Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

Energy Talk เปิดโลกพลังงานหมุนเวียน

เทคโนโลยีของแผงโซลาร์เซลล์และวิธีการติดตั้งที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ งบประมาณ และภูมิศาสตร์

โซลาร์ฟาร์มแบบ “หมุนตามตะวัน”

โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศไทย ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็กจะมีการเลือกเทคโนโลยีของแผงโซลาร์เซลล์และวิธีการติดตั้งที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับขนาดของโครงการ งบประมาณ และลักษณะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ โดยแผงโซลาร์เซลล์ที่นิยมใช้ แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ แผงแบบผลึกรวม(Polycrystalline) และแผงแบบฟิล์มบาง (Thin Film)

สำหรับการติดตั้งที่ได้รับความนิยม ได้แก่ แบบอยู่กับที่ (Fixed System) ซึ่งเป็นการติดตั้งแผงแบบระบุองศาและตำแหน่งอย่างชัดเจน เพื่อให้รับความเข้มของแสงอาทิตย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และแบบหมุนตามดวงอาทิตย์ (Tracking System) ที่ติดตั้งให้แผงโซลาร์เซลล์สามารถหมุนตามดวงอาทิตย์ เพื่อรับความเข้มของแสงได้สูงสุดตลอดวัน

ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่นำเทคโนโลยีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบหมุนตามดวงอาทิตย์มาใช้แล้ว โดยโรงไฟฟ้าเอกชน 4 แห่งแรกของประเทศไทยที่นำระบบหมุนตามดวงอาทิตย์มาใช้ ได้แก่ โรงไฟฟ้า “เอสพีพี ทู” จ.สระบุรี “เอสพีพี ทรี” จ.ศรีสะเกษ “เอสพีพี โฟร์” อยู่รอยต่อระหว่าง จ.ศรีสะเกษ และ จ.อุบลราชธานี และ “เอสพีพี ไฟว์”จ.ร้อยเอ็ด รวมกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ ซึ่งทั้งหมดดำเนินงานโดยเอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้ง 4 แห่งนี้ จ่ายเข้าสู่ระบบจำหน่ายของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าประเภท Non-Firm

หลักการทำงานของการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบหมุนตามดวงอาทิตย์นี้ จะอาศัยอุปกรณ์ควบคุมอัตโนมัติที่มีลักษณะเป็น “แขนกล” ทำหน้าที่หมุนแผงโซลาร์เซลล์ โดยอาศัยการทำงานของซอฟต์แวร์ที่เก็บข้อมูลความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์ไว้ ซึ่งโปรแกรมนี้จะตั้งองศาการหันของแผงโซลาร์เซลล์ตามมุมที่รับแสงได้มากที่สุดในแต่ละช่วงเวลา และควบคุมตำแหน่งของแผงให้หมุนไปตามการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์แบบอยู่กับที่ประมาณ 20%