DITPแนะผู้ส่งออกไทยปรับตัวเร่งผลิตบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายธรรมชาติ

DITPแนะผู้ส่งออกไทยปรับตัวเร่งผลิตบรรจุภัณฑ์ย่อยสลายธรรมชาติ

ผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไบโอพลาสติก ที่ทำจากอ้อยและมันสำปะหลัง

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเผยทั่วโลกเริ่มตื่นรณรงค์แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม-ลดพลาสติกโลก แนะผู้ผลิตบรรจุพลาสติกต้องปรับตัวเร่งหาผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่ย่อยสลายได้ ด้านสคต.มะนิลา เผยผลสำรวจชาวตากาล็อกหนุนเลิกใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง

นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากกระแสการตื่นตัวของหลายประเทศเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศได้เสนอแนะให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัวตามสถานการณ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศลูกค้าปลายทาง  โดยเฉพาะกลุ่มผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก ที่ต้องหาแนวทางในการผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่สามารถย่อยสลายตามธรรมชาติได้ หรือบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น ไบโอพลาสติก ที่ทำจากอ้อยและมันสำปะหลัง หรือการหันไปเจาะตลาดบรรจุภัณฑ์ที่ใช้วัสดุทดแทนพลาสติก เป็นต้น

แม้การผลิตบรรจุภัณฑ์แบบใหม่จะทำให้ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น แต่หากผู้ประกอบการไม่เริ่มปรับตัวอาจทำให้มีความเสี่ยงสูงในอนาคต เนื่องจากการใช้ที่ลดลงส่งผลให้ยอดจำหน่ายกระทบต่อสถานะของบริษัทได้ นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มสินค้าอื่นๆ ก็ควรเตรียมการรับมือในการปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของสินค้าต่างๆ เพื่อตอบโจทย์ของผู้บริโภคที่ต้องการลดปริมาณขยะจากการใช้บรรจุภัณฑ์ เช่น วางแผนหรือทำการวิจัยร่วมกับผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อให้ได้รูปแบบที่เหมาะสมกับประเภทสินค้าแต่ละชนิด

นายสมเด็จ กล่าวว่า ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ (สคต.) ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ยังได้รายงานสถานการณ์การแก้ปัญหาขยะถุงพลาสติกพบว่า ชาวฟิลิปปินส์ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single – use plastics) เนื่องจากภาวะมลพิษจากพลาสติกถือเป็นปัญหาสำคัญในฟิลิปปินส์ รวมถึงประเทศจีน เวียดนามและอินโดนีเซีย ซึ่งเป็น กลุ่มประเทศที่ถูกจัดอันดับว่าได้สร้างมลพิษพลาสติกทางทะเลอันเลวร้ายของโลก

สำหรับฟิลิปปินส์ถือเป็นประเทศแรกๆ ในอาเซียนที่มีนโยบายห้ามใช้พลาสติกมาหลายปีแล้ว เห็นได้จากบรรดาห้างสรรพสินค้า/ซุปเปอร์มาร์เก็ต/ร้านสะดวกซื้อต่างๆ (เช่น 7Eleven FamilyMart Ministop และLawson เป็นต้น) ในเมืองหลักๆ ไม่แจกถุงพลาสติกแต่จะใส่ถุงกระดาษหรือกล่องกระดาษให้แทน อย่างไรก็ตาม ฟิลิปปินส์ยังไม่ประสบความสำเร็จในการกำจัดขยะพลาสติกมากนัก  และยังคงเป็นปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และพยายามแก้ไขต่อไป  ขณะที่ประเทศไทยได้เริ่มหันมารณรงค์อย่างจริงจังเมื่อ วันที่ 1  มกราคม 2563 ในการเลิกใช้ถุงพลาสติกเพื่อลดปริมาณขยะภายในประเทศ ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงของประเทศครั้งสำคัญในประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมและกลายเป็นที่สิ่งที่ ผู้ผลิต/ผู้ประกอบการไทยจำเป็นต้องเร่งปรับธุรกิจอย่างรวดเร็วเพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มในปัจจุบันและให้เกิดการ พัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน 

นอกจากนี้ที่ผ่านมา Social Weather Station (SWS) ได้เผยแพร่ผลการสำรวจจัดทำโดย Global Alliance for Incinerator Alternatives (GAIA) จากผู้ตอบแบบสอบถามจำนวน 1,800 คน พบว่า ชาวฟิลิปปินส์ 7 ใน 10 คน ต้องการให้มีการห้ามใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง   ขณะเดียวกันผลสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าชาวฟิลิปปินส์ 4 ใน 10 คน ต้องการให้บริษัท/ผู้ผลิตสินค้า ควรใช้หรือคิดค้นวัสดุบรรจุภัณฑ์ที่สามารถทดแทนพลาสติก รวมทั้งต้องการเห็นว่าบริษัทต่างๆ ควรซื้อหรือรวบรวมพลาสติกแล้วมารีไซเคิล และ บริษัท/ผู้ประกอบการควร หยุดหรือห้ามจำหน่ายและผลิตสินค้าพลาสติก เป็นต้น

ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่ติดอันดับผู้ก่อมลพิษทางทะเลที่เลวร้ายที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากจีนและอินโดนีเซีย โดยสร้างขยะคิดเป็นร้อยละ 5.9 ของขยะพลาสติกทั้งหมดในทะเลของโลก โดยแม้ว่าฟิลิปปินส์จะมีกฎหมายว่าด้วยขยะมูลฝอยและสิ่งแวดล้อมหลายฉบับที่ระบุบทลงโทษที่เข้มงวด แต่ก็ประสบความล้มเหลวในการบังคับใช้และยังไม่มี กฎหมายฉบับใดครอบคลุมถึงบริษัทผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์พลาสติก รวมทั้งการบริหารจัดการกับพลาสติกที่ไม่ค่อย มี ประสิทธิภาพเท่าที่ควร  จึงทำให้รัฐบาลฟิลิปปินส์พยายามที่จะแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง อย่างไรก็ตามผลสำรวจยังสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนชาวฟิลิปปินส์สนับสนุนและอยากให้มีการบังคับใช้มาตรการ ที่จริงจังและมีผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ(DITP)กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th หรือสายตรงการค้าระหว่างประเทศ โทร 1169