ปรับกลยุทธ์ดึงทุนเข้าอีอีซีรับอานิสงส์สงครามการค้า

ปรับกลยุทธ์ดึงทุนเข้าอีอีซีรับอานิสงส์สงครามการค้า

 

สงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ครุกรุ่นมาตั้งแต่ต้นปี แต่ละฝ่ายต่างตั้งกำแพงภาษีสินค้านำเข้าระหว่างกัน หลายประเทศหวั่นไหวและกังวลว่าจะกระทบกับเศรษฐกิจโลก ความขัดแย้งนี้ได้ถูกหยิบยกมาเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สะท้อนการตัดสินใจของนักลงทุน

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้วิเคราะห์ผลกระทบของสงครามการค้าว่า จะทำให้ภูมิภาคอาเซียนได้รับอานิสงส์จากการเคลื่อนย้ายการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนจากจีนที่จะเข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น เพื่อกระจายความเสี่ยงในประเทศตัวเองและหลีกเลี่ยงมาตรการทางภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งมีแนวโน้มจะเพิ่มความรุนแรงและทำให้ไม่สามารถส่งออกสินค้าเข้าสหรัฐฯได้ ล่าสุดพบว่าตัวเลขการลงทุนโดยตรง(เอฟดีไอ) 9 เดือน (มกราคม – กันยายน 2561) จากจีนและฮ่องกงในไทย มีมูลค่ารวม 31,700 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 85 และมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 23ของเอฟดีไอทั้งหมด จากเดิมอยู่ที่ระดับร้อยละ 10

โดยในช่วง 3 – 4 ปีที่ผ่านมาเอฟดีไอจากจีนอยู่ในลำดับ 2 รองจากประเทศญี่ปุ่น สำหรับอุตสาหกรรมของจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยส่วนใหญ่จะอยู่ในภาคการผลิต ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร ยานยนต์และชิ้นส่วน ยางล้อรถยนต์ เคมีภัณฑ์รวมถึงภาคบริการ ได้แก่ ธุรกิจการท่องเที่ยว ธุรกิจดิจิทัล ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และกิจการการค้าระหว่างประเทศ

ขณะที่ทิศทางการลงทุนของไทยในปี 2562ยังคงมีเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักลงทุนจากหลายประเทศรวมถึงนักลงทุนจากจีน กลยุทธ์ที่บีโอไอนำมาใช้ในปีหน้าจะไม่ใช่เพียงการประชาสัมพันธ์ว่า อีอีซี เป็นแหล่งรองรับการลงทุนแต่จะลงลึกในรายละเอียดเกี่ยวกับความคืบหน้าของอีอีซีทุกด้าน ตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน โครงสร้างที่จะรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น อีอีซีไอ และดิจิทัลพาร์คตลอดจนความพร้อมด้านบุคลากรที่จะมารองรับการลงทุนในทุกอุตสาหกรรมโดยอุตสาหกรรมที่บีโอไอให้ความสำคัญเป็นพิเศษจะอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่เรียกว่าเป็นอุตสาหกรรม New S-Curve ได้แก่ กลุ่มเทคโนโลยีชีวภาพกลุ่มดิจิทัลกลุ่มหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ  กลุ่มอากาศยานและชิ้นส่วนและกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์

“ทั้ง 5 อุตสาหกรรมนี้ บีโอไอไม่ต้องการให้เกิดการลงทุนเพียงแค่ในเชิงปริมาณเท่านั้น  แต่จะพิจารณาถึงประโยชน์ที่เกี่ยวเนื่องกับการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมโดยรวมด้วย ที่สำคัญบีโอไอต้องทำงานหนักขึ้น โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานอยู่ในประเทศเป้าหมายหลัก  เช่น ญี่ปุ่น จีน เกาหลีใต้ ไต้หวัน รวมไปถึงยุโรป และอเมริกา  โดยต้องพยายามสร้างเครือข่ายความร่วมมือใหม่ๆ กับองค์กร สถาบัน หรือสมาคมหลักของอุตสาหกรรมเป้าหมายที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญของการดึงการลงทุนที่มีคุณภาพมาสู่ประเทศไทย” นายนฤตม์ กล่าว

ทั้งนี้ นักลงทุนจีนต้องการใช้ไทยเป็นฐานของอาเซียน เพราะไทยมีโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคที่พร้อม มีอุตสาหกรรมสนับสนุนที่แข็งแกร่ง มีแรงงานที่มีคุณภาพ และมีอีอีซีเป็นเมืองแห่งอนาคตที่เน้นการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เชื่อมโยงกับนโยบายเส้นทางสายไหมใหม่ของจีน หรือ One Belt One Road โดยมีเป้าหมายสอดคล้องต่อเนื่องกัน การเชื่อมโยงสองโครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างสูงต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของทั้งไทยและจีนต่อไป