ม.มหิดล คิดค้นและพัฒนาเทคนิคใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็งท่อน้ำดี

 ม.มหิดล คิดค้นและพัฒนาเทคนิคใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดรักษามะเร็งท่อน้ำดี

สาเหตุเกิดจากการกินปลาน้ำจืดปรุงไม่สุก จนติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในท่อน้ำดี เกิดการอักเสบจนเกิดมะเร็ง


โรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นโรคมะเร็งชนิดร้ายแรงที่พบว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยมีอัตราผู้ป่วยสูงสุดในโลก คือ มีอัตราในผู้ชาย 135 คน และในผู้หญิง 48 คนต่อประชากร 100,000 คน มีผู้เสียชีวิตด้วยโรคนี้ 14,000 คนต่อปี สาเหตุเกิดจากการกินปลาน้ำจืดปรุงไม่สุก จนติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ โดยตัวอ่อนของพยาธิเข้าไปเจริญเติบโตอยู่ในท่อน้ำดี เกิดการอักเสบแบบเรื้อรัง จนเกิดมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด


จากผลงานวิทยานิพนธ์ เรื่อง "การเพิ่มความสามารถของเซลล์ภูมิคุ้มกันในการกำจัดเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี โดยการยับยั้งตัวรับสัญญาณของอินเตอร์ลิวคิน-เทนและทีจีเอฟ-เบต้า" ของ ดร.จุฑามาศ เทพมาลีดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน (หลักสูตรนานาชาติ) ภาควิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการทดลองใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีในระดับห้องปฏิบัติการ เพื่อพัฒนาเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการรักษาที่มีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสูง เพื่อใช้ร่วมกับวิธีการเดิม คือ การผ่าตัด การฉายแสง เคมีบำบัด และการใช้ยาแบบมุ่งเป้า ซึ่งผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ อีกทั้งมีผลข้างเคียงสูง


ศาสตราจารย์ ดร.เพทาย เย็นจิตโสมนัส อาจารย์ประจำหลักสูตรดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาวิทยาภูมิคุ้มกัน (หลักสูตรนานาชาติ) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านภูมิคุ้มกันบำบัดโรคมะเร็ง และหัวหน้าหน่วยอณูเวชศาสตร์ ฝ่ายวิจัย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวแนะนำในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ว่า หลักการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นการใช้เซลล์ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยเอง ซึ่งมีจำนวนน้อย และไม่ค่อยแข็งแรง นำออกมานอกร่างกาย เพื่อดัดแปลง และเลี้ยงให้เพิ่มจำนวน ด้วยวิธีทางอณูชีววิทยาและเซลล์ชีววิทยา (Molecular and Cellular Biology) ทำให้รู้จักเซลล์มะเร็ง และมีจำนวนมากพอ จากนั้นจึงใส่กลับเข้าไปในตัวผู้ป่วย เพื่อให้ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นยาที่มีชีวิต (living drug) ในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีค่อนข้างปลอดภัย เพราะเป็นการใช้เซลล์ของผู้ป่วยเอง


ด้าน ดร.จุฑามาศ เทพมาลี เจ้าของผลงานวิทยานิพนธ์ กล่าวอธิบายว่างานวิจัยที่ทำเป็นการศึกษาในหลอดทดลองโดยกระตุ้นเซลล์ที่นำมาเลี้ยงให้มีประสิทธิภาพในการฆ่าเซลล์มะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งใช้เทคนิคทางอณูชีววิทยาและเซลล์ชีววิทยา เพื่อช่วยกระตุ้นให้เซลล์ทดลองสามารถฆ่าเซลล์มะเร็งท่อนํ้าดีได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีกลไกในการหลบหลีกการถูกทำลายจากเซลล์ภูมิคุ้มกันของร่างกาย กลไกหนึ่งคือการกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยการหลั่งสารไซโตไคน์กลุ่มต้านการอักเสบ เช่น อินเตอร์ลิวคิน-เทน และทีจีเอฟ-เบต้า สารไซโตไคน์เหล่านี้จะจับกับตัวรับที่จำเพาะบนผิวเซลล์ของเซลล์ภูมิคุ้มกันชนิดเดนดริติกเพื่อให้มีการส่งสัญญาณภายในเซลล์ ทำให้ยับยั้งการทำงานของเซลล์เดนดริติก ทำให้เซลล์เดนดริติกไม่สามารถจะกระตุ้นการทำงานของเซลล์ลิมโฟไซต์ในการฆ่าเซลล์มะเร็ง เป็นผลทำให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายไม่สามารถจะกำจัดเซลล์มะเร็งได้ และโรคมะเร็งมีความรุนแรงมากขึ้น


งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงการทํางานของเซลล์เดนดริติกให้ดีขึ้น โดยการยับยั้งตัวรับที่จําเพาะของอินเตอร์ลิวคิน-เทน และทีจีเอฟ-เบต้าบนเซลล์เดนดริติก และทำการทดสอบประสิทธิภาพการทํางานเซลล์เดนดริติกที่ได้รับการปรับปรุงแล้ว ในการกระตุ้นเซลล์ที-ลิมโฟไซต์เพื่อนำไปทดสอบการฆ่าเซลล์มะเร็งท่อนํ้าดี เป็นการสร้างต้นแบบของวิธีการรักษาโรคมะเร็งท่อน้ำดีในรูปแบบใหม่ ซึ่งสามารถจะพัฒนาไปสู่การใช้รักษาจริงในผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดีต่อไปในอนาคต


ผลงานของ ดร.จุฑามาศ เทพมาลี ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติแล้ว 2 เรื่อง โดย ดร.จุฑามาศ เทพมาลี เป็นผู้นิพนธ์ชื่อแรก นอกจากนี้มีผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีชื่อร่วม และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารนานาชาติอีก 4 เรื่อง และมีการยื่นจดสิทธิบัตร 1 ชิ้น


ดร.จุฑามาศ เทพมาลี จะเสนอผลงานชิงรางวัลวิทยานิพนธ์ดีเด่น ในกลุ่มที่ 1 วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Biological Sciences) ระดับปริญญาเอกในวันที่ 14 กรกฎาคม 2563 เวลา 09.00 - 11.00 น. ผ่าน Zoom จัดโดยบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้สนใจสามารถดูรายละเอียด และลงทะเบียนเพื่อเข้าฟังแบบออนไลน์ได้ที่ https://www.facebook.com/grad.mahidol สอบถาม email : [email protected]


โดย ฐิติรัตน์ เดชพรหม นักประชาสัมพันธ์ (ชำนาญการ) งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โทร. 0-2849-6210