วิธีทำตลาดออนไลน์ให้สินค้าดังและปังในยุคนี้

วิธีทำตลาดออนไลน์ให้สินค้าดังและปังในยุคนี้

เทคนิคการสร้างแบรนด์ให้ดังใน Youtube ,วิธีการขายใน shopee , lazada และ Dropship (ขายสินค้าได้แบบไม่ต้องมีสินค้าในมือ โดย ออบขวันน์ พลอยนภัส

แต่จะทำอย่างไรให้สินค้าขายปังในยุคนี้ ปิดการขายให้สนั่นในยูทูป เทคนิคการสร้างแบรนด์ให้ดังใน Youtube ,วิธีการขายใน shopee , lazada และ Dropship (ขายสินค้าได้แบบไม่ต้องมีสินค้าในมือ) ลองมาฟังไอเดียจากกูรูด้านนี้กัน

ออบขวันน์ พลอยนภัส Content Selling Coach ชื่อดัง เจ้าของคอร์สต้นฉบับ สร้างเพจให้ปัง ตังค์มาเพียบ เปิดคอร์สมาแล้ว 5 ปี 70 รุ่น สอนและให้คำปรึกษาธุรกิจมากว่า 100 แบรนด์ ประสบการณ์ Coaching กว่า 1 พันเคส เชี่ยวชาญด้านการทำคลิปวีดีโอให้ขายดี สร้างอาชีพและรายได้หลักล้าน ให้กับนักเรียนที่จบมาแล้วมากมาย แชมป์แฟนพันธ์แท้สารานุกรม และอีกหลายรางวัล เชี่ยวชาญด้านการทำโพสต์ และวิเคราะห์โฆษณา สอนซื้อโฆษณาในยูทูป เทคนิคง่ายๆ แบบทำอย่างไรใช้งบซื้อโฆษณาแค่ 2 พัน ขายได้แสนห้า

“หลายคนที่ขายของไม่ปัง สิ่งที่เห็นคือเขาใช้วิธีคิดเก่าหรือ Mindset แบบเก่าๆ ซึ่งอาจต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ต้องดูว่าลูกค้ามีความชื่นชอบอะไรจากเรา”

ออบขวันน์ หรือ อ.ออบบอกว่า ปัจจุบันเราต้องดูว่าเราอยากจะโปรโมทสินค้าด้วยช่องทางไหน จะเป็น 1 คอร์ปอเรท แบรนด์ , 2 โปรดักท์ แบรนด์ หรือ 3 Personal Brand ซึ่งในยุคนี้อยากให้มองการขายจากวิธีหลังสุดคือ Personal Brand เจ้าของมาพูดเอง หรือการขายตัวตนของเราเอง เป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจมาก วิธีนี้ทำให้ประสบความสำเร็จรวดเร็ว ตัวอย่างเช่น แม่ค้าบางคนสามารถทำไลฟ์สดขายสินค้าได้คืนละเป็นแสนก็มี

ยุคนี้จำเป็นไหมว่า ต้องเลือกขายสินค้ามีคุณภาพสูงมาก คำตอบคือ สินค้าไม่จำเป็นต้องมีควอลิตี้สูง แต่การจะประสบความสำเร็จได้ คือเราต้องรู้จักลูกค้าของเราอย่างดี เช่นการขายสินค้าให้กลุ่มสาวโรงงาน ก็จะมีความชอบในสินค้าแบบหนึ่ง หรือตลาดนักศึกษาก็ชอบสินค้าอีกแบบ นักศึกษาบางคนจับตลาดได้ถูก อายุเพียง 20 ปีก็มีเงินเก็บเป็นสิบล้านก็มี

จากวิธีการขายแบบเดิมๆ อาจต้องใช้เวลาประชุมเป็นเดือน แต่การขายแบบออนไลน์นั้น ไม่ว่าจะเป็นสินค้าอะไร ขอเพียงทดลองซื้อโฆษณาดู ถ้ามีคนตอบรับก็คือขายได้ ถ้าไม่มีคนตอบรับคือขายไม่ได้ ก็สามารถเลิกทำตลาดได้ทันที หาสินค้าใหม่ หรือสร้างโฆษณาใหม่

การขายออนไลน์ สามารถทำการรีเสริชล่วงหน้าได้ เมื่อตรงใจลูกค้า ก็ค่อยผลิตแล้วขายได้เลย คนที่ซื้อสินค้าบนออนไลน์มักชอบสินค้าถูกเป็นพิเศษ หรือได้โปรโมชั่นพิเศษ และบางครั้งสินค้านั้นต้องหาซื้อได้ยาก ยิ่งมีเป้าหมายเฉพาะ บางทียิ่งโดนใจ Niche Market เช่น จากชุดเดรสธรรมดาก็เป็น ชุดเดรสสำหรับใส่แล้วเก็บหน้าท้อง ชุดเดรสสำหรับคนอ้วน เป็นต้น

