มช.ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับผลิตภาพอุตสาหกรรม

มช.ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ ยกระดับผลิตภาพอุตสาหกรรม

สู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Sustainable Development Goals-SDGs) ด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (SDG9) 

 

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เป็นกุญแจไปสู่ในการยกระดับอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม สอดรับกับภารกิจหลักของมหาวิทยาลัยในการผลิตผลงานวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ และนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นและประเทศชาติ รวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืน สู่เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Sustainable Development Goals-SDGs) ด้านอุตสาหกรรม นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน (SDG9

 

ด้วยความพร้อมของคณะ หน่วยงาน ความรู้ของนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญ ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่   ถือเป็นแรงผลักดันในการขับเคลื่อนให้เกิดโครงการต่างๆอย่างเป็นรูปธรรม ครอบคลุมถึงการทำงานร่วมกับภาคเอกชน การบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยี (Tech Startups) รวมไปถึงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ (Startup) การเปิดโอกาสให้บุคคลภายนอกและนักศึกษาได้เข้าร่วมนำเสนอผลงานต่อยอดไอเดียทางด้านธุรกิจ เช่น โครงการ Business Brotherhood เป็นกิจกรรมแข่งขันการนำเสนอแผนธุรกิจ ตลอดจนการอนุญาตให้ใช้สิทธิและถ่ายทอดเทคโนโลยี  อีกทั้งสร้างศักยภาพความเป็นมืออาชีพให้กับผู้ประกอบการโดยการเป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมฝึกอบรมร่วมกับภาคอุตสาหกรรม เช่น หลักสูตรการพัฒนาผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมกาแฟตลอดห่วงโซ่เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ ซึ่งได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง 

 

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยคำนึงถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสำหรับผู้ที่อยู่ในระดับฐานรากของระบบเศรษฐกิจ จึงเริ่มโครงการ BCG in Action (Bio – Circular – Green Economy) การบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ครอบคลุมอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น เกษตรและอาหาร พลังงานและเคมีชีวภาพ การแพทย์และสุขภาพ โดยให้คณะ ส่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินงานตามเป้าประสงค์ อาทิ โครงการ Smart Farming, Active Citizen, Zero-Waste และ AI for All เพื่อเป็นการส่งเสริมนวัตกรรมชุมชน, นวัตกรรมเชิงธุรกิจ และนวัตกรรมสังคม อีกทั้งยังสอดคล้องกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งเป็นหลักสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

         

ด้วยเจตนารมณ์ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการเป็นศูนย์กลางทางวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง เพื่ออำนวยประโยชน์แก่ประชาชน ท้องถิ่นและประเทศชาติโดยส่วนรวม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสถานการณ์ปัจจุบันที่หลายๆ ด้านรอการฟื้นตัว  ความมุ่งมั่นของผู้บริหาร บุคลากรผู้เชี่ยวชาญ และนักวิจัย จึงร่วมกันเดินหน้าตามแนวทางยุทธศาสตร์และบทบาทของมหาวิทยาลัย ด้วยตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม  เพื่อมุ่งหวังให้เกิดผลลัพธ์ต่อการฟื้นฟูและการเติบโตของประเทศ อันจะนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน