“พระนคร ออน เดอะ มูฟ”

“พระนคร ออน เดอะ มูฟ”

มิวเซียมสยาม ชวนมูฟออนกับนิทรรศการหมุนเวียนชุดใหม่ วันนี้ ถึง 1 มีนาคม 2563 ณ อาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ

นายราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม) กล่าวว่า “ในช่วงเดือนกันยายน 2562 ที่ผ่านมา รถไฟฟ้ามหานคร (MRT) ซึ่งเป็นระบบขนส่งมวลชนรถไฟใต้ดินได้เปิดให้บริการในส่วนต่อขยายของสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ซึ่งเริ่มจากสถานีหัวลำโพง เข้ามายังพื้นที่เมืองเก่า โดยมีสถานีที่ให้บริการในบริเวณเกาะรัตนโกสินทร์ 2 สถานี คือ สถานีสามยอด และสถานีสนามไชย ซึ่งสถานีสามยอด ก็เป็นอีกสถานีหนึ่งที่ผ่านเข้ามาในย่านเมืองเก่าเช่นกัน โดยมักเรียกบริเวณนั้นโดยรวมว่าย่าน สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัดถือเป็นย่านการค้าสำคัญในอดีต      เป็นศูนย์กลางความเจริญของกรุงเทพฯ ในช่วงเปลี่ยนผ่าน จากสังคมจารีต สู่โลกสมัยใหม่แบบตะวันตก”

นายราเมศ กล่าวต่อว่า “ย่าน “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด” นี้ เริ่มมีบทบาทมาตั้งแต่สมัย ร.4 ที่ทรงให้ตัดถนนเจริญกรุงขึ้นมา เกิดการก่อสร้างสถาปัตยกรรมรูปแบบใหม่และผังเมืองที่ขยายตัวอย่างมาก นิทรรศการ พระนคร on the Move”: “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด” ก้าวย่างบนเส้นทางอย่างตะวันตก  จึงเป็นการคลี่ให้เห็นความรุ่งเรืองหลากหลายของชุมชนเก่าแห่งหนึ่งในพระนคร ที่ปัจจุบันอาจจะโรยราไปด้วยความเจริญย้ายออกไปยังถิ่นอื่น แต่นับจากสถานีรถไฟฟ้ามาเยือน ความเปลี่ยนแปลงในย่านนี้จะเกิดขึ้นใหม่อีกครั้ง ปลุกย่านการค้าเก่าให้คนไทยหวนคิดถึงกัน

ภายในนิทรรศการชุดนี้ แบ่งออกเป็น 7 โซนด้วยกันประกอบด้วย

โซนที่ 1 มีอะไรในแผนที่ บอกเล่าเรื่องราวความเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการของย่านการค้าแห่งนี้ นับตั้งแต่ถนนเจริญกรุงตัดขึ้นมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ความเปลี่ยนแปลงของเมืองบางกอกที่เชื่อมโยงถนนสายต่าง ๆ เชื่อมผู้คนจากต่างถิ่นให้เข้ามาหากัน ผ่านเทคนิคการ Mapping

โซนที่ 2 ช่างฝรั่ง กับวังสยาม โซนที่จะพาผู้ชมไปรู้จักกับ “ช่างฝรั่ง” นายโจอาคิม แกรซี เบื้องหลังงานออกแบบของสถาปัตยกรรมและสิ่งก่อสร้างในย่านนี้ ที่พลิกพระนครให้เป็นฝรั่งได้ด้วยสายตา

โซนที่ 3 ช่างฝรั่ง โรงชักรูป การเข้ามาของช่างชักรูปชาวต่างชาติ ที่หมุนเวียนกันเข้ามาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ก่อให้เกิดกระแสของการบันทึกภาพของชนชั้นนำชาวสยามและการถือกำเนิดขึ้นของสตูดิโอชักภาพในตำนานห้างโรเบิร์ต เลนซ์

โซนที่ 4 หมอยาฝรั่ง ห้างบีกริม บอกเล่าเรื่องราวของห้างสุดโอ่อ่า ที่ตั้งอยู่ตรงหัวมุมย่านประตูสามยอด ภายใต้การดูแลหมอยาฝรั่ง นายอดอล์ฟ ลิงค์ ได้นำพาสินค้านานาชนิดมาสู่พระนคร พร้อมการเกิดขึ้นของ “ร้านขายยาสยาม” และต้นกำเนิดของย่านขายเครื่องจักร, กล้อง และปืน

โซนที่ 5 ห้างสรรพสินค้า พ่อค้านานาชาติ จุดเริ่มต้นของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นราวปลายรัชกาลที่ 6 คือ ช่วงเวลาเดียวกันของกระแส “เห่อของนอก” จากการหลั่งไหลเข้ามาของสินค้านานาชาติทั้งจีน, ฝรั่ง, แขกมุสลิมดาวูดี โบห์รา และแขกสิกข์ขายผ้า เข้ามาขายในพระนครจนติดอกติดใจชาวสยาม

โซนที่ 6 มหรสพฝรั่ง โรงหนังนำสมัย เรื่องราวของรูปแบบความบันเทิงจากตะวันตก ที่เข้ามามีอิทธิพลกับชีวิตของชาวพระนคร ให้เรียนรู้เรื่องฝรั่ง และความเป็นไปของโลกผ่านภาพยนตร์

โซนที่ 7 ก้าวย่างอย่าง “สามยอด” การมาถึงของรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) กับเรื่องราวบทต่อไปของย่านนี้ กับความเปลี่ยนแปลงใหญ่อีกครั้ง สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด

โดยความพิเศษของนิทรรศการชุดนี้ นอกจากผู้เข้าชมจะได้เพลิดเพลินกับนิทรรศการแล้ว ยังสามารถร่วมกิจกรรมพิเศษในชื่อกิจกรรม พระนคร On Foot” คู่มือท่องย่านชุดพิเศษที่ชวนผู้ชมร่วมก้าวย่างบนเส้นทางการเรียนรู้ด้วยตัวเอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้า กรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) จากสถานี สนามไชยเดินทางสู่สถานี สามยอดท่องย่าน สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัดที่ให้ผู้ชมได้ได้ แชะ ชิม ช้อป พร้อมสร้างประสบการณ์จริงผ่าน 34 จุด และ 36 Hashtag แบ่งปันประสบการณ์กันต่อบนโลกออนไลน์ สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งผู้ชมทุกท่านที่ได้เข้าชมนิทรรศการจะได้รับแผนที่ พระนคร On Foot” หลังจากชมนิทรรศการโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับนิทรรศการ พระนคร on the Move”: “สามยอด-วังบูรพา-พาหุรัด ก้าวย่างบนเส้นทางอย่างตะวันตก เปิดให้เข้าชมตั้งแต่ วันนี้ ถึง 1 มีนาคม 2563 วันอังคาร วันอาทิตย์ (พิพิธภัณฑ์ปิดให้บริการวันจันทร์) เวลา 10.0018.00 น. ณ อาคารอเนกประสงค์ มิวเซียมสยาม ท่าเตียน กรุงเทพฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

สำหรับหน่วยงานหรือสถาบันการศึกษา ที่มีความประสงค์จะนำนักเรียน นักศึกษาเข้าชมนิทรรศการ เป็นหมู่คณะสามารถทำหนังสือแสดงความจำนงขอเข้าใช้บริการได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย

ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-225-2777 หรือ www.MuseumSiam.org | www.facebook.com/MuseumSiamFan

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่                                                                                                                                 

สุจิตรา  ชุ่มจันทร  (เบน)  โทร. 086-387-9373 อีเมล [email protected]