ปลดล็อกปัญหา ‘เรื่องกิน’ วัยเด็กเล็ก

ปลดล็อกปัญหา ‘เรื่องกิน’ วัยเด็กเล็ก

 

วิทยากรไขข้อข้องใจ ทำไมต้องสร้างนิสัยการกินดีกินเป็นให้ลูกในช่วงวัย 1-3 ปี ในกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อคุณแม่ยุคใหม่ เพื่อปลดล็อกปัญหาเรื่องกินในวัยเด็กเล็ก โดย คุณเพชรนภา องค์ตระกูลกิจ นักกำหนดอาหาร  สมาคมนักกำหนดอาหารแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีคนไข้จำนวนมากที่มาปรึกษาปัญหาสุขภาพและโภชนาการของลูกในช่วงวัยรุ่น พบว่า ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการกินในช่วงวัยเด็กเล็ก โดยเฉพาะในช่วงวัย 1-3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่เปลี่ยนวัยจากเด็กทารกมาเป็นเด็กเล็กที่มีการเจริญเติบโตรวดเร็วอีกช่วยหนึ่งของชีวิต  การสร้างนิสัยกินดีกินถูกหลักโภชนาการให้ลูกตั้งแต่ยังเล็กจะทำให้ลูกเติบโตตามวัยได้อย่างสมบูรณ์และยังสร้างสุขนิสัยในการเลือกกินหรือเป็นคนที่กินเป็นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ที่ดูแลสุขภาพตัวเองได้ดี มีโอกาสห่างไกลจากโรคในกลุ่ม NCDs 

ปลดล็อกปัญหา ‘เรื่องกิน’ วัยเด็กเล็ก

แม่ต้องรู้จักโภชนาการสำหรับช่วงวัย 1-3 ปี    

โภชนาการจำเป็นสำหรับช่วงวัยเด็กเล็กประกอบด้วยสารอาหาร 2 กลุ่ม คือ สารอาหารกลุ่มหลัก มีโปรตีน  ไขมัน  และคาร์โบไฮเดรต  สารอาหารกลุ่มรอง มีวิตามินและเกลือแร่  ทุกคนรู้จักกันดีว่าเป็นอาหารห้าหมู่   ใช้วัตถุดิบอาหารเหล่านี้ทำอาหารให้ลูกกินวันละสามมื้อ  แต่ละมื้อปริมาณไม่มาก  เด็กวัยนี้กระเพาะมีขนาดพอๆ กับกำปั้นของเขา  คุณแม่จึงต้องโฟกัสคุณภาพของสารอาหารเป็นสำคัญ   และเพราะกินได้มื้อละไม่มาก  แต่ละวันจึงต้องเพิ่มมื้อให้ลูกด้วยอาหารว่างอีกสองมื้อเป็นผลไม้และกินนม

ปลดล็อกปัญหา ‘เรื่องกิน’ วัยเด็กเล็ก

 

จัดอาหารอย่างไร ?    

ช่วงวัยเด็กเล็กที่เปลี่ยนอาหารหลักจากนมมาเป็นอาหารครบคุณค่า 5 หมู่วันละ 3 มื้อ และกินนมเป็นอาหารเสริมแทน จะเป็นช่วงที่คุณแม่หลายคนมักเจอปัญหาพฤติกรรมการกินของลูกที่ไม่เป็นไปอย่างที่ต้องการ  ช่วงวัยทารก คุณแม่จัดเตรียมอาหารอะไรให้ก็กินได้ทุกอย่าง ผักก็กิน  ผลไม้ก็กิน  แต่พอครบ 1 ขวบไปแล้ว เริ่มตัดสินใจได้เอง เลือกกินเอง ก็มีการปฏิเสธอาหารอยู่บ้าง

วัย 1-2 ปียังคงฝึกการเคี้ยวและการกลืนต่อเนื่องมาจากช่วงวัยก่อนขวบวัย 2-3 ปี (Terrible twos) เป็นช่วงวัยต่อต้าน  อาจเลือกกินมากขึ้น  เพราะต้องการแสดงความเป็นตัวเองสูง  การกินของลูกอาจไม่มีรูปแบบแน่ชัด  บางวันกินเก่ง บางวันไม่กิน  คุณแม่อาจเจอสถานการณ์บางช่วงที่ลูกช่างเลือก  ลูกปฏิเสธอาหาร  ลูกไม่ยอมกินอะไร  ดังนั้น คุณแม่ต้องสามารถปรับเปลี่ยนอาหารประเภทต่างๆ ให้ลูกกินได้หลากหลาย  หรือกินทดแทนได้ในบางมื้อ

การกินนมเป็นอาหารเสริมสำหรับเด็กวัย 1-3 ปีเป็นเรื่องจำเป็น  บางคนยังกินนมแม่แต่ก็สามารถให้ลูกกินนมอื่นเสริมได้ ควรให้ลูกกินนมรสจืดในมื้อเสริมวันละ 2-3 แก้ว จะเลือกนมวัวทั่วไปก็ได้ หรือถ้าเลือกเป็นนมเสริมสารอาหารก็ได้  อย่างหลังก็จะมีการดัดแปลงโปรตีนในนมวัวให้เหมาะกับช่วงวัยและมีการเติมสารอาหารกลุ่มวิตามินแร่ธาตุสำคัญ เช่น เหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี 12 วิตามินเอ วิตามินซี เป็นต้น

ปลดล็อกปัญหา ‘เรื่องกิน’ วัยเด็กเล็ก

ปลดล็อกปัญหา ‘เรื่องกิน’ วัยเด็กเล็ก

เด็กเล็กจำเป็นต้องกินนม?

 การกินนมช่วยเสริมสร้างการเติบโต  แคลเซียมกับฟอสฟอรัสเป็นสารอาหารในนมที่ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของกระดูกและฟัน  สารอาหารทั้งสองชนิดจะทำงานได้ดีร่างกายต้องได้รับวิตามินดีพอเพียงด้วย นมเป็นแหล่งของแคลเซียมสูงถ้าเทียบกับอาหารชนิดอื่น  นม 1 แก้ว 200 มล.มีแคลเซียม  226 มก. เด็กวัยนี้ต้องแคลเซียมวันละ  500-800 (เพิ่มขึ้นตามอายุ) กินนมวันละ 2-3 แก้วก็เพียงพอ นมจึงเป็นอาหารครบคุณค่าโภชนาการ เหมาะจะให้ลูกวัยเด็กเล็กกินเป็นมื้อเสริมทุกๆ วัน   

แคลเซียมช่วยส่งเสริมเรื่องความสูงของลูกด้วย  ถ้าอยากรู้ว่า ลูกจะมีความสูงเต็มศักยภาพได้เท่าไหร่ ให้ดูความสูงของลูกเมื่อครบ 2 ขวบแล้วคูณด้วย 2 จะเป็นตัวเลขเป้าหมายที่ลูกจะสูงได้  แต่จะสูงได้ถึงเป้าหมายหรือไม่ ขึ้นอยู่กับระหว่างทาง  ว่าได้รับโภชนาการต้องครบสมดุลเพียงพอ เหมาะกับช่วงวัยหรือไม่ รวมทั้งต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอด้วย   

ปลดล็อกปัญหา ‘เรื่องกิน’ วัยเด็กเล็ก

 

เลือกนมอย่างไรดี ?   

มีนม 2 กลุ่มสำหรับเด็กเล็ก คือ นมวัวไม่ดัดแปลง ได้แก่ นมกล่องแบบยูเอชที กับแบบพาสเจอร์ไรซ์  เด็กเล็กกินได้ตั้งแต่หนึ่งขวบขึ้นไป นมอีกประเภทคือ นมวัวดัดแปลง เป็นนมเสริมสารอาหาร มีทำออกมาทั้งแบบนมผง เอามาชงเอง  และแบบกล่องยูเอชที  นมกลุ่มนี้ต่างจากนมวัวตรงที่มีการดัดแปลงโปรตีนในน้ำนมให้ย่อยง่ายเหมาะกับช่วงวัยและมีการเติมสารอาหารจำเป็นเพิ่ม เช่นธาตุเหล็ก ไอโอดีน วิตามินบี12 วิตามินดี  เป็นต้น

ปิดท้ายวิธีปลดล็อกปัญหาการกินของลูกวัยเด็กเล็กได้สำเร็จขึ้นอยู่กับสองมือแม่  ขอให้มั่นใจว่าการสร้างวินัยการกินที่ดี สอนลูกกินถูกหลักโภชนาการตั้งแต่วัยเด็ก เท่ากับได้สร้างพื้นฐานการมีสุขภาพดีทั้งชีวิตให้ลูกรัก

ปลดล็อกปัญหา ‘เรื่องกิน’ วัยเด็กเล็ก