"ดอยตุง" รับ G Green รางวัลแห่งความภูมิใจ

 "ดอยตุง" รับ G Green รางวัลแห่งความภูมิใจ

 "ดอยตุง" รับ G Green รางวัลแห่งความภูมิใจ สร้างคนอยู่กับป่าด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน

 

"ดอยตุง" ภายใต้การดำเนินงานของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีการผลิตสินค้าหัตถกรรมจากชุมชน แต่ยังใส่ใจในทุกขั้นตอนการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งงานผ้าฝ้ายทอมือผสมผสานด้วยเอกลักษณ์ท้องถิ่น และเซรามิกที่รังสรรค์ก้อนดินให้กลายเป็นเครื่องใช้สุดประณีต กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้เลือกและพิจารณามอบโล่รางวัลสัญลักษณ์ G Green Production ประเภทเซรามิก ระดับดีเยี่ยม และประเภทสิ่งทอ ระดับดีเยี่ยม เพื่อรับรองว่าดอยตุงมีการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน

หม่อมหลวงดิศปนัดดา ดิศกุล ระธานเจ้าหน้าที่บริหาร มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ กล่าวถึงแนวคิดในการดำเนินงานของมูลนิธิและแบรนด์ดอยตุงไว้ว่า จากการที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ก่อตั้งขึ้นตามพระราชดำริของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ซึ่งทรงมีพระราชปณิธานสร้างโอกาส พัฒนาชาวไทยภูเขาที่ขาดต้นทุนชีวิต ด้วยการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานการดำรงชีวิต ต่อยอดสู่การสร้างธุรกิจเพื่อสังคม ยกระดับคุณภาพด้วยการพัฒนาป่าและคน โดยมีโครงการพัฒนาดอยตุง (พื้นที่ทรงงาน) ตามพระราชดำริ เป็นต้นแบบภายใต้แบรนด์ "ดอยตุง" ส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามตำราแม่ฟ้าหลวง ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติตามแนวคิดคนอยู่กับป่าอย่างเป็นมิตร

โดยการพัฒนาธุรกิจควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้แทรกอยู่ในทุกขั้นตอนการผลิตนี้ เป็นที่มาของรางวัล G Green Production เพราะไม่ว่าจะเป็นโรงงานทอผ้าที่อยู่ภายใต้แบรนด์ดอยตุง ที่ใส่ใจตั้งแต่วัตถุดิบที่เลือกใช้ในงานทอเป็นเส้นใยฝ้ายประหยัดน้ำหรือ Better Cotton ซึ่งใช้ทรัพยากรน้ำน้อยกว่าในการเพาะปลูก และเส้นใยเหล่านี้ถูกนำมาย้อมสีด้วยวัตถุดิบท้องถิ่น เช่น คราม ดอกทองกวาว หัวหอม กาแฟ หรือฮ่อม และยังให้สีที่แตกต่างกันตามแต่ละฤดูกาล เกิดเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ก่อนจะถูกถักทอเป็นผ้าบนกี่แบบดั้งเดิมด้วยฝีมือผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เมื่อเข้าสู่ขั้นตอนตัดเย็บหากเหลือเศษผ้าจะถูกนำมาแปรรูปใส่ความคิดสร้างสรรค์กลายเป็นของใช้ชิ้นเล็กอย่างพวงกุญแจหรือใช้ประดับตกแต่งลวดลายสินค้าต่อไป แต่ถ้าเศษผ้าเล็กเกินกว่าจะใช้ได้ เศษผ้าและเศษด้ายจะถูกนำไปเผาพร้อมกับกะลาแมคคาเดเมียเพื่อใช้เป็นพลังงานในการต้มน้ำร้อนสำหรับกระบวนการต้ม ฟอก และย้อมผ้าอีกครั้ง ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้ประมาณร้อยละ 50 ส่วนน้ำเสียจากโรงย้อมผ้าก็จะเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียที่ใช้แนวคิด "ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ" ให้พืชน้ำดูดซับสารพิษและเติมออกซิเจนให้แก่น้ำ น้ำที่บำบัดแล้วก็ใช้ในการรดน้ำต้นไม้ต่อไป จึงไม่มีของเหลือใช้เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตนี้เลย ด้านการบรรจุหีบห่อเพื่อส่งสินค้าให้ผู้บริโภค จะถูกใส่ลงในถุงซิปล๊อค ห่อกระดาษและถุงกระดาษ ถือเป็นการรณรงค์การลดใช้ถุงพลาสติก ส่วนถุงซิปล๊อคที่ใช้งานแล้วก็จะถูกส่งกลับมายังโรงทอเวียนกลับมาใช้งานอีกครั้ง  

หรือแม้แต่กระบวนการผลิตที่เกี่ยวข้องกับโรงงานเซรามิก ก็มีความใส่ใจในทุกขั้นตอนเช่นกัน ตั้งแต่การเลือกดินหลากชนิดมาผสมกัน ปั้นหรือเทลงแบบพิมพ์กลายเป็นภาชนะต่างๆ การอบแห้งและเผาพร้อมชุบเคลือบด้วยหินแร่ เพื่อให้เกิดสีที่แตกต่างกันออกไปเวลาที่เผาในอุณหภูมิ 1,250 องศาเซลเซียส และถึงแม้เซรามิกจะไม่สามารถรีไซเคิลได้แบบวัสดุอื่นๆ ทางดอยตุงได้หาวิธีนำชิ้นส่วนเหล่านี้ไปบดเป็นผง ผสมดินในอัตราส่วนที่เหมาะสมเพื่อขึ้นรูปใหม่หรือใช้เป็นส่วนผสมในการทำพื้นถนนเพื่อทดแทนการใช้ทรัพยากรอื่นๆ สำหรับแม่พิมพ์ของสินค้าเซรามิกที่ต้องอบแห้งก่อนการขึ้นรูป ดอยตุงเลือกใช้พลังงานชีวมวลจากเปลือกแมคคาเดเมียมาทดแทนการใช้ก๊าซหุงต้ม โดยใช้เปลือกแมคคาเดเมียมาต้มน้ำร้อน และส่งความร้อนต่อไปที่อากาศแทน นอกจากนี้ยังมีการเผาอากาศด้วยก๊าซหุงต้มแบบเดิม จากการลองผิดลองถูกนับครั้งไม่ถ้วน วิธีนี้ทำให้ลดการใช้แก๊สหุงต้มได้เกือบทั้งหมด ซึ่งการช่วยกันคิดค้นหาทางออกใหม่ๆ ไม่ใช่เพียงไอเดียของผู้บริหารและนักออกแบบเท่านั้น แต่การคิดค้นในหลายๆ ครั้งยังเกิดจากชาวบ้านที่ปฏิบัติงานและเล็งเห็นปัญหาด้วย

ทั้งนี้ กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมย่อมมาพร้อมกับขั้นตอนมากมายที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตทางมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ และแบรนด์ดอยตุง จึงกำลังพยายามสร้างความตระหนักรู้ให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของความไม่สะดวกสบายทั้งหลายเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมของโลก ผ่านแฮชแท็ก #InconvenientIsneccessary  ..ติดตามอัปเดตเรื่องราวงานพัฒนาคนและธรรมชาติให้อยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืนที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ที่ www.maefahluang.org