Homemade Stay และ Local Alike ร่วมพัฒนาที่พักบูติคโฮมสเตย์

Homemade Stay และ Local Alike ร่วมพัฒนาที่พักบูติคโฮมสเตย์

สมศักดิ์ บุญคำ จาก Local Alike และ วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ จาก Homemade Stayการร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไรและผู้ประกอบการจะได้อะไร

 

เปิดทางรอดและตลาดใหม่ของโรงแรมขนาดเล็กในชุมชนและเมืองรอง ในสภาพตลาดการท่องเที่ยวและโรงแรม ที่เต็มไปด้วยนวัตกรรมและการเปลี่ยนแปลง จากทั้งเทคโนโลยีที่ช่วยให้นักเดินทางสามารถเข้าถึงพื้นที่ห่างไกลได้  พฤติกรรมลูกค้ารุ่นใหม่ที่ชอบประสบการณ์ที่แตกต่าง รวมถึงปัจจัยลบอย่างสภาพแวดล้อมที่แปรปรวน และโรคระบาดนั้น ต้องบอกเลยว่าถ้าไม่ใช่ผู้นำตัวจริงคงอยู่ได้ยาก

ทั้งสมศักดิ์ บุญคำผู้ก่อตั้งLocal Alike และวรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ผู้ก่อตั้งHomemade Stay ต่างเป็นผู้บุกเบิกและ ผู้ขับเคลื่อน คนสำคัญในธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อชุมชนและ การสร้าง ผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก อย่างนับไม่ถ้วนจนถือว่าทั้งคู่คือหัวแถวที่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับการท่องเที่ยวและโรงแรมของประเทศไทย

Local Alike ปัจจุบันคือผู้นำในธุรกิจท่องเที่ยวเพื่อชุมชนอันดับต้นของเมืองไทย และHomemade Stay คือผู้ก่อตั้งชุมชนโรงแรมขนาดเล็ก และผู้พัฒนา ระบบจัดการโรงแรมขนาดเล็กชั้นนำของไทย ที่มีพื้นฐานในการสร้างผู้ประกอบการโรงแรมคุณภาพขนาดเล็กนับร้อยแห่งทั่วประเทศอย่างยาวนานมากว่า10ปี  จากหลักสูตรเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเตล  มาวันนี้ทั้งคู่ได้ร่วมกันผนึกกำลังพัฒนา และ เจาะตลาดที่พักระดับบนในชุมชนที่เรียกว่า บูติกโฮมสเตย์ทั้งในเมืองใหญ่และในเมืองรอง รวมถึงชนบทบ้านนอกที่ห่างไกล เน้นจุดขายธรรมชาติ วัฒนธรรม สุขภาพ และ ที่พักเพื่อการเรียนรู้ ในระดับ Premium ไปจนถึงHi end โดยเฉพาะกลุ่มFamily และกลุ่มSilver Hair เพราะมั่นใจว่านี่คือตลาดที่จะมีมูลค่าสูงต่อไปในอนาคต พร้อมกับสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศได้ ซึ่งตรงกับเป้าหมายในระยะยาวของทั้งสองบริษัท

การรวมตัวกันครั้งนี้ น่าจะทำให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวในบ้านเราอย่างชัดเจน เพราะ มีการเซนต์สัญญาร่วมกัน เพื่อการร่วมพัฒนาหมู่บ้านชนบทให้เป็นที่พักระดับSuper Homestay ที่เน้นจุดขาย Original Experience รวมถึงช่วยนำนักท่องเที่ยวระดับบนจากทั่วโลก ไปพักกับโรงแรมขนาดเล็กที่อยู่ในระบบเครือข่ายของHomemade Stayอีกด้วย โดยมีการคัดเลือกชุมชนและโรงแรมเพื่อเข้ามาร่วมเครือข่ายดังกล่าว

ในด้านการพัฒนาและสร้างเครือข่ายที่พักนั้น Homemade Stay ที่เป็นผู้พัฒนาระบบการจัดการโรงแรมขนาดเล็ก ซึ่งปัจจุบันพัฒนาต่อเนื่องมาเป็นเฟรนไชส์สำหรับโรงแรมขนาดเล็ก จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษา ช่วยออกแบบ การทำให้ถูกกฎหมายได้รับใบอนุญาต รวมถึงวางระบบApplication ที่ครอบคลุมตั้งแต่การCheckin- Check out, บัญชีและสรุปรายรับรายจ่าย , ระบบChannel Manager, ระบบกรอกข้อมูลอัตโนมัติ

