ตามดูน้องๆ รร.ชายขอบ "ไทยราษฏร์คีรี" 

ตามดูน้องๆ รร.ชายขอบ "ไทยราษฏร์คีรี" 

ตามดูน้องๆ รร.ชายขอบ "ไทยราษฏร์คีรี" จากเลี้ยงไก่ไข่สู่ทักษะอาชีพและการจัดการเชิงธุรกิจ ครึ่งหนึ่งเป็นเด็กชาวเขาชนเผ่าต่างๆ     

    
        
ห่างจากตัวเมืองจังหวัดตาก ออกไปประมาณ 70 กิโลเมตร  เป็นที่ตั้งของ"โรงเรียนไทยราษฎร์คีรี" ตำบลช่องแคบ อำเภอพบพระ  โรงเรียนขนาดกลางที่มีจำนวนนักเรียน  807 คน ครูและบุคลากรทางการศึกษา  42 คน  จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล1 จนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่  3 นักเรียนครึ่งหนึ่งเป็นเด็กชาวเขาชนเผ่าต่างๆ  เช่น พม่า กะเหรี่ยง มอญ และม้ง  ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ปกครองมีฐานะยากจน 
 
โรงเรียนไทยราษฎร์คีรี  ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน เมื่อปี 2560 โครงการภายใต้ความร่วมมือของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)  มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่ดำเนินการร่วมกันมาตั้งแต่ปี  2532 ช่วยบรรเทาปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชน  ด้วยการส่งเสริมให้เข้าถึงการบริโภคไข่ไก่ทีเป็นโปรตีนคุณภาพ   จนถึงปัจจุบัน มีพันธมิตรที่ร่วมสนับสนุนโครงการ ฯ อาทิ   บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) และ หอการค้าญี่ปุ่น- กรุงเทพฯ (JCC)  ซึ่งโรงเรียนไทยราษฎร์คีรี เป็นโรงเรียนลำดับที่ 662 จากทั้งหมด  855  โรงเรียนทั่วประเทศที่เข้าร่วมโครงการ  
 
จากปี  2560 ปีแรกที่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนแม่ไก่ 300 ตัวจากซีพีเอฟ  รวมทั้งมีการสร้างโรงเรือนมาตรฐานพร้อมอุปกรณ์  อาหารไก่  วัคซีน ให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย พร้อมกับส่งผู้เชี่ยวชาญของซีพีเอฟถ่ายทอดความรู้การเลี้ยงไก่ไข่ให้คุณครูและนักเรียนที่รับผิดชอบโครงการฯ   ปัจจุบันโรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่  2 อีก  300 ตัว  เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้การเลี้ยงสัตว์สู่โรงเรียนและขยายผลสู่ชุมชนต่อไป   ทำให้เกิดการเรียนรู้  และนำไปประยุกต์ใช้สู่การพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน 
 
 
นอกจากผลผลิตไข่ไก่ที่สามารถนำส่งเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เด็กนักเรียนได้รับประทานไข่ไก่ 3 มื้อต่อสัปดาห์ตามเป้าหมายของโครงการฯแล้ว   โรงเรียนส่งเสริมการจัดกิจกรรมแปรรูปผลผลิตไข่ไก่เป็นอาหารหลากหลายเมนู  สอดคล้องไปกับหลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียนที่เน้นส่งเสริมทักษะอาชีพให้กับเด็กๆ อาทิ  กิจกรรมของชุมนุมอาหารนำไข่ไก่มาแปรรูปเป็นคุ้กกี้ เค้ก เพื่อจำหน่ายในร้าน In Doi schoolshop  ร้าน INCA Coffee  ซึ่งเป็นร้านขายสินค้าและร้านเบเกอรี่ของโรงเรียน  และจำหน่ายในร้านค้าสหกรณ์ ส่งเสริมเด็กๆมีรายได้ระหว่างเรียน  เงินที่ได้รับเด็กๆ นำไปบริหารจัดการในเรื่องที่จำเป็น เช่น  การศึกษา เก็บออม  และส่งเสริมให้เด็กนักเรียนทุกคนมีสมุดเงินฝากออมทรัพย์  
 
"เมา เมา" เด็กนักเรียนชาวพม่า อายุ 19 ปี  กำลังเรียนอยู่ชั้น ม.2 ได้รับมอบหมายจากคุณครูช่วยดูแลโครงการเลี้ยงไก่ไข่  เล่าว่า  ได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่มาตั้งแต่โรงเรียนเลี้่ยงไก่รุ่นแรก หลังจากที่พี่ๆที่รับผิดชอบโครงการจบชั้น ม. 3ไปแล้ว  คุณครูจึงมอบหมายให้ผมมาช่วยดูแลโครงการฯแทน  ดีใจเพราะทำให้ผมมีรายได้ตอบแทนจากการเลี้ยงไก่ไข่เดือนละ 1,000 บาท  ผมต้องดูแลแม่ที่ป่วยทำงานไม่ได้ และน้องสาวอีก 2 คน  นอกจากนี้ โครงการนี้ ฯทำให้เด็กนักเรียนได้ทานไข่ไก่เป็นอาหารกลางวันสัปดาห์ละ  2-3 มื้อ และความรู้เรื่องวิธีการเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกต้องจากพี่ๆ ซีพีเอฟ  เช่น  สอนให้สังเกตไก่ป่วย ผมสามารถถ่ายทอดและให้คำแนะนำกับเพื่อนๆไปใช้ได้จริง

 
ด.ช.พงศกร กาบแก้ว หรือเกรซ อายุ  15 ปี  เด็กนักเรียนคนไทย กำลังศึกษาชั้น  ม. 3 เล่าว่า  โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯมีประโยชน์หลายอย่าง  ทำให้นักเรียนมีความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่  เช่น ที่บ้านผมเลี้ยงไก่บ้านไว้ และมีไก่ป่วยตาเป็นฝ้าขาว ผมได้รับคำแนะนำจากเมา เมาซึ่งมีประสบการณ์ในการเลี้ยงไก่ไข่  ให้ผมไปซื้อยามาหยอดให้ไก่ แค่สัปดาห์เดียวตาของไก่ก็กลับมาเป็นปกติ  นอกจากนี้ ในอนาคตผมอยากมีร้านเบเกอรี่ของตัวเอง จึงสนใจเรียนรู้การทำอาหาร กิจกรรมในชุมนุมอาหารของโรงเรียน  ที่นำผลผลิตไข่ไก่มาแปรรูปเป็นเมนูต่างๆ เช่น  คุ้กกี้ เค้ก เค้กกล้วยหอม ขนมปัง  และขนมดอกจอกซึ่งเป็นสูตรที่นำไข่แดงมาผสมเพื่อเพิ่มความอร่อย   ฯลฯ เป็นผลิตภัณฑ์ที่เราวางจำหน่ายที่่ร้านกาแฟ INCA Coffee  ของโรงเรียน  เด็กๆได้ฝึกทักษะอาชีพที่ตัวเองสนใจ และเรียนรู้เกี่ยวกับการทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย   เป็นความรู้ที่นำไปใช้ได้ต่อไป   
 
 
นางศิริภัสสร  ชุมภูเทพ  ผู้อำนวยการโรงเรียนไทยราษฎร์คีรี   กล่าวว่า  รู้สึกโชคดีที่ รร.ไทยราษฎร์คีรี ได้รับคัดเลือกเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน  โดยได้รับมอบโครงการและไก่ไข่  300 ตัวเมื่อปี 2560  โครงการนี้เกิดผลกับนักเรียน คือ  เด็กๆได้ทานไข่ไก่ที่สะอาด สด จากฟาร์มของเราเอง ได้ฝึกทักชีวิต ทักษะอาชีพ นอกเหนือจากทักษะวิชาการที่ทางโรงเรียนจัดให้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน   ต่อยอดทำขนมขายมีรายได้ระหว่างเรียน มีโอกาสศึกษาต่อ ชุมชนมีแหล่งเรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อประกอบอาชีพ ได้ทานไข่ไก่ที่สะอาด สด ในช่วงปิดเทอม และยังนำมาจำหน่ายแก่ชุมชน และโรงเรียนมองเป้าหมายต่อยอดโครงการไว้ คือ จะพัฒนาการเลี้ยงไก่ไข่บรรจุในรายสาระเพิ่มเติม ในหลักสูตรสถานศึกษาเพื่อให้เด็กๆทุกคนมีโอกาสได้เรียนรู้เรื่องการเลี้ยงไก่ไข่ และสร้างแรงบันดาลใจในการสร้างอาชีพในอนาคต   การเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานมาให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอ  อาทิ กรมปศุสัตว์  ที่ให้ความรู้และข้อแนะนำเกี่ยวกับการดูแลโรงเรือน การทำความสะอาด การเก็บมูลไก่  และพัฒนาสูตรขนมในการใช้ไข่ไก่มาเป็นวัตถุดิบ  สร้างความมั่นคงและยั่งยืนของการเป็นแหล่งอาหารและอาชีพแก่เด็กๆ   
 
 
ด้าน คุณครูนิชาภา  บุญประเสริฐ  คุณครูผู้รับผิดชอบโครงการฯ กล่าวว่า  โครงการเลี้ยงไก่ไข่ ฯ ทำให้เด็กๆ มีโอกาสได้เรียนรู้ทักษะการเลี้ยงไก่ การบริหารจัดการ และรู้จักรับผิดชอบ  โดยไก่ไข่ที่เลี้ยงรุ่นแรก 300 ตัว ได้รับการสนับสนุนพันธุ์ไก่และอาหารสัตว์จากซีพีเอฟ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย  โดยรายได้จากโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ในรุ่นแรก มีรายได้มากกว่า  2 แสนบาท  ปัจจุบัน โรงเรียนเลี้ยงไก่ไข่เป็นรุ่นที่สอง จำนวน 300 ตัว  ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อพันธุ์ไก่ ซื้ออาหารไก่เอง เด็กๆ จึงต้องเรียนรู้เรื่องการบริหารจัดการ การทำบัญชีรายรับ - รายจ่ายทุกๆวัน  จากการเก็บผลผลิตไข่ไก่วันละ 250 ฟอง  จัดสรรเข้าโครงการอาหารกลางวันนักเรียน วางจำหน่ายที่ร้านค้าสหกรณ์ของโรงเรียนราคาต่อแผง(30 ฟอง) 70 บาท  และอีกส่วนหนึ่งนักเรียนนำไปแปรรูปเป็นขนมต่างๆ  
 
ซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท สพฐ. และพันธมิตร  มุ่งมั่นเดินหน้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน  ส่งมอบโครงการที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงให้แก่เยาวชนและชุมชน  ไม่ใช่แค่เป้าหมายเด็กและเยาวชนได้อิ่มท้องด้วยอาหารโปรตีนคุณภาพสูงอย่างไข่ไก่ แต่ยังเป็นการเติมอาหารสมองจากโอกาสที่เด็กและเยาวชนจะได้เรียนรู้ทักษะอาชีพ และทักษะการบริหารจัดการเชิงธุรกิจอีกด้วย  ./