อนาคตแรงงานไทย ภายใต้การมาของ AI

อนาคตแรงงานไทย ภายใต้การมาของ AI

เดล คาร์เนกี เผยผลวิจัยล่าสุด “อนาคตไทยภายใต้การมาของ AI อยู่ที่มือผู้นำองค์กร”

เดล คาร์เนกี (ประเทศไทย) ผู้นำด้านการพัฒนาศักยภาพบุคลากร ด้านการวิจัยภาวะผู้นำ และให้คำปรึกษาทางธุรกิจระดับโลกมากว่า 107 ปี ได้ให้ความสำคัญและตั้งคำถามถึงปัจจัยใดที่ส่งผลต่อการพัฒนาศักยภาพของประเทศ องค์กร และผู้คนผ่านงานวิจัยในตลอดหลายร้อยปี   โดยล่าสุดจากกระแสการเข้ามาของหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์ หรือ เอไอ (AI) ทำให้ผู้คนทั่วโลกเกิดการถกเถียงว่าAI เป็นคุณ หรือ เป็นโทษสำหรับภาคแรงงานกันแน่  จากข้อถกเถียงนำมาสู่การศึกษาและก่อให้เกิดผลวิจัยและคำแนะนำล่าสุดในการเตรียมพร้อมให้ผู้คนทั่วโลกสามารถทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้หัวข้อ “Beyond Technology: Preparing People for Success in the Era of AI อนาคตโลกและอนาคตไทยภายใต้การมาของ AI และวิธีรับมือ” ซึ่งผลวิจัยชี้ว่า 44% ของกลุ่มตัวอย่างทั่วโลกเห็นด้วยอย่างยิ่งว่า AI จะเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีวิตและการทำงานโดยสิ้นเชิงในอีก 10 ปีข้างหน้า และเกินกว่าครึ่งรู้สึกกังวลว่าพวกเขาจะตกงานจากการนำ AI มาใช้ในองค์กร นอกจากนั้น 23%กล่าวว่าบทบาทในการทำงานของพวกเขาได้รับผลกระทบจาก AI แล้ว ส่วนอีก 40% คาดการณ์ว่าจะได้รับผลกระทบภายใน 1-5 ปีข้างหน้า  จากผลสำรวจแสดงว่าผู้คนทั่วโลกรวมถึงคนไทย มีความกังวลต่อการมาของ AI ในระดับที่สูง ในขณะที่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ AI และแนวทางปฏิบัติในการทำงานร่วมกับ AI ยังคงอยู่ในระดับต่ำ  ความกดดันนี้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและภาคแรงงานในอนาคตหากประเทศและองค์กรไม่เตรียมพร้อมรับมือ เดล คาร์เนกี แนะแนวทางรับมือพร้อมเตรียมผู้คนให้ทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านปัจจัย 3 ประการที่จะส่งเสริมให้ผู้คน แรงงาน รวมถึงพนักงานมีความรู้สึกเชิงบวกต่อ AI ได้แก่  ความเชื่อใจในตัวผู้นำ   ความเข้าใจถึงระบบการทำงานของ AI   และการสร้างความมั่นใจให้ผู้คนรู้สึกว่าเขามีทักษะในการปรับตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่มาจาก AI

มร.ฌอง หลุยส์ วอง ดูลส์, Chief Franchise Advocate of Dale Carnegie กล่าวว่า “งานวิจัยนี้ยังไม่เคยเปิดเผยที่ไหนมาก่อนและถูกเปิดเผยที่นี่เป็นที่แรก โดยศึกษาผ่านการสำรวจออนไลน์กับพนักงานในหลากหลายอาชีพและอุตสาหกรรมกว่า 3,500 คน ตั้งแต่พนักงานทั่วไปจนถึงเจ้าของบริษัทจาก 11 ประเทศทั่วโลก โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสอบถามทัศนคติต่อการเข้ามาของ AI และรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น   จากงานวิจัยพบว่า ผู้คนเกือบ 50 % ทั่วโลก ต่างรับรู้ว่าในอนาคตอันใกล้หน้าที่การงานของพวกเขาจะได้รับผลกระทบไม่ทางใดก็ทางหนึ่งจาก AI   แม้ว่าการนำ AI มาใช้ในการทำงานจะมีประโยชน์ช่วยลดต้นทุน อำนวยความสะดวก ช่วยให้มนุษย์ไม่ต้องเสียเวลากับการทำงานประเภท Routine และมีเวลาไปทำงานที่สำคัญมากกว่าได้ก็ตาม  แต่การใช้ AI โดยขาดการพินิจพิเคราะห์ย่อมทำให้มนุษย์สูญเสียโอกาสและอาจทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานลดลง อาทิ การนำ AI มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน แม้ว่าจะลดต้นทุน ประหยัดเวลา แต่ก็ขาดประสิทธิภาพด้านการเจรจาต่อรองเพื่อสร้างปฏิสัมพันธ์และความร่วมมือกับคู่ค้า หรือการติดตั้งระบบควบคุมการประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานเพื่อเพิ่มผลผลิตและมอบความปลอดภัยให้กับพนักงาน แต่อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของพนักงาน ว่าองค์กรขาดความเชื่อใจในตัวแรงงานเหล่านั้นจนต้องมีระบบคอยติดตาม  จากตัวอย่างข้างต้นถือเป็นผลกระทบที่องค์กรส่วนใหญ่ไม่ต้องการ แต่ก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้หากขาดการรับมือและการเตรียมความพร้อมที่ดี”

ดร.ปรียกร มิมะพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ เดล คาร์เนกี (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ขณะที่ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่กำลังกลายเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงประเทศและองค์กรในยุคดิจิตอล และองค์กรจำเป็นต้องมองให้ไกลกว่าเรื่องเทคโนโลยีเพื่อให้การดำเนินการเกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการนำเข้ามาพัฒนาประเทศและองค์กรประสบผลสำเร็จ  หลายปีมานี้มีหลายงานวิจัยออกมาเกี่ยวกับการมาของปัญญาประดิษฐ์จะส่งผลให้ผู้คนตกงานหลายล้านคนส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกต่างวิตกกังวล  แต่การพัฒนา AI ที่ทันสมัยและล้ำหน้าที่สุดในตอนนี้ ยังไม่มีเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ใดที่สามารถมีทักษะการอ่าน การคิด และตัดสินใจได้ดีเท่ามนุษย์  ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์ต้องรีบปรับเปลี่ยนก่อนที่จะถูกเทคโนโลยี AI เข้ามา disrupt การงานของคุณคือ ผู้นำองค์กรเร่งพัฒนาระบบการทำงานและการพัฒนาบุคลากรให้ก้าวทันเทคโนโลยีในยุค Technology Disruption ให้เร็วที่สุด  โดยเตรียมความพร้อมให้ผู้คนทำงานร่วมกับ AI และมีความสามารถด้านแรงงานตรงกับความต้องการของตลาดแรงงานที่เปลี่ยนแปลงไปในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งสอดคล้องกับผลจากงานวิจัยของเดล คาร์เนกี ที่พบว่ามีปัจจัย 3 ประการที่จะส่งเสริมให้บุคลากรของประเทศมีความรู้สึกเชิงบวกต่อ AI ได้มากที่สุดจนนำไปสู่การยินยอมพร้อมตามสู่การปรับตัวได้แก่

ความเชื่อใจในตัวผู้นำองค์กร

ความเชื่อใจเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเตรียมความพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงที่ดี  ผู้นำที่สร้างความน่าเชื่อถือ คงเส้นคงวา ซื่อสัตย์ จะช่วยให้พนักงานไว้ใจในการการเข้ามาของ AI ในประเทศและองค์กรมากขึ้น จากการวิจัยพบว่าผู้มีอำนาจกระดับสูง หรือพนักงานระดับสูงมีความเชื่อใจต่อผู้นำในการตัดสินใจนำ AI มาใช้ 64% ในขณะที่พนักงานระดับล่างมีความเชื่อใจเพียง 26% ซึ่งเป็นจุดที่น่าสนใจว่าผู้บริหารระดับสูงของประเทศและองค์กรยังไม่ตระหนักถึงผลกระทบโดยภาพรวมมากเท่าที่ควร

ความเข้าใจถึงระบบการทำงานของ AI

            ในปัจจุบัน AI เริ่มเข้ามามีบทบาทในที่ทำงานมากขึ้นและส่งผลต่อตัวพนักงาน เช่น การใช้ AI ในการคัดเลือกคนเข้าทำงาน หรือการประเมินผลการปฏิบัติงาน การเลื่อนตำแหน่ง  จากการวิจัยพบว่าผู้คนสามารถยอมรับคำสั่งหรือรับการประเมินผลจาก AI ที่มีความโปร่งใสได้มากถึง 62% ในทางกลับกัน หาก AI ที่ประเทศหรือองค์กรนำมาใช้ขาดความโปร่งใส ไม่สามารถอธิบายระบบการประมวลผลได้  การยอมรับจะลดเหลือเพียง 32% เท่านั้น   ดังนั้นหากนำ AI เข้ามาใช้ในองค์กร พนักงานย่อมคาดหวังให้การทำงานของ AI มีความยุติธรรมและสามารถอธิบายได้  ดังนั้นความโปร่งใสของ AI คือตัวแปรที่จะช่วยให้พนักงานยอมรับการทำงานร่วมกับ AI มากขึ้น ซึ่งพนักงานไม่ได้หวังจะเข้าใจในเชิงเทคนิค พวกเขาเพียงต้องการเข้าใจว่าการตัดสินใจต่างๆ ของ AI มีที่มาจากอะไร สามารถอธิบายได้ และมีความยุติธรรม ดังนั้นการสื่อสารของภาครัฐบาลและองค์กรกับผู้คนและพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการนำ AI มาใช้จึงมีความสำคัญ  จากการวิจัยพบว่า 63% ของกลุ่มตัวอย่างกังวลเกี่ยวกับความลำเอียงของคนที่สร้างระบบ AI ในองค์กร และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ AI   ดังนั้นการนำ AI มาใช้จึงต้องคำนึงถึงประเด็นดังกล่าวด้วย  

การสร้างความมั่นใจให้พนักงานรู้สึกว่าเขามีทักษะในการปรับตัวพร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่มาจาก AI

             การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่พนักงานเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิผลสูงสุดทำได้โดยการมอบการพัฒนาทักษะที่สามารถทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่มีความฉลาดมากขึ้น การพัฒนาเหล่านี้จะทำให้พวกเขากล้าที่จะปรับตัวเข้ากับความเปลี่ยนแปลงและอยู่ร่วมกับ AI ในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น ทุกวันนี้มนุษย์ยังคงได้เปรียบในการทำงานที่ต้องอาศัยการตัดสินใจหรือทำงานที่มีความซับซ้อน โดยที่ 68% ของกลุ่มตัวอย่าง กล่าวว่าการพัฒนาทักษะที่จำเป็นถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้พวกเขาไม่ตกงานจากการมาของ AI ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน Soft Skills ได้แก่ ทักษะการสื่อสาร ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ ภาวะผู้นำ การทำงานเป็นทีม อย่างไรก็ตามแม้จะตระหนักว่าทักษะเหล่านี้มีความสำคัญ แต่ในองค์กรส่วนใหญ่ยังขาดการพัฒนาที่เป็นรูปธรรมที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในตัวบุคคลให้เห็นผลได้จริง  ดังนั้นการสร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ที่ยั่งยืนให้กับพนักงานคือการเสริมสร้างทักษะที่จำเป็นโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้าน soft skills ให้แก่พวกเขาซึ่งจะก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างคนและระบบ AI ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด