นำร่อง 428 หน่วยบริการ เบิกทางยกระดับบริการปฐมภูมิประเทศไทย

นำร่อง 428 หน่วยบริการ เบิกทางยกระดับบริการปฐมภูมิประเทศไทย

หน่วยบริการ 428 แห่งที่จะนำร่องยกระดับการให้บริการในระบบปฐมภูมิตามแนวทางของ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562

 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้จัดประชุมชี้แจงแนวทางและหลักเกณฑ์การขอรับค่าบริการสาธารณสุขเพิ่มเติมสำหรับการบริการระดับปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ปีงบประมาณ 2564 เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2563 ที่ผ่านมา  เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจกับหน่วยบริการ 428 แห่งที่จะนำร่องยกระดับการให้บริการในระบบปฐมภูมิตามแนวทางของ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562

 

การนำร่องยกระดับครั้งนี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาระบบสุขภาพของประเทศไทย เนื่องจากจะแสดงให้สำนักงบประมาณเห็นว่าระบบบริการปฐมภูมิที่ประเทศไทยต้องการเห็นมีหน้าตาอย่างไร ประชาชนได้ประโยชน์จากระบบนี้อย่างไร ดังนั้น หากสามารถดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม ก็จะมีส่วนสำคัญในการพิจารณาจัดสรรงบประมาณลงไปในระบบปฐมภูมิทั้งระบบในอนาคต

 

นพ.จักรกริช โง้วศิริ รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้มี พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ 2562 ออกมาบังคับใช้แล้ว ทำให้มีความชัดเจนว่าระบบสุขภาพภายใต้กฎหมายนี้ควรเป็นอย่างไร หัวใจสำคัญก็คือให้ประชาชนลงทะเบียนกับทีมหมอครอบครัวชัดเจน มีระบบข้อมูลสุขภาพที่เชื่อมโยงกัน และทำให้การดูแลในระดับปฐมภูมิเชื่อมโยงกับระบบสุขภาพอื่นๆเพื่อให้ประชาชนได้รับการดูแลตั้งแต่ในชุมชนไปจนถึงในโรงพยาบาล

 

นพ.จักรกริช กล่าวอีกว่า ระบบบริการปฐมภูมิในอนาคตนอกจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) แล้วยังมีคลินิกเอกชนอื่นๆที่มีศักยภาพให้บริการได้ เช่น คลินิกทันต  กรรม คลินิกกายภาพบำบัด การไปรับยาที่ร้านยา หรือโรงพยาบาลส่งยาให้ผู้ป่วยทางไปรษณีย์ รวมทั้งระบบ telehealth, telemedicine ต้องมองว่าทำอย่างไรจะดึงทรัพยากรเหล่านี้เข้ามาร่วมให้บริการ ซึ่งหลักการของ สปสช.คือต้องทำให้เกิดการจัดเครือข่ายในระบบบริการปฐมภูมิ เช่น มีคลินิก มีร้านยาและคลินิกทันตกรรม อยู่ในเครือข่าย ประชาชนสามารถไปรับบริการที่ไหนก็ได้ในเครือข่ายนั้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องปรับมองมุมและวิธีการหรือแม้แต่แผนการลงทุน ต่อไปทีมให้บริการปฐมภูมิอาจไม่ต้องมียาหรือห้องแล็บก็ได้ มีแค่ห้องตรวจ ห้องเจาะเลือดหรือห้องทำแผลเล็กๆ หรือแม้แต่โรงพยาบาล ต่อไปอาจดูแลเฉพาะคนไข้กลุ่ม acute แล้วส่งต่อผู้ป่วยโรคเรื้อรังไปรับการดูแลต่อเนื่องในชุมชน เป็นต้น

 

"ในปี 2564 เราต้องการพื้นที่นำร่องที่เป็นต้นแบบหน่วยบริการปฐมภูมิตามหลักคิดข้างต้น ซึ่งมี 428 หน่วยบริการที่จะนำร่อง เราต้องการผลลัพธ์ว่าระบบปฐมภูมิที่แท้จริงๆ ประชาชนจะได้รับอะไร ถ้าปีนี้ทำงานได้ดี ปีหน้าก็จะขยายผลได้มากขึ้น ส่วนในเรื่องการจัดสรรงบประมาณ สปสช. จะพยายามให้จัดสรรในลักษณะที่ทำให้เกิด impact ผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน  ในการทำงานต่อไปอาจจะเริ่มบูรณาการเป็นการจ่ายแบบ service package รวมทั้งในพื้นที่ก็อยากให้ใช้ศักยภาพของกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับพื้นที่ให้เข้ามาทำงานร่วมกันด้วย ยิ่งกรณีโควิด-19 ทำให้เห็นชัดเจนมากว่าเมื่อระบบบริการปฐมภูมิทำงานร่วมกับท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ฯลฯ ก็จะทำให้ระบบสาธารณสุขเข้มแข็งมากขึ้น"นพ.จักรกริช กล่าว

 

ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการปฐมภูมิ สปสช. กล่าวว่า หน่วยบริการปฐมภูมิที่ขึ้นทะเบียนในระบบ สปสช. 11,851 แห่ง เป็นหน่วยที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1,921 และได้รับเลือกให้เป็นหน่วยนำร่องยกระดับบริการสุขภาพปฐมภูมิ 428 แห่ง ซึ่งทั้ง 428 แห่งนี้จะเป็นหน่วยที่จะพิสูจน์ฝีมือว่าระบบปฐมภูมิที่มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวเป็นอย่างไร ส่วนการจัดสรรงบประมาณในพื้นที่นำร่องนี้จะจัดสรรเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัวปกติ โดยแบ่งเป็นกทม. 44 ล้านบาท และต่างจังหวัด 214 ล้านบาท ส่วนศักยภาพของหน่วยบริการที่มุ่งหวังอยากจะเห็นนั้น  ต้องมีการขึ้นทะเบียนหมอประจำครอบครัวคู่กับประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ มีการดูแลกลุ่มเป้าหมายอย่างน้อย 3 กลุ่มคือ หญิงตั้งครรภ์ เด็กแรกเกิดถึง 1 ปี และกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน

 

"สำหรับการเบิกจ่ายมี 2 รอบ รอบแรกไม่เกิน 25% ในอัตราคงที่ (Fixed Rate) ไม่เกิน 125,000 บาทให้แก่หน่วยบริการที่ผ่านเกณฑ์ศักยภาพภายในไตรมาส 1 ซึ่งเกณฑ์ก็จะประกอบด้วย 1.จัดทำบัญชีรายชื่อหมอประจำครอบครัวคู่กับประชาชนในพื้นที่ และ 2. จัดทำทะเบียนรายชื่อประชาชนกลุ่มเป้าหมายทั้ง 3 กลุ่ม ส่วนการจ่ายรอบที่ 2 จะจ่ายไม่น้อยกว่า 75% เหมาจ่ายตามเกณฑ์คุณภาพ โดยงวดแรกจ่ายภายในไตรมาส 2 ใช้ผลงานบริการ 5 เดือนระหว่าง ต.ค. 2563-ก.พ. 2564 และงวด 2 จ่ายภายในไตรมาส 4 ใช้ผลงานบริการ 9 เดือนระหว่าง ต.ค.2563-มิ.ย. 2564" ภก.คณิตศักดิ์ กล่าว

 

ขณะที่ นพ.ประสิทธิ์ชัย มั่งจิตร รองผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ระบบปฐมภูมิคือระบบที่จะดูแลตั้งแต่การรักษา ฟื้นฟู ส่งเสริม ป้องกันโรค และดูแลปัจจัยตัวกำหนดสุขภาพ ซึ่งถือเป็นขอบเขตการทำงานที่กว้างมาก นโยบายในเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกที่ สธ. ยกขึ้นมาจัดการ อย่างไรก็ดี ที่สำคัญคือหน่วยบริการปฐมภูมิจะต้องทำให้ประชาชนรู้จัก มีการจัดบริการที่ดีขึ้นกว่าเดิม ถ้าทำได้ก็จะทำให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธามารับบริการ

 

สำหรับเป้าหมายตัวชี้วัดในการนำร่องยกระดับบริการปฐมภูมิในครั้งนี้ จะมีเกณฑ์ผลลัพธ์คุณภาพบริการประกอบด้วย 1.กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ต้องได้รับการฝากครรภ์ครั้งแรกภายใน 12 สัปดาห์ ไม่น้อยกว่า 80% 2.กลุ่มเด็กอายุครบ 1 ปี ต้องได้รับวัคซีน MMR1 ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 95% และ 3.กลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน มีค่า HbA1C ครั้งสุดท้ายน้อยกว่า 7mg% มากกว่า 50% ถือว่าเป็นเกณฑ์ที่มีเป้าหมายไม่มากนัก เชื่อว่าไม่เกินความสามารถที่จะทำได้ แต่ขอให้ทำจริงจัง ทำให้ประชาชนเห็นชัดเจนว่าเมื่อมีหมอครอบครัวลงไปดูแลสุขภาพแล้วผลเป็นอย่างไร

 

"แนวทางปี 2564 ต้องการเพิ่มจำนวนหน่วยบริการปฐมภูมิมากขึ้น แต่เราต้องการผลลัพธ์ที่เป็นตัวนำให้เห็นความสำเร็จ  ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหน่วยบริการทั้ง 428 แห่งนี้ที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในการทำงาน ถ้าทำได้ดี ต่อไปการจัดสรรงบประมาณก็อาจเป็น service package ลงไปที่หน่วยบริการโดยตรง ทำให้การทำงานง่ายขึ้น เรื่องนี้เราได้หารือกับสำนักงบประมาณและกรมบัญชีกลางแล้ว ขณะที่สำนักงานประกันสังคมก็จะมีงบด้านการส่งเสริมสุขภาพเพิ่มเติมในอนาคต ดังนั้นท่านเป็นครีมของจังหวัด ครีมของเขต ช่วงนี้มีโอกาสก็ขอให้ใช้จังหวะสร้างผลงาน ซึ่งจะช่วยปลดล็อกให้ผู้ให้บริการในระบบปฐมภูมิทั้งประเทศได้งบประมาณมากขึ้น รวมทั้งความก้าวหน้าของผู้ปฏิบัติงานและทรัพยากรอื่นๆด้วย"นพ.ประสิทธิ์ชัย กล่าว