“ไหม”บนเส้นทางฝ่าวิกฤติโควิดฟื้นเศรษฐกิจชาติ สร้างงาน-รายได้ชุมชน หนุนภาคเกษตรไทย

“ไหม”บนเส้นทางฝ่าวิกฤติโควิดฟื้นเศรษฐกิจชาติ สร้างงาน-รายได้ชุมชน หนุนภาคเกษตรไทย

“สร้างเศรษฐกิจฐานราก ให้กับทั้งชุมชน และภาคการเกษตรไทย” “ไหม” ที่จะกลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้

 

ผลิตภัณฑ์เส้นไหมและ การส่งเสริมการเลี้ยงไหมเป็นหนึ่งในแนวคิดของการพลิกฟื้นวิถีชุมชน และวิถีเกษตรกรรมไทย จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด -19 ซึ่งเป็นปัจจัยส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และวิถีชีวิตของคนไทย ชุมชน และภาคเกษตรไทย กลายมาเป็น ภารกิจ พันธกิจสำคัญของ กรมหม่อนไหมในการที่จะเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนแนวทางการ สร้างเศรษฐกิจฐานราก ให้กับทั้งชุมชน และภาคการเกษตรไทยโดยมี ไหมที่จะกลับมาเป็นพืชเศรษฐกิจ ที่จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับระบบเศรษฐกิจฐานราก

นายสันติ  กลึงกลางดอน  รองอธิบดีกรมหม่อนไหมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึง เส้นทางของ “ไหมและการดำเนินการตามโครงการฯ ว่า เรื่องของไหม และผลิตภัณฑ์จากไหม อยู่คู่กับสังคมไทย มาตั้งแต่สมัยโบราณ จากดินแดนแถบสุวรรณภูมิ เป็นเกษตรพื้นบ้าน เป็นสินค้าพื้นถิ่น โดยเริ่มต้นจากในภาคอีสานของไทย  ซึ่งหากจะมองจากประวัติศาสตร์ของไทยไหมก็มีมาตั้งแต่ช่วงสุโขทัย และมีการค้าขายกับต่างประเทศ นับเป็นพืชเศรษฐกิจ เป็นภูมิปัญญาที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ ภาคการเกษตรและชุมชนของไทยมายาวนาน

“งานหม่อนไหมดังกล่าวเป็นจุดเริ่มต้นบทบาทของกรมหม่อนไหมซึ่งได้จัดตั้งเป็นสถาบันหม่อนไหมแห่งชาติฯ เมื่อปี 2548 และต่อเนื่องมาถึงปี 2552 ได้ยกระดับจากสถาบันฯ มาเป็นกรมหม่อนไหม  และดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน โดยมีภารกิจหลัก คือการดูแลรับผิดชอบงานหม่อนไหมทั้งระบบครบวงจร สนองงานในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวง รวมทั้งงานจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถเริ่มต้นจากการส่งเสริมชุมชน เกษตรกร เรื่องของพันธุ์ การพัฒนาการเลี้ยงไหม  และคัดเส้นไหมเพื่อให้มูลนิธีฯ นำไปแปรรูป  และกำหนดมาตรฐานต่างๆ ของผลิตภัณฑ์จากไหม ให้เป็นมาตรฐานที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล โดยกำหนดเป็นตรานกยูงพระราชทานสีต่างๆ เพื่อแยกจำแนกคุณภาพในแต่ละระดับ จนมาถึงโครงการสนับสนุนต่างๆ รวมทั้งโครงการส่งเสริมงานศิลปาชีพเชิงรุก” นายสันติ กล่าว      

จากพระราชดำริ และพระราชเสาวณีย์ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ทรงเล็งเห็นถึงความสำคัญของอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมและให้คงอยู่กับประเทศไทยสืบไป มาสู่การก่อตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในปี2519 เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ยากไร้ในชนบท ส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยได้ดำเนินงานนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจวบจนปัจจุบัน ทั้งยังได้สนับสนุนให้สมาชิกเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านมานานกว่า 30 ปี และได้เผยแพร่ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยไปทั่วโลก

กรมหม่อนไหม ได้เล็งเห็นถึงพระอัจฉริยภาพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่ทรงมีสายพระเนตรที่ยาวไกล ทำให้เกษตรกรมีอาชีพที่มั่นคง มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้อย่างปกติสุข จึงได้จัดทำโครงการเพื่อสนองงานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง และพระราชวงศ์ทุกพระองค์ โดยดำเนินงานโครงการเชิงรุกนำร่องในพื้นที่โครงการศิลปาชีพฯ 6 แห่ง เพื่อมุ่งเน้นสืบสานภูมิปัญญา อนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิมของไทยให้กลับมามีบทบาท มีความสำคัญต่อเกษตรกร ชุมชน จังหวัด และเป็นต้นแบบให้เกษตรกรในพื้นที่ใกล้เคียงหรือผู้สนใจเข้าไปศึกษาเรียนรู้ เพื่อสืบสานงานพระราชดำริให้คงอยู่สืบไป

รองอธิบดีกรมหม่อนไหม กล่าวต่อไปว่า โครงการส่งเสริมงานศิลปาชีพเชิงรุก กำหนดในพื้นที่ 6 แห่ง ดำเนินการขับเคลื่อนโดยศูนย์หม่อนไหมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ (ศมม.) และหน่วยส่งเสริมหม่อนไหมในพื้นที่ประกอบด้วย ศูนย์ศิลปาชีพหม่อนไหมบ้านห้วยเดื่อ อ.เมือง จ. แม่ฮ่องสอน (ศมม.เชียงใหม่)กิจกรรมส่งเสริมการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจรศูนย์ศิลปาชีพ บ้านกุดนาขาม อ.เจริญศิลป์ จ. สกลนคร (ศมม.สกลนคร)จัดทำจุดเรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมครบวงจรจัดทำจุดเรียนรู้เรื่องการผลิตครามโครงการส่งเสริมศิลปาชีพทุ่งกะมัง อ.หนองบัวแดง จ.ชัยภูมิ (ศมม.ชัยภูมิ)กิจกรรมการผลิตผ้าไหมตรานกยูงพระราชทานลายเอกลักษณ์หมี่คั่นขอนารีย้อมสีธรรมชาติศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพอีสานใต้ จังหวัดสุรินทร์ (ศมม.สุรินทร์)กิจกรรมศูนย์เรียนรู้การปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจรโครงการศิลปาชีพศึกษาพัฒนาไหมไทยพื้นบ้าน ไหมดาหลา และแมลงทับ จ.สระแก้ว (หน่วยส่งเสริมหม่อนไหมสระแก้ว)จัดทำจุดเรียนรู้การเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยพื้นบ้านจุดเรียนรู้การเลี้ยงไหมดาหลาจุดเรียนรู้การเลี้ยงแมลงทับแปลงเรียนรู้การเกษตรตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและศูนย์ศิลปาชีพบ้านเนินธัมมัง ต.แม่เจ้าอยู่หัว อ.เชียรใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช (หน่วยส่งเสริมหม่อนไหมตรัง)กิจกรรมส่งเสริมการทอผ้าประจำถิ่น

ทั้งนี้ ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ก็ยังมีส่วนจิตอาสา ซึ่งเป็นโครงการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เข้าไปให้ความช่วยเหลือ ซึ่งเป็นแนวทางมาจากการพัฒนาต่อยอดแนวทาง “เศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตรในโครงการฟาร์มตัวอย่าง ดำเนินการโดยศูนย์อำนวยการใหญ่จิตอาสาพระราชทาน (ศอญ.) ได้จัดทำโครงการฟาร์มตัวอย่างต้านภัย Covid – 19โดยมอบหมายให้จิตอาสา 904 ดำเนินการสำรวจโครงการฟาร์มตัวอย่างตามแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนรายได้ของประชาชนกำหนดเป้าหมาย จำนวน 30 แห่งทั่วประเทศ  โดยกรมหม่อนไหมได้จัดทำโครงการสนับสนุนกิจกรรมด้านหม่อนไหมภายใต้โครงการฟาร์มตัวอย่างดังกล่าว เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานโครงการฯ เพื่อเป็นจุดเรียนรู้ด้านการเกษตรและด้านหม่อนไหมแก่เกษตรกรและประชาชน ที่ได้รับผลกระทบ หรือเกษตรกรและประชาชนที่สนใจ  ตลอดจนเป็นแหล่งอาหารและการจ้างงานให้แก่เกษตรกรในพื้นที่โดยได้ ดำเนินงานในพื้นที่โครงการฯ จำนวน 30 แห่ง ในพื้นที่ 17 จังหวัด ซึ่งรับผิดชอบโดย ศมม. จำนวน 7 ศูนย์ และหน่วยส่งเสริมหม่อนไหม จำนวน 1 หน่วย ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น สนับสนุนต้นหม่อนพันธุ์ดี (หม่อนใบและหม่อนผล)สำหรับใช้เป็นอาหารสัตว์และการแปรรูปสนับสนุนวัสดุบำรุงต้นหม่อนสาธิตการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อน (การทำน้ำหม่อนและการทำแยมหม่อน) และจัดทำแปลงสาธิตการปลูกไม้ผลยืนต้น เพื่อเป็นแปลงสาธิตให้ความรู้เรื่องการปลูกหม่อนสร้างอาชีพต่อไป