กรมหม่อนไหมแนะนำพันธุ์หม่อนทนแล้ง มีคุณภาพใบที่ดี

กรมหม่อนไหมแนะนำพันธุ์หม่อนทนแล้ง มีคุณภาพใบที่ดี

หม่อนพันธุ์สกลนคร สกลนคร 85 และ ศรีสะเกษ 84 เป็นพันธุ์หม่อนที่เหมาะสมในการเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม มีคุณสมบัติในการให้ใบที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูง

 

กรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ แนะนำหม่อนพันธุ์สกลนคร สกลนคร 85 และ ศรีสะเกษ 84 เป็นพันธุ์หม่อนที่เหมาะสมในการเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม มีคุณสมบัติในการให้ใบที่มีคุณภาพดี ผลผลิตสูงและทดทานต่อความแห้งแล้ง

นายวสันต์ นุ้ยภิรมย์ อธิบดีกรมหม่อนไหม เปิดเผยว่า หม่อนเป็นปัจจัยสำคัญในการประกอบอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม เพราะใบหม่อนเป็นพืชชนิดเดียวที่หนอนไหมกินเป็นอาหาร เพื่อที่จะนำมาสร้างเป็นรังไหม ดังนั้น การปลูกหม่อนมีคุณภาพดี ให้ผลผลิตสูงและทนทานต่อความแห้งแล้ง จะทำให้เกษตรกรมีใบหม่อนที่มีทั้งปริมาณและคุณภาพเหมาะสมกับการเลี้ยงไหม โดยเฉพาะในช่วงที่มีสภาวะน้ำน้อยหรือมีความแห้งแล้ง กรมหม่อนไหมจึงได้มีการแนะนำให้เกษตรกรปลูกหม่อนพันธุ์สกลนคร สกลนคร 85 และศรีสะเกษ 84 ซึ่งมีคุณสมบัติในการทนทานต่อสภาพความแห้งแล้งได้เป็นอย่างดี

สำหรับพันธุ์หม่อนที่กรมหม่อนไหมแนะนำสำหรับการเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม ได้แก่ หม่อนพันธุ์สกลนคร ที่มีลักษณะเด่นที่มีความทนทานต่อสภาวะแห้งแล้ง มีความทนทานโรครากเน่าดี ออกรากดีเมื่อตัดกิ่งปักชำ ขยายพันธุ์ง่าย สามารถใช้ท่อนพันธุ์ปลูกได้โดยตรง ซึ่งกิ่งที่จะใช้ขยายพันธุ์ควรมีอายุหลังการตัดแต่งไม่น้อยกว่า 5 เดือน หรือใช้วิธีการปักชำก่อนปลูก หม่อนพันธุ์สกลนครเป็นพันธุ์หม่อนที่ให้ผลผลิตต่อไร่สูง โดยผลผลิตใบต่อไร่ต่อปี สามารถเก็บเกี่ยวได้ถึง 4 ครั้ง

หม่อนพันธุ์สกลนคร 85 ลักษณะเด่นในการทนทานต่อโรครากเน่า ขยายพันธุ์ได้ด้วยท่อนพันธุ์ ผลผลิตใบสูงในสภาพเกษตรอาศัยน้ำฝน และหม่อนพันธุ์ศรีสะเกษ 84 มีลักษณะเด่นที่มีความทนทานต่อ     โรคราสนิมสูง การขยายพันธุ์โดยใช้ท่อนพันธุ์ ซึ่งควรใช้ท่อนพันธุ์ที่มีอายุตั้งแต่ 9 เดือนขึ้นไป จะมีเปอร์เซ็นต์รอดหลังปักชำที่สูง ให้ผลผลิตใบดี และเป็นใบหม่อนมีคุณภาพดีเหมาะแก่การเลี้ยงไหม

เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม สามารถศึกษาคู่มือเทคนิคการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมอุตสาหกรรม ให้มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืนได้โดยการแอด Line Official Account ที่ @QSDS เลือกหัวข้อ “เทคนิคการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม” หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมหม่อนไหม โทร 1275 www.qsds.go.th และ https://www.facebook.com/qsds.th/