“เส้นไหม” ร้อยเส้นเสียงสืบตำนานคีตศิลป์แห่งสยามประเทศ

“เส้นไหม” ร้อยเส้นเสียงสืบตำนานคีตศิลป์แห่งสยามประเทศ

การใช้เส้นไหมในเครื่องดนตรีไทย พบเสียงไพเราะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เตรียมต่อยอดพัฒนาสู่การใช้เต็มรูปแบบ สืบสานตำนานคีตศิลป์ ภูมิปัญญาไทยโบราณ

 

กรมหม่อนไหมทดสอบการใช้เส้นไหมในเครื่องดนตรีไทย พบเสียงไพเราะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ เตรียมต่อยอดพัฒนาสู่การใช้เต็มรูปแบบ สืบสานตำนานคีตศิลป์แห่งสยามประเทศสู่นวัตกรรมจากภูมิปัญญาไทยโบราณ ยกระดับ “เครื่องดนตรีไทย” สู่เอกลักษณ์ อันทรงคุณค่า

เครื่องดนตรีไทย คีตศิลป์แห่งสยามประเทศ มรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา จากประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติ กำลังจะถูกยกระดับพัฒนาครั้งสำคัญ กับ การเข้ามามีบทบาทของ “เส้นไหม” อีกหนึ่งในภูมิปัญญาไทย และอยู่คู่สังคม ชุมชน และภาคเกษตรไทยมาช้านาน ซึ่งมีประวัติศาสตร์อันยาวนานเช่นเดียวกัน

ทั้งสองส่วนกำลังถูกร้อยเรียงเข้าด้วยกัน ผ่านการพัฒนาและ ต่อยอดโดยกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บนแนวทางและเป้าหมายของการ “ร้อยเส้นเสียงสืบตำนานคีตศิลป์แห่งสยามประเทศ” ยกระดับเครื่องดนตรีไทยให้มีความไพเราะและทรงคุณค่า ด้วยการใช้ “เส้นไหม” เป็นส่วนประกอบ ในเครื่องสายที่ทั้งช่วยในเรื่องของการสร้างความไพเราะ ทั้งช่วยชุมชน และเกษตรกร ให้มีปลายทางของการผลิตเส้นไหม ทั้งช่วยสืบสานตำนานยกระดับคีตศิลป์ไทย ให้มีเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ เป็นหนึ่งในเทคโยโลยี นวัตกรรม จากภูมิปัญญาไทยอย่างแท้จริง

นางนงลักษณ์ เกตุเวชสุริยา รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า  ในสมัยโบราณเครื่องดนตรีไทยที่เป็นเครื่องสายส่วนใหญ่จะใช้เส้นไหม เรื่องนี้หลายคนยังอาจไม่ทราบ เพราะคุ้นเคยกับปัจจุบันที่เน้นความสะดวกที่ใช้เป็นเส้นเอ็น โดยในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เส้นไหมไทยนอกจากนำมาถักทอให้เป็นผืนผ้าที่สวยงามแล้ว ในอดีตยังได้ใช้เส้นไหมเป็นวัสดุสำหรับทำเป็นเส้นเสียงของเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสาย  ซึ่งให้เสียงที่ไพเราะ ก้องกังวาน  เป็นเอกลักษณ์ของเครื่องดนตรีไทย  แต่เนื่องจากการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงค่านิยมของคนในปัจจุบัน ทำให้การใช้เส้นไหมเป็นเส้นสายสำหรับเครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายของไทยมีการเปลี่ยนแปลงและถูกหลงลืมไป กรมหม่อนไหม จึงได้หารือกับกรมศิลปากร และทดลองนำเส้นไหมมาทดลองใช้กับเครื่องสายในเครื่องดนตรีไทยเบื้องต้น 3 ชนิด

ในเครื่องดนตรีไทยประเภทเครื่องสาย ได้แก่ ซออู้ ซอด้วง และจะเข้ ซึ่งเบื้องต้นนำเอาพันธุ์ไหมทับทิมสยาม สาวออกมาเป็นเส้น นำมาควบเส้นและ ตีเกลียว ซึ่งการควบเส้นและตีเกลียวสำหรับเครื่องดนตรีแต่ละชนิดไม่เหมือนกัน ต่างกันไปตามประเภทเครื่องดนตรี และชนิดของเส้นเสียงในสายทุ้มและสายเอก ทั้งนี้จากการทดสอบและเปรียบเทียบกับเส้นเอ็นที่ใช้กันในปัจจุบัน โดยผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านดนตรีไทยแล้ว พบว่าเครื่องดนตรีที่ใช้เส้นไหมให้คุณภาพเสียงที่ไพเราะก้องกังวานมากกว่า    อีกทั้งให้ความรู้สึกนุ่มมือมากขึ้น ซึ่งต่อไปคาดว่าจะเริ่มนำมาทดลองใช้ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น เพื่อสรุปผลและนำมาพิจารณา พัฒนาปรับปรุงให้เหมาะสมมากยิ่งขึ้นในโอกาสต่อไป 

การนำเอาเส้นไหมมาใช้สำหรับเครื่องดนตรีไทย นอกจากจะเป็นการยกระดับความไพเราะและสร้างเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของความเป็นไทยแล้ว ยังเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและสาวไหม ให้มีรายได้ และมีอาชีพ เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิต และ ฟื้นฟูเศรษฐกิจของชุมชนได้อีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงยังเป็นการสืบสานตำนานแห่งเครื่องดนตรีไทย และไหมไทย เป็นการสนองพระราชดำริสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ด้านการอนุรักษ์และพัฒนาหม่อนไหมของไทยอีกด้วย

 

“กรมหม่อนไหมตระหนักถึงความสำคัญของคุณค่าวัฒนธรรมไทยอันเป็นมรดกของชาติ และสนับสนุนการอนุรักษ์มรดกศิลปะและวัฒนธรรมไทย จึงร่วมมือกับกรมศิลปากรในการพัฒนาองค์ความรู้ฟื้นฟู ส่งเสริมและสืบสานการใช้เส้นไหมไทยธรรมชาติเป็นวัสดุส่วนประกอบดนตรีแบบผสมผสานเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากล (วงเครื่องสาย) ตลอดจน ดนตรีไทยและดนตรีสากล ที่มีคุณค่าให้สืบทอดตลอดไป  โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูและอนุรักษ์การใช้เส้นไหมไทยธรรมชาติเป็นวัสดุส่วนประกอบดนตรีแบบผสมผสานเครื่องดนตรีไทยและเครื่องดนตรีสากล (วงเครื่องสาย) ผ่านกระบวนการผสมผสานเข้ากับวิวัฒนาการสมัยใหม่ และเป็นทางเลือกหนึ่งของเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมของไทย ที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเส้นไหมโดยนำไปเป็นวัสดุส่วนประกอบเครื่องดนตรีไทย ประเภทเครื่องสาย และสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างน่าสนใจ” รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าว

และนี่คืออีกหนึ่งในภารกิจ พันธกิจ พัฒนาต่อยอดโดยกรมหม่อนไหม ที่ฟื้นฟู เอกลักษณ์ อัตลักษณ์ของความเป็นไทย ให้กลับคืนมามีชีวิตอีกครั้ง กับ การ“ฟื้นฟูการนำเส้นไหมไทยมาใช้เป็นเครื่องสายดนตรีไทย” เป็นการ ร้อยเส้นเสียงสืบตำนานคีตศิลป์แห่งสยามประเทศ” ให้คนไทยได้ภาคภูมิใจในภูมิปัญญาแห่งบรรพชนไทยในด้านคีตศิลป์ ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน รวมถึงได้ร่วมยกระดับสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร และผู้ผลิตไหม อีกด้วย