“มกอช.”ปลื้มผลงานรอบ17ปี

“มกอช.”ปลื้มผลงานรอบ17ปี

“มกอช.”ปลื้มผลงานรอบ 17 ปี ยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารไทยเป็นที่ยอมรับของตลาดโลก

“ประภัตร” หนุน “มกอช.” สู่องค์กรนำด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ทั่วโลกยอมรับ  พร้อมโชว์ผลงานรอบ 17ปีผลักมาตรฐานสินค้าเกษตรสำเร็จ 322เรื่อง  มาตรฐานระหว่างประเทศ 22 เรื่องและมาตรฐานอาเซียน 12 เรื่อง  ดันยอดส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารพุ่ง 1.12 ล้านล้าน   พร้อมวางเป้าปี63 เดินหน้าหนุนยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี สานต่อนโยบายตลาดนำการผลิต  รุกเกษตรอินทรีย์  ตีตลาดผ่านออนไลน์  เสริมแกร่งภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

นายประภัตร  โพธสุธน  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์   กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดงาน วันคล้ายวันสถาปนาสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ(มกอช.)ครบรอบ 17ปีว่า ปัจจุบัน“มกอช.”นับเป็นหน่วยงานสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายด้านการยกระดับคุณภาพมาตรฐานสินค้าเกษตรและเป็นกลไกลสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการตลาดนำการเกษตรตามนโยบายหลัก 12 ด้านที่รัฐบาลแถลงไว้   โดยในปี 2563เป็นปีแห่งการยกระดับคน/และการบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตรสู่เกษตร 4.0  จะมุ่งยกระดับด้านระบบมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารปลอดภัย  สนับสนุนตลาดนำการผลิต มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ตลาดออนไลน์ /DGT Farm/ และระบบตามสอบย้อนกลับ  QR Trace รวมทั้งเป็นปีที่กระทรวงเกษตรฯต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ก้าวทันการแข่งขันทางการค้า  เศรษฐกิจ และกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก  ด้วยการการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรตามยุทธศาสตร์เกษตรและสหกรณ์ 20 ปี

ทั้งนี้  ในอนาคตมกอช.ยังคงเดินหน้าขับเคลื่อนในการเร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยให้เป็นมาตรฐานระดับสากลมาก  ตั้งแต่ระดับไร่นาจนถึงผู้บริโภค/ ตลอดจนการเจรจา  แก้ไขปัญหาทางการค้าเชิงเทคนิค เพื่อปรับปรุงและยกระดับคุณภาพสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้ได้มาตรฐาน/เพื่อให้มีคุณภาพ/และความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล ให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีโลก ตามวิสัยทัศน์ที่ว่า  “เป็นองค์กรนำด้านการมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารที่ทั่วโลกยอมรับ”อีกด้วย

ด้านนางสาวจูอะดี    พงศ์มณีรัตน์    เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)   กล่าวถึงผลงานของมกอช.ในรอบ 17ปีว่า   มกอช.มีบทบาทสำคัญในการเป็นหน่วยงานกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศ (National  Standardization Body: NSB)   เพื่อให้มาตรฐานที่กำหนดขึ้นมีความเหมาะสม ปลอดภัยต่อผู้บริโภคและสอดคล้องกับมาตรฐานสากลและเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ  ส่งผลให้ปัจจุบันมีการประกาศใช้มาตรฐานสินค้าเกษตรแล้ว 322 ฉบับ   แบ่งเป็นมาตรฐานสมัครจำนวน 316 เรื่อง   (พืช 118เรื่อง  เกษตรกรอินทรีย์ 9 เรื่อง  ปศุสัตว์ 82 เรื่อง  ประมง 60 เรื่องและอื่นๆ 47เรื่อง)  และมาตรฐานบังคับ 6 เรื่อง คือ  1.เรื่องข้อกำหนดปริมาณอะฟลาทออกซินในเมล็ดถั่วลิสง2.เรื่องการปฏิบัติที่ดีทางการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่ดีสำหรับฟาร์มผลิตลูกกุ้งขาว3.เรื่องกระบวนการรมผลไม้สดด้วยก๊าซซัลเฟอร์ได้ออกไซด์ 4.เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับการผลิตทุเรียนแช่เยือกแข็ง5.เรื่องการปฏิบัติที่ดีสำหรับศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบ  และ6.เรื่อง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มไก่ไข่

 นอกจากนี้ยังได้ร่วมกำหนดมาตรฐานองค์กรระหว่างประเทศรวม 34 เรื่อง    แบ่งเป็นมาตรฐานระหว่างประเทศ 22 เรื่องและมาตรฐานอาเซียน 12 เรื่อง และยังได้เจรจาสนับสนุนการส่งออกสินค้าเกษตรไทยรวม  18 เรื่อง  แบ่งเป็นการเจรจาเพื่อเปิดตลาดสินค้าเกษตร 7 เรื่องและการแก้ไขปัญหาการส่งออก 11 เรื่อง    ส่วนด้านการควบคุม กำกับดูแลมาตรฐานสินค้าเกษตรและการส่งเสริมมาตรฐานได้ออกใบอนุญาตนำเข้า/ส่งออกตามมาตรฐานบังคับแกผู้ประกอบการจำนวน 1,101 ราย    แบ่งเป็นโรงรมซัลเฟอร์ จำนวน 375ราย    อะฟลาทอกซินถั่วลิสงจำนวน 115 ราย    ลูกกุ้งขาวจำนวน 88 ราย     ทุเรียนแช่เยือกแข็ง จำนวน 222 ราย    ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบจำนวน 194รายและเชื้อเห็ดจำนวน 107ราย

นอกจากนี้ด้านการส่งเสริมมาตรฐาน      ได้มีการเชื่อมโยงการผลิต-การตลาดสินค้าQ  ในตลาด 3 ประเภท     แบ่งเป็น1.ตรวจรับรองแหล่งจำหน่ายสินค้ามาตรฐานโครงการร้านอาหารวัตถุดิบปลอดภัยเลือกใช้สินค้า Q (Q restaurant) 3,200 สาขา   Q Market  893 แผง   Q  Modern Trade 697 แผง  2.ระบบ QR Trace on Cloud 1,048 ราย 3.ตลาดDGTFarm.com 1,739 รายแบ่งเป็นผู้ขาย 818 รายและผู้ซื้อ921 ราย     

 นอกจากนี้ยังได้ให้การรับรองสถานที่จำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ จำนวน 282 แห่ง  พัฒนาต้นแบบโรงสีข้าว/โรงคัดบรรจุ GMP จำนวน 5 แห่ง  และพัฒนาระบบการรับรองแบบกลุ่มสู่การรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์  20 กลุ่มใน 8 จังหวัด  ส่วนด้านการดำเนินการตามนโยบายเกษตรแปลงใหญ่นั้นได้มีการดำเนินการในพื้นที่ 19 จังหวัด   โดยให้ความรู้ด้านการผลิตตามมาตรฐาน GAP จำนวน 6เรื่อง  คือ ถั่วฝักยาว  ถั่วลิสงหลังนา ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ข้าวโพดเมล็ดแห้ง  GAP พืชอาหารและจิ้งหรีด แก่เกษตรกรรวมจำนวน 952 ราย และยังได้พัฒนาต้นแบบโรงงานแปรรูปมาตรฐาน 9 แห่ง(โรงสีข้าว 2แห่ง   โรงคัดบรรจุผักผลไม้สด 6 แห่ง  และโรงรวบรวมผักผลไม้สด 1แห่งอีกด้วย  

“จากความมุ่งมั่นในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยตลอดระยะ 17 ปีที่ผ่านมา    ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารรายใหญ่ของโลก ในปี 2561 มีมูลค่าการส่งออกสินค้าอาหาร 1.12 ล้านล้านบาท ประเทศไทยจึงเห็นความสำคัญของกำหนดมาตรฐานสากล และเป็นผู้นำในการยกร่างมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยให้เป็นมาตรฐานระดับสากลสำเร็จมาแล้วหลายเรื่อง เช่น เงาะ ลองกอง กะทิ น้ำปลา   ซึ่งแม้ประเทศผู้นำเข้าจะกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าที่มีความเข้มงวดมากยิ่งขึ้นในการนำเข้าสินค้าที่ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัย แต่ด้วยการนำมาตรฐานและระบบการตรวจสอบรับรองการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารที่ได้มาตรฐานสากลของไทย ไปใช้ในการผลิตและการตรวจสอบรับรองระบบการผลิตสินค้าภาคการเกษตร

 โดยการบูรณาการร่วมกับกรมต่างๆของกระทรวงเกษตรฯ ตาม พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ.2551 เพื่อควบคุม กำกับ ดูแลความปลอดภัยอาหารอย่างเบ็ดเสร็จตลอดห่วงโซ่อาหารตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ (Food chain) เพื่อให้ได้สินค้าที่มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ส่งผลให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยได้รับการยอมรับและมียอดส่งออกไปตลาดโลกขยายตัวเพิ่มมากขึ้น    อีกทั้งยังช่วยความเชื่อมั่นด้านมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหารของประเทศไทย รวมทั้งหน่วยรับรองระบบงานของ มกอช. ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย”นางสาวจูอะดี     กล่าว 

นางสาวจูอะดี    ยังได้กล่าวถึงผลงานด้านต่างประเทศด้วยว่า มกอช.ได้เร่งขับเคลื่อนแประชาสัมพันธ์มาตรฐานสินค้าเกษตรในเวทีโลก  และแสวงหาความร่วมมือคู่ค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์และผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยการเข้าร่วมงาน Natural Product Expo West (NPEW) ซึ่งเป็นงานสินค้าเกษตรอินทรีย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก มีความสำคัญเทียบเท่า International Green Week และมีโอกาสเติบโตทางการตลาดสูงที่สุด ซึ่งสามารถสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ค้าของไทยหลายราย  รวมทั้งพัฒนาความร่วมมือกับสำนักงานด่านการค้าของมลรัฐลอสแองเจลิส (LA Port) ที่เป็นท่าเทียบสินค้าใหญ่ที่สุดของทั้งฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ และของภูมิภาคอเมริกา ซึ่ง LA Port ให้ความสนใจและเตรียมพัฒนาความร่วมมือด้านการค้า-มาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชกับท่าเรือของไทย โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรมและระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ที่ผู้ประกอบการของไทยในปัจจุบันใช้เป็นท่าส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาเป็นจำนวนมากและในอนาคตมกอช.จะยังคงมุ่งมั่นผลักดันมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น  รวมทั้งเร่งพัฒนาเกษตรกรให้มีขีดความสามารถในการผลิต  แปรรูปและทำตลาดสอดคล้องกับนโยบายไทยแลนด์4.0 ของรัฐบาลและยุทธศาสตร์กระทรวงเกษตร 20ปีอย่างเข้มข้นต่อไป