อุตสาหกรรมการผลิต ในยุค Digital Transformation

อุตสาหกรรมการผลิต ในยุค Digital Transformation

โดย : นายยศธนา จารุทรรศนกุล ตำแหน่ง ที่ปรึกษาอาวุโส ศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในยุคที่ธุรกิจได้เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วจากวิวัฒนาการของเทคโนโลยี หลายอุตสาหกรรมต้องมีการปรับตัวโดยนำ Digital Transformation เข้ามาช่วยอย่างขาดไม่ได้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมผลิตที่ต้องเจอกับอุปสรรคอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงในด้านความต้องการของผู้บริโภคอย่างรวดเร็ว ค่าแรงและค่าใช้จ่ายที่จะสูงขึ้นในทุกๆ วัน จากเดิมที่เคยแข่งขันทางด้านราคา จากการผลิตสินค้าในจำนวนมากเพื่อให้ได้ Economy of scales อาจจะไม่สามารถทำรายได้หรือกำไรได้อย่างเดิมอีกต่อไปแล้ว

การเข้ามาของ Industry 4.0 หรือเรียกได้ว่าเป็นการที่รวมกันระหว่าง Digital กับ Physical Resources และการเข้ามาของ Internet of Things ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการที่จะทำให้ผู้เล่นในอุตสาหกรรมการผลิตอยู่รอดได้ ซึ่งแนวคิดของ Internet of Things คือการนำอินเทอร์เน็ตไปเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่างๆ ให้อุปกรณ์นั้นสามารถรับ-ส่งข้อมูล เพื่อควบคุมและวิเคราะห์เพื่อต่อยอดในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชนต่อไป
72 จาก100 บริษัทชั้นนำในอุตสาหกรรมการผลิตของสหรัฐอเมริกาได้เริ่มมองเห็นการใช้ Internet of Things ในการจัดการเรื่องการผลิตเป็นหลัก ได้มีการใช้ Internet of Things เพื่อเป็นการประหยัดทรัพยากรด้านพลังงานและแรงงาน

โดยมุ่งเน้นไปในการทำให้เครื่องจักรในกระบวนการผลิตมีความฉลาดมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานสูงขึ้น ผลผลิตมากขึ้น ใช้เวลาในการผลิตน้อยลง และปริมาณของเสียน้อยลง ข้อมูลที่ส่งถึงกันในระบบแบบ Real-Time ทำให้สินค้าคงคลังน้อยลง และลดค่าใข้จ่ายในการจัดเก็บ เครื่องจักรที่สามารถเชื่อมต่อกันได้ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตจะสามารถทำให้มีการจัดการควบคุมการผลิตได้จากทุกๆที่ แม้ว่าเครื่องจักรต่างๆจะไม่ได้อยู่ในที่เดียวกันหรือแม้แต่ในโรงงานเดียวกันก็ตาม

ข้อมูลที่เก็บได้จากการทำงานของเครื่องจักร เช่น อุณหภูมิ ความสั่นสะเทือน รอบหมุน รวมถึงการวิเคราะห์ต่างๆ จะทำให้บริษัทสามารถคาดการณ์ (Predict) ได้ว่าเครื่องจักรจะต้องมีการดูแลรักษาเมื่อใด นอกจากจะช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านการซ่อมบำรุงรักษาแล้ว ยังสามารถช่วยในเรื่องการจัดการเวลาหยุดทำงาน (Down time) ของเครื่องจักรได้ดีขึ้น ส่งผลให้สามารถวางเเผนการผลิตได้แม่นยำขึ้น และลดโอกาสเกิด Unplanned shut down อีกด้วย

นอกจากประโยชน์จากการใช้ Internet of Things ในการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตแล้ว Internet of Things ยังสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการผลิตได้อีกมาก ข้อมูลที่จะสามารถนำมาใช้ได้ ไม่ได้มาจากแค่เครื่องจักรที่อยู่ในโรงงานผลิตเท่านั้น แต่ยังสามารถมาจากทั้ง Value Chain ที่รวมไปถึงข้อมูลจาก Suppliers Distributors จนไปถึงข้อมูลที่ได้จากผู้บริโภคด้วย ข้อมูลเหล่านี้จะสามารถทำให้ บริษัทได้มีโอกาสพัฒนาสินค้าใหม่ หรือแม้กระทั้งธุรกิจใหม่ๆ เช่น บริษัทผลิตเครื่องจักร นอกจากประโยชน์ที่ได้กล่าวไปข้างต้นแล้วนั้น Internet of Things ยังทำให้ผู้ผลิตสามารถเข้าถึงข้อมูลของลูกค้าได้โดยตรงจากการสร้าง Application ให้กับลูกค้า ซึ่งในอดีตข้อมูลเหล่านี้จะถูกจัดเก็บอยู่กับฝั่งของ Distributors หรือ Resellers เท่านั้น

นอกจากนี้ผู้ผลิตยังสามารถเก็บข้อมูลด้านการใช้งานของลูกค้าเพื่อมาปรับปรุงทำให้สินค้าในอนาคตดียิ่งขึ้นหรือตอบโจทย์ลูกค้ามากขึ้น และยังทำให้ผู้ผลิตมีโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรง เช่นการนำเสนอการบริการหลังการขาย และนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ให้ลูกค้าได้ ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Hewlett Packard นำข้อมูลจาก Printer ว่าลูกค้ามีการใช้งานมากน้อยแค่ไหน และมีระบบสั่งตลับหมึกแบบอัตโนมัติโดยที่ไม่ต้องผ่าน Process การจัดซื้อแบบทั่วไป ทำให้ทั้งลูกค้ามีความสะดวกสบาย และบริษัทสามารถขายตลับหมึกให้กับบริษัทได้อย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ Internet of Things ยังทำให้เกิด Business Model ใหม่ๆ สำหรับบริษัทการผลิต เนื่องจากการขายสินค้าหนึ่ง อาจจะยากมากเนื่องจากราคาสูง ลูกค้าไม่มั่นใจว่าจะสามารถใช้งานสินค้าได้อย่างเต็มที่หรือไม่และไม่คุ้มค่าในระยะยาว การเข้ามาของ Internet of Things นั้นช่วยให้เราก้าวข้ามอุปสรรคเหล่านี้ได้ ยกตัวอย่างเช่น บริษัทหนึ่งต้องการลงทุนซื้อเครื่องพิมพ์แบบมืออาชีพ ซึ่งราคาสูงมาก จนไม่สามารถทำให้เกิดการซื้อขายกันได้ แต่ถ้าแทนที่บริษัทนี้จะต้องจ่ายเงินเต็มในการซื้อเครื่องจักร บริษัทที่ขายเครื่องพิมพ์สามารถที่จะเสนอการเก็บเงินจากการจำนวนงานที่พิมพ์และใช้งานจริงซึ่งเป็นการปรับ Business Model จาก Transactional Based เป็น As-a-Service หรือ Outcome Approach เพราะ Internet of Things จะมาช่วยให้บริษัทผู้ขายรู้ถึง Utilization Rate ที่แท้จริงของเครื่องจักรนั้นๆ

สุดท้ายนี้ บริษัทต่างๆได้มีการปรับตัวในการนำ Internet of Things เข้ามาใช้มากขึ้นเรื่อยๆ แต่หลายๆบริษัทก็ยังคงมองว่าเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่าในปัจจุบัน ความยากของการเริ่มต้นทำ Internet of Things ก็ถือเป็นปัจจัยหลักปัจจัยหนึ่งเช่นกัน การที่จะนำข้อมูลจากอุปกรณ์หลายๆ อย่างจากหลายๆ ผู้ผลิตมาอยู่บน Platform เดียวกันและทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นสื่อสารกันได้ไม่ใช่เรื่องง่าย หรือการที่จะต้องนำข้อมูลมหาศาลมาแปลงเป็นข้อมูลที่สามารถนำไปใช้งานได้ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเช่นกัน ถึงแม้ว่าทุกวันนี้ Technology ใหม่ๆ จะเข้ามาช่วยเหลือให้อุตสาหกรรมการผลิตสามารถก้าวข้ามอุปสรรคต่างๆ อย่างมากมาย แต่บริษัทต่างๆ ควรจะมุ่งเน้นในการนำ Technology ไปใช้โดยการแก้ปัญหา หรือแก้ Pain Points ที่แท้จริงของบริษัท เพราะการมุ่งเน้นแต่จะนำ Technology มาใช้ นอกจากจะไม่ช่วยเหลือในด้านธุรกิจแล้วแล้ว ยังจะส่งผลกระทบต่อบริษัท เช่นค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โอกาสและเวลาที่เสียไปด้วย

สอบถามข้อมูลข่าวเพิ่มเติมได้ที่
วรารัตน์ วงศ์ประทีป, Assistant Head of Marketing and Communications
[email protected] หรือ 02-218-3853

แพรวทิพย์ ด่านวราวิจิตร, Marketing and Communications Coordinator
[email protected] หรือ 02-218-3853, 065-329-4193
www.sasin.edu
www.facebook.com/sasinbusinessschool
www.twitter.com/SasinThailand