“ดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 12”

“ดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 12”

มูลนิธิบัวหลวง พร้อมประกวดศิลปินระดับเยาวชน เผยธีมสร้างสรรค์ผลงานประจำปีลุ้นรางวัลยอดเยี่ยมของดาวเด่นดวงใหม่ 2 ธ.ค.นี้

 

 

นับเป็นเวทีสูงสุดเวทีหนึ่งของเยาวชน ที่เปิดโอกาสและเปิดโลกกว้างให้แก่นิสิต นักศึกษาด้านศิลปะทุกคน ได้ก้าวเดินและเติบโตในเส้นทางศิลปะ เป็นปีที่ 12 สำหรับโครงการประกวดศิลปิน ดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562” จัดโดย มูลนิธิบัวหลวง ร่วมกับ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยงานแถลงข่าวโครงการประกวดอย่างเป็นทางการจัดขึ้น ที่ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภายในงานมีการแลกเปลี่ยนทัศนคติและมุมมองที่น่าสนใจ โดยกรรมการมูลนิธิบัวหลวง และประธานโครงการฯ คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช รวมทั้งศิลปินแห่งชาติ ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง, ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร และอาจารย์วีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา เกี่ยวกับงานศิลปะของคนรุ่นใหม่และให้คำแนะนำแก่นิสิต นักศึกษาผู้เข้าร่วมแข่งขันดาวเด่นบัวหลวง จำนวน 74 คน จาก 37 คณะ 35 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

 

คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช กรรมการมูลนิธิบัวหลวง และประธานโครงการฯ เผยว่า โครงการ “ดาวเด่นบัวหลวง 101” ได้รับความสนใจจากศิลปินรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่จัดโครงการประกวดขึ้นเป็นครั้งแรกในปี 2551 เป็นต้นมา และได้เริ่มกำหนดหัวข้อในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อให้นักศึกษาได้เปิดความคิด มุมมอง และแสดงความสามารถอย่างเต็มศักยภาพ โดยคณะกรรมการได้เสนอประเด็นในแง่มุมต่าง ๆ เพื่อกำหนดเป็นหัวข้อให้เยาวชนได้สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมนอกเหนือจากความงามและคุณค่าในทางศิลปะ หากส่งเสริมให้งานศิลปะมีความสำคัญในบทบาทที่จะกระตุ้นเตือนสังคม ทั้งยังทำให้ประชาชนทั่วไปมีความสนใจ และเข้าใจงานศิลปะมากขึ้นด้วยสำหรับการประกวดในปีนี้ได้กำหนดหัวข้อในการสร้างสรรค์งาน คือ ร่วมมือร่วมใจ พัฒนา ยั่งยืนเพื่อให้นักศึกษาได้สร้างสรรค์ผลงานที่สะท้อนสถานการณ์ แนวโน้ม ทิศทางของสังคม ณ เวลานั้น รวมทั้งได้ใช้กระบวนการศึกษาค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมตามประเด็นที่ตั้งขึ้น จึงได้จัดเวลาการแข่งขันเป็น 2 ช่วงระยะเวลา คือการปฐมนิเทศระหว่างวันที่ 4-6 พฤศจิกายน เพื่อรับฟังความหมายของหัวข้อในการแข่งขัน และเว้นระยะเวลาให้นักศึกษาได้กลับไปค้นคว้า วางแผน เพื่อกลับมาสร้างสรรค์งานอีกครั้งหนึ่ง ในช่วงของการแข่งขันตลอดระยะ 10 วัน ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม นี้

นอกจากนี้ในกิจกรรมปฐมนิเทศ ผู้เข้าร่วมแข่งขันยังได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ลดขยะกับตาวิเศษ ด้วยการลงพื้นที่เก็บขยะในคลองแสนแสบ และชุมชนริมคลองแสนแสบ เพื่อจะได้รับทราบถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ล้วนมีผลมาจากชีวิตประจำวันของเราที่สร้างขยะจำนวนมากในแต่ละวัน การเริ่มต้นด้วยการลดปริมาณขยะที่เราสร้างเอง จึงเป็นส่วนหนึ่งในการรักษาสิ่งแวดล้อมและพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนอีกด้วย”หลังจากกิจกรรมลงพื้นที่เรียนรู้ ปฏิบัติจริงแล้ว ผู้เข้าร่วมโครงการได้นำข้อมูล ประสบการณ์มาสรุปแลกเปลี่ยน และนำเสนอด้วยการสร้างสรรค์งานศิลปะชิ้นใหญ่ร่วมกันในนามของดาวเด่นบัวหลวงรุ่นที่ 12 โดยมี อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร ศิลปินแห่งชาติ กรรมการโครงการ เป็นผู้ดูแลให้คำแนะนำ ซึ่งผลงานร่วมกันนี้จะจัดแสดงไว้ด้านหน้าหอศิลป์สมเด็จฯ ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน

 

อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร เล่าถึงผลงานศิลปะชิ้นใหญ่ของเยาวชนที่เข้าร่วมประกวดในโครงการฯ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากกิจกรรมรณรงค์ลดขยะกับตาวิเศษ ด้วยการลงพื้นที่เก็บขยะในคลองแสนแสบ และนำมาสร้างผลงานดังกล่าวร่วมกัน “งานศิลปะไม่ได้มีมิติในแง่ของความสวยงามเท่านั้น ถ้าหากเป็นงานศิลปะร่วมสมัยต้องตอบโจทย์สังคมรอบด้านด้วย ทางคณะกรรมการได้กำหนดหัวข้อเป็นธีมในแต่ละปี เพื่อให้ผลงานของศิลปินดาวเด่นในแต่ละรุ่นเป็นตัวแทนในการสื่อสะท้อนสู่สังคม โดยนำประเด็นที่น่าสนใจในสังคมช่วงเวลานั้นมาเป็นโจทย์ให้เหล่าศิลปินได้ขบคิดและตีความเป็นผลงานศิลปะ ทั้งนี้ปัจจุบันเรื่องภาวะโลกร้อน เป็นเรื่องวิกฤตที่สังคมควรจะตระหนักรู้อย่างมาก คณะกรรมการจึงอยากให้ศิลปินรุ่นใหม่ได้สะท้อนไปสู่สังคม เพื่อสร้างจิตสำนึก ปลุกกระแส  หรือทำให้สังคมเห็นคุณค่าของเรื่องนี้ผ่านกระบวนการของงานศิลปะ” 

อาจารย์วีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา กล่าวถึงกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาการแข่งขัน โดยจะมีวิทยากรจากหลากหลายสาขาอาชีพ มาร่วมบรรยายให้ผู้เข้าแข่งขันได้รับฟังประเด็นที่น่าสนใจต่าง ๆ ว่า “ตลอดระยะเวลา 10 วัน ผู้เข้าร่วมแข่งขันจะได้มีทักษะความรู้ในแง่มุมต่าง ๆ โดยผู้ทรงคุณวุฒิในด้านต่าง ๆ ร่วมเป็นวิทยากร ไม่ว่าจะเป็น พระอาจารย์สันติพงศ์เขมปัญโญ วัดป่าสุคะโต จะมาบรรยายธรรมในหัวข้อ ธรรมะ – ศิลปะกับการดำเนินชีวิต, ศาสตราจารย์กิตติคุณ กำจร สุนพงษ์ศรี ที่จะให้แนวคิดและแนวทางในการทำงานศิลปะร่วมสมัย, ผศ.เอกพงษ์ ตรีตรง ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องการบริหารจัดการต่าง ๆ  ที่เกี่ยวข้องกับศิลปะ, ดร.ดิสพล จันศิริ นักสะสมผลงานศิลปะ จะมาเล่าถึงผลงานศิลปะที่ต้องใจนักสะสม, ประกิต กอบกิจวัฒนา ให้ความรู้ทางด้านโอกาสทางอาชีพของนักศึกษาศิลปะ เพื่อเป็นแนวทางในอนาคต, ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี ศิลปินแห่งชาติ ให้แนวคิดในการทำงานสร้างสรรค์ และ อาจารย์อัฐพร นิมมาลัยแก้ว ศิลปินชั้นเยี่ยมจากการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ ที่จะมาแบ่งปันประสบการณ์แห่งความสำเร็จบนเส้นทางศิลปินมืออาชีพ โดยครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมฟังการบรรยายในหัวข้อต่าง ๆ นี้ด้วย” “นอกจากนี้สิ่งสำคัญที่สุดของการเป็นศิลปินอาชีพ คือ การอธิบาย และนำเสนอความงามของภาพที่เราเขียน เรียงร้อยมาเป็นวาทกรรมที่บอกเล่าแนวคิดได้อย่างชัดเจน เพื่อชี้ให้เห็นถึงความงามที่ซ่อนอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะสร้างคุณค่า และความน่าสนใจ ให้ผลงานของเราเป็นที่ต้องการของบรรดาอาร์ตคอลเล็คเตอร์ ซึ่งจะเป็นผู้สนับสนุนเราต่อไปในอนาคต”

 

ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง กล่าวถึงหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินผลงานของผู้ชนะในโครงการ ทั้ง 3 รางวัล โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนใน 3 ด้าน ได้แก่ “การสังเคราะห์ความจริงใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งความจริงใหม่นั้นสำคัญมาก และเป็นสิ่งที่สังคมโลกต้องการ โดยเฉพาะในยุคที่พวกเรากำลังโหยหาทางรอด จากปัญหาสิ่งแวดล้อม, ความงามของงานศิลปะ ที่ต่อให้มีการสังเคราะห์ความจริงขึ้นมาได้ ก็ยังคงต้องมีองค์ประกอบความงามด้วย และความดี คือสิ่งที่สร้างความสะเทือนอารมณ์ และความรู้สึกอิ่มเอมใจ ดังนั้นตลอดระยะเวลา 10 วัน หากผู้เข้าร่วมแข่งขันตั้งใจทำจิตให้ว่าง ปล่อยใจให้เป็นกลาง รับรู้องค์ความรู้จากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ และจับประเด็นให้ได้ก็จะได้รับองค์ความรู้สำคัญ และสื่อสารผ่านงานศิลปะที่จะเป็นตัวสร้างคุณค่า และมูลค่าให้กับตัวเองได้ในที่สุด” 

ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ กล่าวถึงความคาดหวังให้มีศิลปินอาชีพเกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นคนที่ได้รับรางวัลเท่านั้น และไม่ใช่คนที่ได้รับรางวัลเท่านั้นที่จะมีโอกาสได้เป็นศิลปินอาชีพมากกว่าคนที่ไม่ได้รับรางวัล แต่ในโลกปัจจุบันนี้มีหลายคนที่ไม่เคยแม้แต่เรียนศิลปะ หรือไม่เคยได้รับรางวัลใด ๆ ก็สามารถประสบความสำเร็จในอาชีพศิลปินได้เช่นกัน “โครงการนี้ถือว่าเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ทุกคนได้มาเรียนรู้ร่วมกัน ได้เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ ที่หาไม่ได้จากห้องเรียน หรือตำราเรียนจากเหล่าวิทยากร รวมทั้งยังเป็นการได้แลกเปลี่ยนทักษะและความรู้ต่าง ๆ ในการทำงานศิลปะระหว่างกลุ่มเพื่อนนิสิต นักศึกษา ซึ่งแต่ละคนล้วนเป็นหัวกะทิที่คัดมาแล้วจากแต่ละสถาบัน  ซึ่งสิ่งต่าง  ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นประสบการณ์ที่เราสามารถนำไปพัฒนาตัวเองได้ต่อไปในอนาคต   

รางวัลสำหรับผู้ชนะในโครงการศิลปินดาวเด่นบัวหลวง แบ่งออกเป็น รางวัลยอดเยี่ยม ผู้ชนะจะได้รับเงินทุนการศึกษา 100,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ, รางวัลความคิดสร้างสรรค์ จะได้รับเงินทุนการศึกษา 70,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ และรางวัลดีเด่น จะได้รับเงินทุนการศึกษา 50,000 บาท พร้อมโล่เกียรติยศ โดยมีคณะกรรมการ ซึ่งมีทั้งศิลปินแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้ตัดสินพิจารณารางวัล ประกอบด้วย คุณหญิงชดช้อย โสภณพนิช, ศาสตราจารย์กิตติคุณกำจร สุนพงษ์ศรี, ศาสตราจารย์ ดร.อภินันท์ โปษยานนท์, ศาสตราจารย์เกียรติคุณปรีชา เถาทอง, อาจารย์ธงชัย รักปทุม, ศาสตรเมธี ดร.เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ศาสตราจารย์วิโชค มุกดามณี, อาจารย์ปัญญา วิจินธนสาร, อาจารย์วีรเดช พนมวัน ณ อยุธยา, อาจารย์อัฐพร นิมมาลัยแก้ว, อภิชาต รมยะรูป และสุภัททา สังสิทธิ 

  

ร่วมชื่นชมผลงานการสร้างสรรค์งานศิลปะของศิลปินหนุ่มสาวรุ่นใหม่ในโครงการ “ดาวเด่นบัวหลวง 101 ครั้งที่ 12 ประจำปี 2562” โดยสามารถติดตามทุกความเคลื่อนไหวได้ที่ เว็บไซต์ www.bualuang101.com, เฟซบุ๊คแฟนเพจ ดาวเด่นบัวหลวง 101 (www.facebook.com/bualuang101) หรือ Follow อินสตาแกรม (IG) ได้ที่ @Bualuang101 โดยมีกำหนดการแข่งขันตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2562 และประกาศผลการตัดสินในวันจันทร์ที่ 2 ธันวาคม ศกนี้ ณ หอศิลป์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถ.ราชดำเนินกลาง

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ :  บริษัท พับบลิค ฮิต จำกัด 

โทร. 02 180 0361 อีเมล [email protected] Line id: @PublicHit_PR 

นันทวัน อรุณนิมิตกุล 086 326 6602, วศินี อ่องจริต 086 559 9198, กัณฑิมา วรรณรัตน์ 087 337 7788