เพื่อช่วยลดเวลาในการจัดการและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับโรงแรมขนาดเล็ก เพื่อพัฒนาโรงแรมขนาดเล็ก บูติคโฮเตล และที่พักขนาดเล็ก ทั้งในเมืองใหญ่ และในเมืองรองที่ยังมีโอกาสเติบโตสูง แต่ยังมีมูลค่าการลงทุนที่ไม่สูงจนเกินไป เช่น อุทัยธานี พิจิตร แม่ฮ่องสอน ปัตตานี อยุธยา ราชบุรี กาญจนบุรี สระบุรี สุพรรณบุรี หนองคาย นครศรีธรรมราช ตรัง  รวมถึง โฮมสเตย์ส่วนบุคคล หรือ Individual Homestay ที่อยู่ใน เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี หรือ กระบี่ และภูเก็ต

และLocal Alike ที่มีความเชี่ยวชาญในการนำนักท่องเที่ยวคุณภาพจากทั่วโลก มาเที่ยวในชุมชนของประเทศไทยนั้นจะเป็นผู้นำ กลุ่มนักท่องเที่ยวระดับบนนี้มาพักในโรงแรมขนาดเล็กและโฮมสเตย์ที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าว เพราะนี่คือตลาดที่มีคุณภาพ และมีกำลังซื้อสูง และมีคู่แข่งขันน้อย

ซึ่งการร่วมมือครั้งนี้ เชื่อว่าสามารถสร้างการตลาดและจะช่วยเพิ่มยอดขาย ให้กับ ที่พัก ที่อยู่ ในเครือของHomemade Stay ที่จะพัฒนาไปเป็นที่พักคุณภาพสูง ราคาระดับบน รวมถึงเพิ่มช่องทางการขายทัวร์ชุมชน และเป็นทางเลือกที่พักระดับบนสำหรับ กลุ่มลูกค้าคุณภาพของLocal Alikeอีกด้วย 

ลองไปฟังบทสัมภาษณ์กันว่าการร่วมมือครั้งนี้ เกิดขึ้นได้อย่างไรและ ผู้ประกอบการจะได้อะไร และจะยกระดับการท่องเที่ยวในประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง

บทสัมภาษณ์ สมศักดิ์ บุญคำ จาก Local Alike และ วรพันธุ์ คล้ามไพบูลย์ จาก Homemade Stay

คำถาม : จากการที่คุณทั้งสองคนอยู่ในวงการธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการสร้างผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กที่ให้เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นอาคารเก่ามาเป็นโรงแรมบูติก เรื่องของเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือว่าจะเป็นเรื่องของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในชุมชนที่กระจายรายได้และไม่สร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม แต่สร้างความเข้มแข็งชุมชน คิดว่าสิ่งที่ประเทศไทยขาดคืออะไร

วรพันธุ์ : ในมุมของ-การทำโรงแรมขนาดเล็ก ผมคิดว่านี่คือช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย การที่เราอยู่ในวัฏจักรของการท่องเที่ยวราคาถูก ที่ทิ้งผลกระทบที่เราไม่อยากได้มานาน ในช่วง 4-5 ปีหลังนี้พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง การเกิดขึ้นของแอพพลิเคชั่นต่างๆ มุมมองของนักท่องเที่ยวนักเดินทางที่แสวงหาที่พัก มีประสบการณ์มากขึ้น รวมถึงการเปิดกว้างของกฎหมายและสถาบันการเงิน หรือแม้แต่เรื่องโรคระบาด สิ่งต่างๆเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการต้องมีความพร้อมที่จะสร้างรูปแบบที่พักใหม่ๆ ที่เติมเต็มความต้องการของนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ เช่น ในฝั่งของโรงแรมขนาดเล็กนั้นสามารถเปิดในทำเลที่ที่หลากหลายได้มากขึ้น แม้กระทั่งทำเลที่ไกลสุดลูกหูลูกตา พื้นที่ห่างไกล ก็สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะหมู่บ้านชนบทต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวเองก็เบื่อกับที่พักแบบเดิมๆ จึงแสวงหาที่พักใหม่ที่ให้ประสบการณ์ ให้มุมมองที่แตกต่างได้ ที่สำคัญถึงที่พักเหล่านี้มีขนาดเล็กแต่มักจะมีราคาที่แพง ทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ครอบครัวมีรายได้ บ้านเรือนมีความสวยงามขึ้นถนนในซอยมีความสวยงามขึ้น ผมเชื่อว่าประเทศไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุคที่ 3 ของการท่องเที่ยวที่มีราคาแพงขึ้น การท่องเที่ยวมีคุณภาพสูงขึ้น จะทำให้สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมในประเทศเรามีความยั่งยืนขึ้น

สมศักดิ์ : สำหรับในส่วนของการท่องเที่ยว เพื่อชุมชนเช่นเดียวกันครับ จากการที่เราได้ทำงานเราพบว่า ตลาดนี้มีศักยภาพสูงมาก และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวไปได้อย่างเรื่อยๆที่สำคัญคือ สร้างความยั่งยืนกระจายรายได้และ ไม่ทิ้งผลกระทบที่ไม่ต้องการเอาไว้ นั่นคือสิ่งที่เราทำมาตลอด ส่วนสาเหตุที่ได้มาพบกับพี่ขิงและ Homemade Stay ก็คือ เราได้พานักท่องเที่ยวไปหมู่บ้านแต่เมื่อถึงเวลานอนแล้ว นักท่องเที่ยวกลับไม่ต้องการพักในหมู่บ้าน เพราะโฮมสเตย์ในหมู่บ้าน ยังไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีความปลอดภัย ไม่มีความสะอาด ไม่ความเป็นสัดส่วน เราคิดว่าถ้าสามารถพัฒนาที่พักในหมู่บ้านได้ นักท่องเที่ยว นักเดินทางจะสามารถเข้าพักในหมู่บ้านได้ โดยไม่ต้องไปนอนโรงแรมในเมือง น่าจะเป็นอีกก้าวหนึ่งของการท่องเที่ยวเพื่อชุมชนครับ

คำถาม : การทำงานร่วมกับ Homemade Stay ครั้งนี้ Local Alike อะไรน่าจะได้อะไรบ้าง

สมศักดิ์ : แน่นอนที่สุด ที่เราเชื่อว่าจะได้คือ การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้  และกระบวนการจัดการ การเปลี่ยนบ้านธรรมดาให้เป็นบูติคโฮมสเตย์ที่มีคุณภาพ ตามแบบที่พี่ขิงได้ทำมาแล้วกับคอร์สเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล ที่เราเห็นว่าได้สร้างผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กดีๆ ทั่วประเทศ เราเชื่อว่า Know how เหล่านี้จะช่วยพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการโฮมสเตย์ในเส้นทางท่องเที่ยวในหมู่บ้านชนบทของเรา ให้มีที่พักที่มีคุณภาพมากขึ้น สามารถเก็บเงินได้มากขึ้นสามารถส่งมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้ลูกค้าได้มากขึ้นได้

คำถาม : และในฝั่งของ Homemade Stay  คิดว่าจะได้ประโยชน์อะไรบ้างจากการร่วมงานกับ Local Alike

วรพันธุ์ : เราเริ่มจาก การสร้างโรงเรียนผู้ประกอบการเปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล มาเป็นเวลา 10 ปีมาแล้ว มีเจ้าของโรงแรมขนาดเล็ก เปิดกิจการทั่วประเทศโดยจะเป็นโรงแรมขนาดเล็กและขนาดกลางที่สำคัญคือหลายแห่งอยู่ในชนบทที่ห่างไกล และอยู่ในซอกในซอย เราเชื่อว่ากลุ่มลูกค้าของ Local Alike จะสามารถเข้ามา เป็นกลุ่มลูกค้าที่มีความสำคัญกับโรงแรมขนาดเล็กเหล่านี้ ในชนบท ในเมืองรอง หรือกระทั่งในตรอกซอยกรุงเทพฯ จากการที่เขาเคยต้อนรับกลุ่มลูกค้าทั่วๆไป ที่ลองมานอนโรงแรมขนาดเล็ก  เมื่อโรงแรมขนาดเล็กที่มีคุณภาพ มาพบกับนักท่องเที่ยวที่มีประสบการณ์และเดินทางด้วยความเข้าใจในชุมชน จะเป็นการยกระดับการท่องเที่ยวที่สำคัญแบบครบวงจรครับ

คำถาม : ผู้ประกอบการกลุ่มใดบ้างที่น่าจะได้ประโยชน์จากการรวมตัวกันครั้งนี้?

สมศักดิ์ : อย่างแรกที่แน่นอนเลยครับ ก็คือ กลุ่มโฮมสเตย์ กลุ่มท่องเที่ยวในชุมชนทั่วประเทศ ที่เรามีเครือข่ายร่วมกันอยู่ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มชาวไร่ชาวนา ชาวชนบทจำนวนมาก ที่เต็มไปด้วยศักยภาพ แต่ยังขาดองค์ความรู้ การออกแบบ ทั้งเรื่องความสวยงามและการใช้งาน ที่จะสามารถยกระดับการแข่งขัน  และเป้าหมายของเราก็คือ ทำอย่างไรถึงจะเปลี่ยนโฮมสเตย์ที่ขายได้ราคา 250 บาทแล้วโดนต่อราคาแล้วต่อราคาอีก เป็นราคาขายครั้งละ 1,500 บาท ได้ นี่คือโจทย์ที่ท้าทายเราทั้งสองคนอย่างมากครับ แต่ด้วยประสบการณ์และความเชื่อที่เรามี เราเชื่อว่าจิตใจที่รักงานบริการและความสวยงามของชนบท ที่รวมถึงวัฒนธรรมและอาหารการกินที่มีเสน่ห์ มีความพลังมากพอที่จะสร้าง ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ตอบสนองความต้องการของนักเดินทางที่มีประสบการณ์ได้

วรพันธุ์ : อีกเรื่องที่สำคัญก็คือเรื่องของ “กฎหมายครับ เราต้องการสนับสนุนให้ที่พักทั่วประเทศไม่ว่าจะเป็นอยู่ในเมืองหรือในชนบทหรือจะเป็นโฮมเตย์ขนาดเล็กในชุมชน ควรมีใบอนุญาตกันทั้งหมดตามหลักการทำธุรกิจโรงแรม 4 ข้อนั่นก็คือคือ  1.) จุดขาย ต้องมีจุดหมายที่ยอดเยี่ยม 2.) กฎหมาย ต้องถูกกฎหมาย 3.) การเงิน มีกระแสการเงินที่ดี มีการจัดการการเงินที่ดี ระบบระบบบัญชีตัวเลขที่ดี และ ข้อ 4.) ระบบการจัดการ ระบบข้อมูลข่าวสาร ระบบฐานข้อมูลลูกค้าต้องเก็บให้ครบถ้ามี 4 ข้อนี้ ไม่ว่าจะทำโรงแรมหรือที่พักที่ไหน ก็จะประสบความสำเร็จครับ 

คำถาม : คิดว่าว่าทำไม ชุมชนหรือหมู่บ้านในชนบทถึงควรทำธุรกิจโฮมสเตย์  เขาอยากทำจริงๆหรือเราเอาความคิดนี้ไปยัดใส่เขา 

วรพันธุ์  : เรื่องของโฮมสเตย์ หรือการเปิดบ้านให้คนพักนั้นสาระหลักก็คือการสร้างรายได้เพิ่มให้กับชุมชน  แต่ที่จริงมันไม่ใช่แค่เรื่องการท่องเที่ยวอย่างเดียว แต่ยังเป็นเรื่องการกระจายความเจริญ การบ่งปันโอกาสในการเรียนรู้ และต้องทำให้ชาวบ้านมีรายได้ขึ้นได้อย่างจริงจังด้วย สามารถประกอบเป็นธุรกิจได้  มีเงินส่งลูกไปโรงเรียนดีๆ เมื่อเจ็บป่วยสามารถหาหมอดีๆได้ เราสองคนเชื่อว่าการทำโฮมสเตย์ คือหนึ่งในแหล่งรายได้สำคัญ ชาวบ้านในชนบทที่บ้านไม่มีคนอยู่ แต่บ้านมีเอกลักษณ์ มีความสวยงามสามารถเปลี่ยนบ้านเหล่านี้ ซึ่งแทบไม่ได้ใช้งานอยู่แล้วมาเป็นที่พัก สามารถจัดสวนหน้าบ้านที่ที่เคยทรุดโทรมให้สวยงามสะอาดตาได้ หลายครั้งการที่หมู่บ้านสร้างรายได้ได้ ก็ทำให้ลูกหลานกลับมาที่บ้านเกิด รายได้เกิดขึ้นมากมาย เช่น ขายสินค้า ขายผลิตภัณฑ์ ขายกิจกรรมในหมู่บ้าน หมู่บ้านก็จะไม่เป็นหมู่บ้านที่ทิ้งร้างอีกต่อไป 

คำถาม ในฝั่งของ Homemade Stay และ เปลี่ยนบ้านเก่าเป็นบูติคโฮเต็ล นั้น จากนักท่องเที่ยวที่เคยนอนโรงแรมบูติคดีๆ เพราะอะไรถึงจะต้องไปนอนในโฮมสเตย์ในหมู่บ้านที่ห่างไกลครับ 

วรพันธุ์ : จริงๆแล้วหัวใจของการเดินทางปัจจุบันก็คือการ ค้นพบประสบการณ์ใหม่ๆที่เขาไม่ได้คาดหวัง กลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมก็ยังมีอยู่ เช่น กลุ่มคนทำงานกลุ่มในเมือง กลุ่มที่ต้องการความสุขสบายแต่ ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน พฤติกรรมผู้บริโภคที่ที่แสวงหาสิ่งใหม่ๆ ทำให้คนกลุ่มนี้ต้องการหาที่พักหรือจุดหมายในการเดินทางที่มีความแตกต่าง ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องของความสวยงามหรือเอกลักษณ์ของสถานที่ บางครั้งการเดินทางท่องเที่ยวภายในชนบทและนอนหมู่บ้านนั้นยังเป็นเรื่องของการเรียนรู้ การฝึกทักษะต่างๆ เช่น การฝึกการทำการเกษตร การฝึกการทำศิลปะหัตถกรรม หรือการทำอาหารรวมถึงการบำบัดรักษาสุขภาพด้วยศาสตร์ต่างๆที่มีอยู่ในท้องถิ่น ที่สำคัญสิ่งนี้จะทำให้เกิดการกระจายรายได้อย่างมั่นคง เราเห็นภาพชนบทที่อาจจะไม่ได้เจริญทางวัตถุ แต่เขามีโครงสร้างรายได้ที่ยั่งยืน และมั่นคงเราเห็นภาพหมู่บ้าน แม่น้ำทุ่งนา ที่ยังอุดมสมบูรณ์และมีความดั้งเดิม แต่ชาวบ้านไม่ต้องย้ายถิ่นฐานเข้ามาเป็นคนงานในเมือง เพราะอยู่ที่บ้านเขามีรายได้เลี้ยงตัวเลี้งครอบครัวได้ เราเห็นภาพลูกหลานกลับไปอยู่ที่บ้าน ถ้าชาวนามีที่ดิน5ไร่ ไม่พอสำหรับทำนา แต่พอเหลือเฟือสำหรับการทำโรงแรม!!! เขาเปิดบ้านเป็นที่พักหรือจะทำเป็นขนาดโรงแรมเลยก็ยังได้ พร้อมกับขายศิลปหัตถกรรมในหมู่บ้าน ขายโปรแกรมบำบัดธรรมชาติที่มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็น วารีบำบัด อาชาบำบัด สมุนไพรบำบัดบำบัด อาหารปลอดสารพิษบำบัด เกษตรกรรมบำบัด เป็นต้น สิ่งนี้น่าจะช่วยให้รูปแบบการท่องเที่ยวในประเทศไทย สามารถขึ้นเป็นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในระดับโลกได้ 

คำถาม : ในแง่ธุรกิจ จะเป็นผลดีกับทั้งสองเครือข่ายอย่างไรบ้าง 

วรพันธุ์ : แน่นอนครับ การร่วมมือกันครั้งนี้จะทำให้เครือข่ายโรงแรมของเรา มีรายได้มากขึ้นมากขึ้น  ถูกต้องตามกฎหมาย มีมาตรฐานใกล้เคียงกับโรงแรมและมีเอกลักษณ์ที่เขามีอยู่จริงๆ เมื่อมีทัวร์จาก Local Alike เข้าไป ก็จะขายกิจกรรม ขายที่พักในชนบทที่มีราคาแพงได้ กลุ่มนี้ที่เราร่วมงานอยู่ก็จะเกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ถ้าโมเดลนี้สำเร็จก็สามารถขยายไปทำที่ใดก็ได้ของประเทศไทย ในฝั่ง Homemade Stayเชื่อว่า Local Alike มีทักษะองค์ความรู้ ยอดเยี่ยมในการบริหารชุมชนและเรื่องของคน โรงแรมขนาดเล็กที่อยู่ในเครือข่ายของเรา นอกจากจะได้ลูกค้าตามปกติจาก OTA ทั่วไปแล้ว การเข้ามาของลูกค้าที่เน้นวัฒนธรรมของ Local Alike  น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มลูกค้า โรงแรมขนาดเล็กที่ใช้ระบบของเราที่อยู่ในเมืองรอง เช่นจังหวัดพิจิตร, อุทัยธานี, กาญจนบุรี, แม่ฮ่องสอน, น่าน,  แพร่, พะเยา, อุบลราชธานี ฯลฯ  หรือ จังหวัดเมืองรองหลายๆแห่ง ทั้งภาคอีสานและภาคใต้ได้ เมื่อลูกค้าที่มีคุณภาพจาก Local Alike  ได้มาพบกับ ที่พักขนาดเล็กที่มีคุณภาพของ Homemade Stay เราจะสามารถสร้างโปรแกรม ท่องเที่ยวที่มีราคาสูงขึ้นได้ เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ดีมากๆสำหรับนักท่องเที่ยวเองและดีมากๆสำหรับที่พักและการท่องเที่ยวโดยชุมชนด้วยครับ 

คำถาม กิจกรรมที่จะร่วมกันทำ จากการรวมตัวครั้งนี้มีอะไรบ้างและคาดหวังอะไร 

สมศักดิ์ : แน่นอนครับ สิ่งที่เราจะทำคือเราจะจัดทัวร์ ร่วมกันโดยนำกลุ่มลูกค้าที่ ที่ชื่นชอบการท่องเที่ยววิถีชุมชนของ Local Alike ที่เราเคยไปท่องเที่ยวตามชนบทหมู่บ้าน ลองมานอนที่พักในเมืองบ้าง ไม่ว่าจะเป็นกรุงเทพฯ หรือตามตรอกซอกซอยของกรุงเทพฯ คลองบางกอกน้อย, ริมคลอง หรือ ย่านต่างๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าในเครือข่าย Homemade Stayจะมีที่พักที่มีศักยภาพในพื้นที่ เช่นย่านอ่อนนุช, เจริญกรุง, เจริญนคร, ตลาดน้อย เป็นต้น  รวมถึงจะจัดโปรแกรมทัวร์ในพื้นที่เมืองรองที่เราอาจจะไม่เคยจัด เพราะขาดที่พักที่ดี แต่คราวนี้เราก็จัดเพราะเนื่องจากมีโรงแรมขนาดเล็กดีๆจากกลุ่มโฮมสเตย์ เข้ามาอยู่ใน เป้าหมายแล้ว ไม่ว่าจะเป็น พิจิตร, แม่ฮ่องสอน, สุโขทัย , อุทัยธานี  และอีกหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ เป็นต้น ซึ่งเราวางแผนว่าจะจัดกิจกรรมร่วมกันในปีนี้ 3 ครั้งเพื่อเป็นการทดลองตลาด หลังจากนั้น จะมีการ จัดกิจกรรมที่มีความเข้มข้นยิ่งขึ้นไปอีก โดยจะเปิดเผยให้ทราบในช่วงกลางปีครับ