ผู้ที่จะเริ่มต้นทำตลาดบนออนไลน์ อาจจะเริ่มที่แพลทฟอร์มยอดนิยมอย่างเฟสบุ๊ก เขียนแคปชั่นให้โดน แล้วซื้อโฆษณา เพราะเฟสบุ๊กเข้าถึงลูกค้าได้เร็ว และสามารถขายได้เงินเป็นกอบเป็นกำ แต่ต้องดูสินค้าของเราว่า ลูกค้าจะตัดสินใจได้เลยทันทีไหม องค์ประกอบของการทำเพจขึ้นมาเพจหนึ่ง ควรมีความน่าเชือถือ จะสร้างผลตอบรับได้ในระยะเวลาสั้น วิธีการทำโพสต์ให้น่าเชื่อถือ ลูกค้าจะดูจากคนที่ใช้จริง อาจจะต้องให้ลูกค้าเก่าหรือแฟนคลับช่วยรีวิว ช่วยคอมเม้นท์เข้ามา เป็นต้น

ขณะที่ช่องทางขายออนไลน์อื่นๆ ยูทูปก็เป็นช่องทางขายที่ดี สามารถพรีเซ้นท์สินค้าได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีขั้นตอนการโชว์ได้ เช่นการขายอาหารเหมาะมาก สามารถรีวิวแต่ละเมนู เป็นคลิปๆ ได้เลย แค่เปิดร้านข้าวต้ม ก็ต้องอย่าลืมทำคลิปผัดผักบุ้ง เป็นต้น ไม่จำเป็นว่าคนทำคลิปต้องเป็น Youtuber แค่เราเป็นเจ้าของกิจการจริง เรามีประสบการณ์จริง ก็ทำคลิปให้น่าเชื่อถือได้ แต่ที่สำคัญท้ายสุดของคลิปในยูทูปต้องอย่าลืมให้ช่องทางติดต่อ จะต้องบอกว่าอยู่ที่ไหนด้วย หลายคนลืมเรื่องนี้ไปทำให้ลูกค้าติดต่อไม่ได้

ไม่ว่าจะเป็นช่องทางขายแบบไหน เจ้าของสินค้าก็ยังชอบคอนเท้นท์แบบปิดการขาย คอนเท้นท์ปิดการขายนั้น อย่าลืมว่า 3 บรรทัดแรกต้องโดน ทำให้คนรู้สึกว่าเขาจะได้อะไร เช่นฤดูกาลลดราคา ลดพิเศษ ถูกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว เอาราคามาเล่น หรือผลลัพธ์สุดท้ายที่ลูกค้าต้องการ เช่นโรงแรมเรามีจุดเด่นเตียงนุ่มกว่าใคร มีมุมถ่ายเซลฟีสวย

คนบนโซเชี่ยลจะชอบอะไรเป็นที่หนึ่ง เป็นที่สุด เราต้องดึงเอกลักษณ์ของเราขึ้นมา หรือการลดแลกแจกแถม มา 4 จ่าย 2 อะไรแบบนี้เป็นต้น ดังนั้นควรจำไว้ว่า ผลลัพธ์ที่ลูกค้าจะได้ควรเขียนให้อยู่ในคอนเท้นท์ 3 บรรทัดแรก

ข้อดีของการโปรโมทบนโซเชี่ยล มีเดีย อ.ออบกล่าวว่าคือการลงทุนถูก ได้ผลยาวนาน บางทีแค่ยิงวันละ 100 ก็ได้ลูกค้าจำนวนมากก็มี วิธีการทำตลาดว่าสินค้าเราเหมาะกับโซเชี่ยลแบบใด ก็ต้องทดลองดู

แต่อย่างที่เกริ่นไปคือ เราต้องทำเพอร์ซันนอล แบรนด์ดิ้ง ให้คนเห็นตัวตนของเรา อาจจะมีแขกรับเชิญก็ได้ ทำเฟสบุ๊ก Live บนยูทูปก็ได้ แต่บนยูทูปต้องมีผู้ติดตามเกิน 1 พันคนขึ้นไป การทำไลฟ์สดจะทำให้ได้ทราฟฟิค ได้ลูกค้าตามมา

ส่วนการซื้อโฆษณาให้ได้ผลบนเฟสบุ๊กนั้น เราต้องแสดงตัวตัวตนชัดเจน ให้เฟสบุ๊กเห็นว่าเราทำธุรกิจ องค์ประกอบของโฆษณาที่คนชอบ เช่น อาจจะแสดงสินค้าให้มีหลายๆ ภาพ เป็นอัลบั้ม ภาพมีสีสันสดใส ใช้เทคนิคถ่ายภาพกฎ 9 ช่อง แคปชั่นประกอบบ้างเล็กน้อย ให้ความรู้หรือแนะนำ วิธีเตรียมตัวต่างๆ ชี้จุดชี้เป้า ก่อนที่จะนำมาสู่การขาย การ Live สดบ่อยๆ เมื่อทำทุกวันคนก็เชื่อถือ แต่ตัวเราเองอาจไม่ต้องออกหน้ากล้องทุกวัน เพียงแต่ให้มีออกบ้าง ถ้าทำร้านอาหารสัมภาษณ์พ่อครัวก็ได้ ทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่าเพจมีชีวิต เจ้าของอยู่ในเพจตลอด เขาเป็นส่วนหนึ่งของการพรีเซ้นท์โปรดักท์

