อพวช. จัดพิธีปิดโครงการและมอบรางวัลไวรัลคลิปยอดนิยม

อพวช. จัดพิธีปิดโครงการและมอบรางวัลไวรัลคลิปยอดนิยม

"Amuse & Amaze Short Film Contest Season 3" โดยผู้ชนะเป็นนักศึกษาจาก ม.ศรีปทุม พร้อมเปิดให้เยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า รอบพิเศษ

 

องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จัดพิธีปิดโครงการ "Amuse & Amaze Short Film Contest Season 3" พร้อมประกาศผลและมอบรางวัล Viral Clip ยอดนิยม เงินรางวัล 30,000 บาท ได้แก่ ทีม 4869 Production นักศึกษาจากรั้วมหาวิทยาลัยศรีปทุม เรื่อง สลับขั้ว มียอดวิว 18,320 วิว พร้อมเปิดให้สื่อมวลชนเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า รอบพิเศษ

 ดร.กรรณิการ์ เฉิน รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าว "ด้วยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) มีภารกิจในการดำเนินงานเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมสังคมไทยให้สนใจและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศ และปลูกฝังให้เยาวชนมีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งเป็นสถานที่ให้ความรู้และความเพลิดเพลินแก่ครอบครัว รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ มีบทบาทหน้าที่เป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Life long Learning) แหล่งสาระบันเทิง (Edutainment) แหล่งพัฒนาวิชาชีพ (Career Development) และแหล่งท่องเที่ยวอย่างมีสาระ (Edu-tourism Attraction)

ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดสังคมฐานความรู้ อพวช.จึงจัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรมรวมทั้งการประกวดขึ้นมา ภายใต้แนวคิด 'Fascinating Science วิทยาศาสตร์ชวนพิศวง' รวมทั้งโครงการผลิตรายการโทรทัศน์ 'สนุก มหัศจรรย์ ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์' โดยให้นิสิต นักศึกษา ในสถาบันอุดมศึกษาทั้งของรัฐและเอกชน ที่เข้าร่วมโครงการ ถ่ายทอดเรื่องราว กิจกรรม ความน่าสนใจในแง่มุมต่าง ๆ ภายในพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และพิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และประชาชนทั่วไป เห็นคุณค่าและเกิดแรงบันดาลใจทางด้านวิทยาศาสตร์  อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้รับประสบการณ์ตรงจากการจัดทำรายการวิทยุโทรทัศน์ที่แพร่ภาพออกอากาศจริง

  และปีนี้โครงการได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 โครงการประกวด Viral Clip พร้อมผลิตและเผยแพร่รายการ "สนุก มหัศจรรย์ ที่พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์" (Amuse & Amaze Short Film Season 3) เน้นรูปแบบสารคดี ละครสั้น หรือแอนนิเมชั่น ความยาวตอนละ 10 นาที จำนวน 30 ตอน ออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ททบ. 5 รวมทั้ง ทางสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม TGN โซนยุโรปและเอเชีย อีกจำนวน 60 ตอน ซึ่งได้รับความสนใจจากเยาวชนในการเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก โดยในปีนี้ได้มีการกระจายกลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการไปในระดับมัธยมศึกษาด้วย

 

สำหรับลำดับการดำเนินงานที่สำคัญ มีหลายขั้นตอนหลายส่วนด้วยกัน ประกอบด้วย การจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวโครงการ โดยมีผู้ส่งใบสมัครเข้าร่วมโครงการฯ 54 ทีม (213 คน) การจัด Workshop 2 ครั้ง จาก คุณอาจวรงค์  จันทมาศ คุณวิชัย มาตกุล คุณศุ บุญเลี้ยง คุณนนทรีย์ นิมิบุตร พร้อมมอบทุนในการถ่ายทำ ทีมละ 10,000 บาท มีผู้ส่งพล็อตเรื่องเข้าประกวดในโครงการ 41 ทีม โดยมี คุณศุ บุญเลี้ยง และ คุณนนทรีย์ นิมิบุตร เป็นผู้คัดเลือกพล็อตเรื่อง ซึ่งได้ผู้ผ่านเข้ารอบ 20 ทีม ต่อมาจึงเข้าสู่กระบวนการ วันถ่ายทำที่ผ่านมา ณ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จากนั้นส่งผลงาน Viral Clip ซึ่งได้มีการตัดสิน ประกาศผลมอบรางวัลในเดือนกรกฎาคม ทำการเผยแพร่ Viral clip รวบรวมยอดการรับชมทางช่องยูทูป TV5HD1 และจัดพิธีประกาศผลพร้อมมอบรางวัล Viral Clip ยอดนิยม พร้อมจัดงานปิดโครงการ

ในวันนี้เพื่อผลักดัน อพวช. เป็นแลนด์มาร์คสำหรับเยาวชนและบุคคลทั่วไป อพวช. จึงได้เปิดบริการให้เข้าชมพิพิธภัณฑ์พระรามเก้าอย่างเป็นทางการ เพื่อช่วยสร้างความตระหนักให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม การอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลและยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พิพิธภัณฑ์แห่งใหม่ของ อพวช.  ซึ่งอยู่ในบริเวณพื้นที่เดียวกับพิพิธภัณฑ์เดิมอีก 3 แห่ง โดยจัดให้พิพิธภัณฑ์พระรามเก้าเป็นพื้นที่สำหรับสร้างแรงบันดาลใจเกี่ยวกับการดูแลระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อม นิทรรศการจะจัดแสดงให้ทุกคนเห็นภาพของสิ่งแวดล้อมกันได้ชัดเจน เพื่อให้การเดินทางมาพิพิธภัณฑ์จะได้เห็นความมหัศจรรย์ของวิทยาศาสตร์ด้วยตนเอง กับไฮไลท์ 9 จุดห้ามพลาด และ 9 จุดต้องหยุดถ่ายภาพ

ดังนั้นเมื่อรู้จักวิทยาศาสตร์ได้ดี ด้วยการใส่ใจที่จะค่อย ๆ เติมเต็มความรู้ ก็จะทำให้ตัวเราเองได้ใช้เครื่องมือนั้น ๆ อย่างถูกวิธี อย่างรู้เท่าทัน ที่สำคัญคืออาจจะต่อยอดได้ โดยสร้างสรรค์ทำประโยชน์กับตัวเอง และแก่สังคมได้จากความรู้ที่มี เพราะขณะนี้โลกกำลังเปลี่ยนเยอะมาก ถ้าเรารู้ไม่เท่าทันเครื่องมือหรือผลผลิตจากวิทยาศาสตร์ ที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา  ก็อาจทำให้เราไม่สามารถก้าวทันโลกได้อย่างสมาร์ท จึงอยากฝากไว้ว่าวิทยาศาสตร์ไม่ใช่เรื่องที่ทำให้เราสนุกได้อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องที่สำคัญกับตัวเราและอนาคตของเราด้วย"

ผู้สนใจข้อมูลทั้งหมดเกี่ยวกับโครงการสามารถหารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.facebook.com/amuseandamazecontest