EPG เผยผลประกอบการปี 62/63 

EPG เผยผลประกอบการปี 62/63 

รายได้จากการขาย 10,217 ล้านบาท กำไรสุทธิ 999 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 11%เตรียมจ่ายปันผลอีก 0.12 บาทต่อหุ้น เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้น 23 ก.ค.นี้

 

รศ.ดร.เฉลียว วิทูรปกรณ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ EPG ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โพลีเมอร์และพลาสติกแปรรูปชั้นนำของโลก เปิดเผยถึงผลประกอบการปี 62/63 (1 เม.ย.62  31 มี.ค.63) บริษัทมีรายได้จากการขายทั้งสิ้น 10,217 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อย 3.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้จากการขายอยู่ที่ 10,579 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 999 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิที่ 903 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนรายได้ แบ่งเป็น AEROKLAS 46% AEROFLEX 30% และ EPP 24% สำหรับผลประกอบการปี 62/63 เป็นผลมาจาก 3 กลุ่มธุรกิจหลัก ดังนี้

ธุรกิจฉนวนกันความร้อน/เย็น ภายใต้แบรนด์ Aeroflex มีรายได้จากการขายรวม 3,012 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน รายได้จากการขายเติบโตอย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่นซึ่งเลือกใช้สินค้าระดับพรีเมี่ยม อีกทั้ง ฉนวนกันความร้อน/เย็น Aeroflex เป็นสินค้าจำเป็น (Essential Product) ที่นำไปใช้ในระบบปรับอากาศ อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็ง อุตสาหกรรมยา และคลีนรูม เป็นต้น

ธุรกิจชิ้นส่วนอุปกรณ์และตกแต่งยานยนต์ภายใต้แบรนด์ Aeroklas มีรายได้จากการขายรวม 4,726 ล้านบาท หรือลดลง 10% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก และในช่วงปลายเดือนมีนาคม 63 เริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) อีกทั้งธุรกิจในออสเตรเลียเติบโตช้ากว่าที่คาดไว้

ธุรกิจบรรจุภัณฑ์พลาสติก ภายใต้แบรนด์ EPP มีรายได้จากการขายรวม 2,480 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากบริษัทได้ทำการขยายตลาดในกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติก ประเภทกล่องใส่อาหาร ถ้วยน้ำดื่ม และสินค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น แม้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายจะเริ่มได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ซึ่งส่งผลให้การอุปโภคบริโภคของประชาชนลดลง แต่ยังคงได้รับประโยชน์จากบรรจุภัณฑ์พลาสติกใส่อาหารทดแทน เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคด้วยการสั่งอาหารเดลิเวอร์รี่ หรือซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้าน

บริษัทมีต้นทุนขายสินค้าลดลง 6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยได้รับผลประโยชน์จากราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวลดลง และมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง 3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งบริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการควบคุมการบริหารค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วมลดลง เนื่องจากผลกระทบจากการชะลอตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) รศ.ดร.เฉลียว กล่าวต่อว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท มีมติให้เสนอที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 63 เพื่อขออนุมัติการจ่ายเงินปันผลประจำปีให้กับผู้ถือหุ้นของบริษัท ในอัตราหุ้นละ 0.12 บาท (สิบสองสตางค์) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 336 ล้านบาท ซึ่งกำหนดให้มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นปี 63 ในวันที่ 23 ก.ค. 63 และหากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นฯ มีมติอนุมัติให้จ่ายเงินปันผล จะกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่จะมีสิทธิได้รับเงินปันผล (Record Date)ในวันที่ 7 ส.ค. 63 และกำหนดจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นภายในวันที่ 21 ส.ค. 63

 "ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.62 บริษัทได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 0.10 บาท แล้วหากรวมกับการปันผลในครั้งนี้อีก 0.12 บาทต่อหุ้น จะทำให้บริษัทมีการจ่ายเงินปันผลรวม 0.22 บาทต่อหุ้น" รศ.ดร.เฉลียว กล่าว