โรงไฟฟ้าไซยะบุรี เตรียมนับหนึ่งขายไฟให้กฟผ. เดือนตุลาคมนี้

โรงไฟฟ้าไซยะบุรี เตรียมนับหนึ่งขายไฟให้กฟผ. เดือนตุลาคมนี้

ส่งผล CKPower รับทรัพย์สองเด้งจากขายไฟและขายหุ้นสามัญ CKP-W1 มูลค่ากว่าหนึ่งพันล้านบาทเมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา

นายธนวัฒน์ ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีเค พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหลักทรัพย์ “CKP” ซึ่งเป็นผู้บริหารโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว เปิดเผยว่า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ออกหนังสือรับรองความพร้อมในการขายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) สำหรับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 7 เครื่อง กำลังการผลิตรวม 1,220 เมกะวัตต์ ของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีแล้ว หลังจากมีการเดินเครื่องทดสอบระบบการจ่ายไฟฟ้าเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เรียบร้อย และพร้อมส่งไฟฟ้าสู่ประเทศไทยภายในตุลาคมนี้

โรงไฟฟ้าไซยะบุรี เตรียมนับหนึ่งขายไฟให้กฟผ. เดือนตุลาคมนี้

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สปป.ลาว (โรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง)

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบฝายทดน้ำแห่งแรกบนแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ในแขวงไซยะบุรี ประเทศลาว เริ่มการก่อสร้างตั้งแต่ปี 2555 มีกำลังการผลิตติดตั้ง 1,285 เมกะวัตต์ โดยอยู่ในสัญญาการซื้อขายไฟให้ กฟผ.1,220 เมกะวัตต์ ผลิตไฟฟ้าได้สูงสุด 7,600 ล้านหน่วยต่อปี จากเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดเครื่องละ 175   เมกะวัตต์ จำนวน 7 เครื่อง โดยส่งเข้าสู่ประเทศไทยด้วยสายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์ จากสปป.ลาว เข้าทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย และส่งให้รัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (EdL) 1 เครื่อง ขนาด 60 เมกะวัตต์ ด้วยขนาดสายส่ง 115 กิโลโวลต์ ภายในสปป.ลาว

โรงไฟฟ้าไซยะบุรี เตรียมนับหนึ่งขายไฟให้กฟผ. เดือนตุลาคมนี้

สายส่งขนาด 500 กิโลโวลต์  จากสปป.ลาว เข้าสู่ประเทศไทยผ่านทาง อ.ท่าลี่ จ.เลย  

ทั้งนี้ กฟผ.ได้อนุมัติการทดสอบเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้าและเริ่มซื้อไฟจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องแรกอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่ผ่านมา โดยเครื่องกำเนิดไฟฟ้าหลักทั้ง 7เครื่อง ต้องผ่านการทดสอบจ่ายไฟเข้าสู่ระบบของ กฟผ.เพื่อให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ทำหน้าที่เป็นโรงไฟฟ้าหลักที่รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในช่วงเวลาที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงของแต่ละวัน (Daily Peaking) รวมถึงทำหน้าที่รองรับสภาวะฉุกเฉินกรณีที่มีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่บริเวณข้างเคียงเกิดขัดข้อง โรงไฟฟ้าไซยะบุรี สามารถเพิ่มกำลังผลิตชดเชยส่วนที่ขาดได้ทันที จึงเป็นข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่จะช่วยรักษาเสถียรภาพการจ่ายไฟในระบบของ กฟผ.

การทดสอบระบบพร้อมกันทั้ง 7 เครื่อง มีทั้งแบบทดสอบสมรรถนะการเดินเครื่องแยกเป็นรายเครื่อง (Individual Test) และทดสอบเดินเครื่องพร้อมกันเป็นชุด โดยโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี สามารถเดินเครื่องแบบมีความยืดหยุ่นสูง  รวมทั้ง มั่นใจว่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ไม่มีผลกระทบต่อท้ายน้ำ ยังคงสภาพทางธรรมชาติตลอดเวลา ไม่ว่าจะผลิตไฟฟ้าหรือไม่ก็ตาม

นายธนวัฒน์ กล่าวว่า เพื่อให้ความมั่นใจแก่ผู้ถือหุ้นและกลุ่มนักลงทุน นอกจากการเปิดขายไฟเชิงพาณิชย์ได้ทันตามเวลาอย่างพร้อมสมบูรณ์แล้ว แนวทางการลงทุนด้านไฟฟ้าพลังน้ำยังคงเน้นการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่อยู่บนความสมดุลระหว่างธุรกิจและสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก ด้วยมูลค่าการลงทุนเพื่อรักษาระบบนิเวศของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี 19,400 ล้านบาท มีการศึกษาก่อนเริ่มโครงการและเลือกใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดในโลก โดยมีธรรมชาติเป็นต้นแบบ ยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบการดูแลสิ่งแวดล้อมต่อไป เพื่อให้ โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เป็นมาตรฐานที่สำคัญว่าหากจะลงทุนผลิตไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงต้องกล้าที่จะดูแลสิ่งแวดล้อมควบคู่กันด้วยถึงจะทำให้การผลิต ไฟฟ้าบนแม่น้ำโขงนั้นยั่งยืน

โรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี ถือเป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำชนิดฝายทดน้ำที่ใหญ่ที่สุด ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมูลค่าลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมสูงเป็นประวัติการณ์ มีความทันสมัยด้วยประตูระบายตะกอนแขวนลอยและตะกอนหนักใต้น้ำ มีเทคโนโลยีทางปลาผ่านที่ทันสมัย คือ ศึกษาบนแม่น้ำโขงด้วยพันธุ์ปลาน้ำโขงทั้งหมด จึงถือว่าเป็นการศึกษาพฤติกรรมปลาน้ำโขงที่ต่อเนื่องและมีข้อมูลที่ครอบคลุมที่สุดของโลก

นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆ นี้ ซีเค พาวเวอร์ ได้เปิดให้ใช้สิทธิในใบสำคัญแสดงสิทธิซื้อหุ้นสามัญ (CKP-W1) สำหรับงวดวันที่ 30 กันยายน 2562 ซึ่งกำหนดอัตราการใช้สิทธิที่ 1.00 หน่วย CKP-W1 ต่อ 1.0007 หุ้นสามัญ ราคาการใช้สิทธิที่ 6.00 บาทต่อ 1 หุ้นสามัญ  มีกำหนดเวลาการใช้สิทธิตั้งแต่วันที่ 23-29 กันยายน ที่ผ่านมา นั้น ปรากฏว่า มีการใช้สิทธิจากผู้ถือหน่วย 165,034,000 หน่วย ซื้อหุ้นสามัญ165,149,523 หุ้น คิดเป็นเงินค่าหุ้นที่ ซีเค พาวเวอร์ ได้รับ 1,000 ล้านบาท โดยผู้ถือหน่วย CKP-W1 ที่ใช้สิทธิหลัก คือ บริษัท ทีทีดับบลิว จำกัด (มหาชน) ชื่อย่อหลักทรัพย์ TTW ซึ่งเป็นพันธมิตรรายใหญ่ได้ทยอยใช้สิทธิบางส่วน

ทั้งนี้ ผลจากการใช้สิทธิ CKP-W1 ของผู้ถือหน่วยในครั้งนี้ ทำให้บริษัทฯ มีสถานะการเงินที่แข็งแกร่งมากขึ้น พร้อมที่จะรองรับการขยายงานโครงการขนาดใหญ่ตามแผนที่วางไว้ และแสดงให้เห็นถึงความมั่นใจในการเติบโตที่มั่นคงในอนาคต โดยหลังจากการใช้สิทธิครั้งนี้ ซีเค พาวเวอร์ ยังมีจำนวนหุ้นสามัญที่รองรับการใช้สิทธิคงเหลืออีกจำนวน 1,110,617,961 หุ้น

อนึ่ง ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ (CKP-W1) ของซีเค พาวเวอร์ มีอายุ 5 ปี นับจากวันที่เสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2558 โดยได้ออกและจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมที่จองซื้อและชำระราคาค่าจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนของบริษัทที่ออกและเสนอขายตามสัดส่วนเป็นจำนวนทั้งหมด 1,870,000,000 หน่วย โดยมีกำหนดใช้สิทธิในวันทำการสุดท้ายของเดือนมีนาคม มิถุนายน กันยายน และ ธันวาคม ของแต่ละปีตลอดอายุของใบสำคัญแสดงสิทธิ และวันใช้สิทธิวันสุดท้าย คือ วันที่ 28 พฤษภาคม 2563