การตั้งชื่อเพจก็สำคัญ ต้องตั้งชื่อเพื่อรองรับการค้นหา โรงแรมก็ควรมีคำว่าโรงแรม เพื่อทำให้ลูกค้าเจอเรา แสดงถึงประเภทของสินค้า เช่นสินค้าไอที หรือสินค้าแบบใด มีโลเคชั่น ทำให้คนหาได้ มีชื่อแบบแมกกาซีน ให้น่าติดตาม เช่น เทยเที่ยวไทย ทำให้คนจดจำ ดังเร็ว ซึ่งในส่วนตัว อ.ออบแนะว่า ควรทำเพจทั้งแบบ 1 เพจแบรนด์ 2 เพจแมกกาซีน สามารถดูดข้อมูลระหว่างกันนำซื้อโฆษณาได้

ความยากของการทำโซเชี่ยลคือต้องทำต่อเนื่อง ต้องทำตลอด ซึ่งยูทูปอาจยิงวนซ้ำได้ทั้งปี แต่เฟสบุ๊กหากยิงซ้ำบ่อยๆ จะลดการมองเห็นลงเยอะ เขาต้องการให้เราทำคอนเท้นท์ใหม่ๆ ออกมา การตกแต่งรูปใน Facebook ก็ไม่ควรแต่งจนผิดปกติ ใส่ข้อมูลเล็กน้อย เฟสบุ๊กจะดันขึ้นมาให้คนเห็นมากขึ้น

ส่วนช่องทางการขายที่สำคัญในยุคนี้อย่างช้อปปี้ ลาซาด้า และ Dropship นั้น การขายใน Dropship คือเราต้องคุยกับผู้ผลิต แล้วเราสามารถขายสินค้าแล้วบวกราคา แต่เราไม่ต้องสต๊อกสินค้า ผู้ประกอบการที่จะทำการค้าในลักษณะนี้ ต้องมีความสามารถในการหาสินค้า การเขียนโพสท์ การโฆษณาสินค้าในช่องทางต่างๆ เมื่อขายได้ก็ให้ผู้ผลิตส่งของให้ลูกค้าโดยตรง อย่างเช่นเจ้าของโรงงานชุดชั้นในรู้จักเน็ทไอดอลคนหนึ่ง ก็ให้เน็ทไอดอลไปไลฟ์ขายสินค้าให้ เมื่อขายได้ก็ให้ส่วนแบ่งเน็ทไอดอล ปัจจุบันมีนักเรียน นักศึกษาจำนวนมาก มาทำการค้าในลักษณะนี้ โดยนำสินค้ามาทำโพสท์ในเฟสบุ๊กแล้วซื้อโฆษณา ซึ่งเป็นการช่วยกันทั้ง 2 ทาง เพราะโรงงานผู้ผลิตส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีเวลาขาย เราเป็นนักการตลาดแต่ไม่มีสินค้า ก็สามารถมีสินค้าให้ขายได้  

ความแตกต่างของการขายในช้อปปี้และลาซาด้านั้น ในช้อปปี้ส่วนใหญ่เป็นสินค้าแฟชั่น สินค้านำสมัย เป็นสินค้าที่ขายกันในประเทศ สามารถทำไลฟ์สดได้ แม่ค้าดึงดูดการขายได้ไม่ต่างจากเฟสบุ๊ก

ขณะที่ลาซาด้า สินค้าส่วนใหญ่เป็นสินค้าไอที หรือเจ้าของนำเข้าสินค้าจากจีน รวมถึงสินค้าแบรนด์ และสินค้าแปลกใหม่ที่น่าสนใจ

สำหรับการทำราคาได้ถูกมากในช่องทางช้อปปี้และลาซาด้านั้น บางทีผู้ขายก็ไม่ได้เอากำไร แต่มีรายได้จากค่าส่งแทนเป็นต้น เมื่อขายเป็นพันๆชิ้น ก็ได้กำไรจำนวนมาก

บทลงท้ายของการสัมภาษณ์ อ.ออบกล่าวว่า การชนะคู่แข่งในยุคนี้ ไม่ใช่แค่ราคาสินค้า แต่ต้องเข้าใจคอนซูเมอร์ให้ถ่องแท้ ใช้สื่อออนไลน์ให้ตรงเป้าหมาย แม้จะเป็นช่วงวิกฤตจากโควิด แต่ก็ยังมีโอกาสของหลายธุรกิจ เป็นเวลาของการขายออนไลน์อย่างจริงจังนั่นเอง


สัมภาษณ์โดย ประธานมีเดีย แอนด์ บล็อกเกอร์ คลับ ,บล็อกเกอร์ Travelista นักเดินทาง (สาธิตา โสรัสสะ) ผู้อำนวยการคอร์สออนไลน์ที่ปังดังเต็มเร็วทุกคอร์ส www.blogtechtech.biz