน้อง    เรื่องความยืดหยุ่นการปรับตัวตามสถานการณ์  ก็ได้เรียนรู้  เพราะโครงการหิ่งห้อยจะมีเรื่องสภาพหน้างาน   สภาพอากาศ  สภาพพื้นที่ที่เราต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพื่อให้ทำงานได้  รวมถึงการปรับตัวในแง่การเปิดรับความคิดเห็นของผู้อื่นน  เปิดรับไอเดียใหม่ๆ  มาปรับใช้  และอีกเรื่องที่นำไปสู่การสร้างค่านิยมองค์กรที่ดี   ก็คือ  การสร้างความรู้สึกความเป็นเจ้าของงาน  การไปร่วมลำบากด้วยกัน  โดยมีเป้าหมายเดียวกัน    และสุดท้ายพอเราได้เห็นผลสำเร็จที่ทำให้ชาวบ้านที่เขาอยู่ในพื้นที่มีชีวิตเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น  ทำให้ทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่ง   ซึ่งหากในการทำงานจริง  ความรู้สึกของการเป็นเจ้าของงานอยู่ในดีเอ็นเอของพนักงาน  ก็จะทำให้เค้าทำงานแบบมุ่งผลสำเร็จ และรับผิดชอบกับผลการปฏิบัติงานด้วยความเต็มใจ

โครงการ 'หิ่งห้อย' ยกระดับ CSR สู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์

นางมนฤดี สรรค์วนิชพัฒนา ผู้จัดการอาวุโส  แผนกพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์ กล่าวว่า โครงการหิ่งห้อยช่วยปลูกฝังวัฒนธรรมองค์กรทุกข้อโดยอัตโนมัติ  และพิสูจน์ให้เห็นว่าพนักงานให้ความร่วมมือ  ทุกคนยกมือขอเป็นอาสาสมัคร ใครอยากขัดส้วม ใครอยากทำครัวก็ยกมืออาสาโดยไม่มีการบังคับ

"แต่ข้อที่ได้มากๆ ก็คือ Learning&Coaching โครงการนี้ให้พนักงานมีโอกาสทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด  คนทำบัญชีก็ลองไปผสมปูน ฉาบปูนซึ่งจะมีพนักงานที่ทำเป็นมาช่วยสอนให้ เกิดกลายเป็นมิตรภาพและมีความสนุกที่หาไม่ได้ง่ายๆ มันเป็นผลลัพธ์ที่สามารถเห็นและจับต้องได้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องวัดเป็นตัวเลข"

สำหรับโครงการหิ่งหอยปีที่ 3 ปีล่าสุดนั้น  ก็ได้เสียงตอบรับจากพนักงานแบบถล่มทลาย คือมีพนักงานของซีเค  พาวเวอร์ตั้งแต่ระดับ MD, DMD,AMD และพนักงานทุกสายงานกว่า 200 คน ยกมือขออาสาไปร่วมกันสร้างอาคารเรียนประหยัดพลังงาน  ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแม่มุใน  บริษัท ซีเค   พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) อุปถัมภ์ ตั้งอยู่ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่

โครงการ 'หิ่งห้อย' ยกระดับ CSR สู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซีเค พาวเวอร์

"ในฐานะ MD ผมเองก็ขออาสาไปด้วยตัวเอง เพราะกิจกรรมนี้ทำให้ผมได้เจอ พนักงานแทบจะทุกคน ได้จำชื่อเล่นรายละเอียดปลีกย่อยพวกเขาได้มากขึ้น เพราะเราลงลุยทำงานด้วยกัน พอเสร็จงานผมก็เล่นกีตาร์ร้องเพลงด้วยกันกับพนักงาน ถือเป็นการเชื่อมความผูกพันของเราให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น"

นายธนวัฒน์ ปิดท้ายว่า   โครงการหิ่งห้อยเป็นสิ่งที่เราตั้งใจอยากจะทำตอบแทนชุมชนแบบยั่งยืน   ขณะเดียวกัน   โครงการนี้ก็ทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องการให้  สร้างความสามัคคี  กลมเกลียวกันมากยิ่งขึ้น  และ ยังช่วยทำให้เกิดค่านิยมที่นำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีความสุข