เคล็ดลับ SME ทำส่งออกในภาวะเงินบาทแข็งค่า

เคล็ดลับ SME ทำส่งออกในภาวะเงินบาทแข็งค่า

 

ในสถานการณ์ที่เงินบาทแข็งค่า ไม่ได้แปลว่าธุรกิจส่งออกขายสินค้าให้ต่างประเทศไม่ได้  แต่ค่าเงินที่ผันผวนจะมีผลต่อยอดรายได้ธุรกิจเมื่อมีการแปลงค่าเงินจากดอลลาร์สหรัฐฯ มาเป็นบาท   เงินบาทแข็งค่า จึงไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะทำให้การส่งออกหดตัวที่แท้จริง เพราะไม่ว่าค่าเงินบาทจะแข็งหรืออ่อน  หากยอดสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าไม่ลดลง  ธุรกิจส่งออกก็เดินหน้าต่อไป

จริงๆ แล้ว ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ จัดเป็นความเสี่ยงที่นักธุรกิจส่งออกต้องเผชิญ  ยิ่งแนวโน้มเงินบาทจะแข็งค่าต่อเนื่องยาวไปจนถึงปีหน้า  SME ที่ทำธุรกิจส่งออกยิ่งต้องป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน    

 หน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนมากเกินไปคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย โดยการใช้นโยบายดอกเบี้ยมาเป็นเครื่องมือ  ขณะเดียวกันก็มีการสนับสนุนให้ภาคเอกชนป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอผ่านเครื่องมือทางการเงินรูปแบบต่างๆ    (https://bit.ly/2GFfVzP)  เช่น  Forward เป็นการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนว่าจะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้ากับธนาคาร   Options การประกันค่าเงิน   Future การทำสัญญากำหนดอัตราแลกเปลี่ยนที่จะซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้าผ่านตลาดอนุพันธ์แห่งประเทศไทย (TFEX)  Foreign Currency Deposit (FCD) การเปิดบัญชีฝากเงินตราต่างประเทศ   และ Local Currency การใช้สกุลเงินท้องถิ่นในการค้าขายระหว่างกัน

ตัวอย่างเครื่องมือทางการเงินที่กล่าวมานั้น  ต้องการจะชี้ชัดลงไปสำหรับ SME ว่าต้องมีความรู้ ความเข้าใจในการเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมกับธุรกิจส่งออกของตนเอง เพื่อการทำส่งออกอย่างมีประสิทธิภาพในภาวะที่เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ    

e-learning เรียนฟรีตลอดหลักสูตร

 ถือเป็นโอกาสดีของ SME ที่ตอนนี้ หน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงินร่วมมือกันสนับสนุนสมรรถนะการทำธุรกิจด้านส่งออก-นำเข้า ของกลุ่มผู้ประกอบการ SME นำโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) EXIM Bank  สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ได้ร่วมกันจัด “โครงการบริหารความเสี่ยง FX ของ SMEs ระยะที่ 2  ให้ผู้ที่สนใจอบรมฟรีในรูปแบบ e-Learning  เรียนรู้ทั้งทฤษฎีและทดลองปฏิบัติจริงเพื่อพิสูจน์ว่าสามารถใช้เป็นเกราะป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนได้อย่างมีประสิทธิภาพจริง   

สถาบันธนาคารไทยพัฒนาหลักสูตรนี้ให้ SME ทั่วประเทศได้เรียนรู้ฟรี โดยสามารถสมัครเรียนช่วงไหนก็ได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดตั้งแต่พฤษภาคม – ธันวาคม 2562  กดลิ้งค์สมัครฟรีเรียนฟรีที่นี่ http://www.exim.go.th/th/FxOption/fxRegExim.aspx    

ได้ความรู้ฟรีแล้วยังได้สิทธิ์พิเศษด้วย โดยภาครัฐจะมอบสิทธิ์ให้ผู้ที่อบรมครบถ้วนตามหลักสูตร  ได้รับวงเงินค่าธรรมเนียมมูลค่า 50,000 บาทต่อหนึ่งกิจการ เพื่อนำไปใช้ทดลองซื้อประกันค่าเงิน หรือ FX Options ซึ่งครอบคลุมมูลค่าการส่งออก / นำเข้า ประมาณ 70,000-200,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ขึ้นอยู่กับประเภทของ options และอายุสัญญา  โดยนำวงเงินค่าธรรมเนียมที่ได้รับไปซื้อ  FX Options กับธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมโครงการ 8 แห่ง  (เลือกซื้อได้ 1 แห่ง) ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารยูโอบี  ได้จนถึงสิ้นเดือนกันยายน 2562      

คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิ์รับวงเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว คือ  1.จะต้องเป็นผู้ที่มีกิจการเป็นสมาชิก สสว. หากยังไม่เป็นสมาชิกสามารถสมัครสมาชิกได้ฟรีที่ www.sme.go.th 2. เป็นผู้ส่งออก/นำเข้าที่มีรายได้ในปี 2559 หรือ 2560 ไม่เกิน 400 ล้านบาท และ 3.ผู้เข้าอบรมจะต้องเป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารสูงสุดด้านการเงินหรือเจ้าหน้าที่การเงินที่ทำธุรกรรมกับธนาคาร  และต้องเป็นผู้ประกอบการจะต้องอบรม e-Learning ภายในวันที่ 20 กันยายน ถึงมีสิทธิ์ได้รับวงเงินค่าธรรมเนียม   สำหรับผู้ที่สมัครเรียนหลังจากวันที่ 20 กันยายนจนถึงธันวาคม 2562  ยังคงได้รับความรู้เต็มหลักสูตร เพียงแต่จะไม่ได้รับสิทธิ์ในการได้รับวงเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าว

 การทำประกันค่าเงิน ( FX Options ) ป้องกันความเสี่ยงได้ยังไง

ประกันค่าเงิน หรือ FX Options คือการซื้อสิทธิ์ในการล็อกหรือกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของค่าเงินไว้ล่วงหน้า วิธีนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบจำนวนเงินบาทที่ต้องจ่ายหรือได้รับในอนาคตได้อย่างชัดเจนมากขึ้น ทำให้ไม่ต้องกังวลกับความผันผวนของค่าเงิน และช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนได้   

นอกจากนี้  ผู้ประกอบการยังมีโอกาสที่จะจ่ายเงินน้อยลงหรือได้รับเงินมากขึ้นด้วย เนื่องจาก FX Options จะเปิดทางเลือกให้แก่ผู้ซื้อว่าจะใช้สิทธิ์ซื้อขายเงินตราต่างประเทศตามอัตราแลกเปลี่ยนที่ล็อกไว้หรือไม่ก็ได้ ไม่ได้เป็นภาระผูกพัน โดยหากในอนาคต อัตราแลกเปลี่ยนในตลาดดีกว่าอัตราแลกเปลี่ยนที่ล็อกไว้ในสัญญา เช่น ขายได้เงินบาทมากกว่า  หรือซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ได้ถูกกว่า ผู้ซื้อ FX Options ก็สามารถเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ์ตามสัญญาได้   

นี่แหละเคล็ดลับทำส่งออกในภาวะเงินบาทแข็งค่า   เลือก  FX Options  เป็นเกราะชั้นดีใช้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน  รู้แบบนี้แล้ว SME ธุรกิจส่งออกก็ยิ้มได้