"ปรับมุมมองขยะ"เป็นวัตถุดิบมากกว่าของเหลือทิ้งแก้วิกฤติขยะ

"ปรับมุมมองขยะ"เป็นวัตถุดิบมากกว่าของเหลือทิ้งแก้วิกฤติขยะ

การปรับมุมมองเกี่ยวกับขยะจากวัตถุเหลือใช้ให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตอื่นๆ มากกว่าถูกมองว่าเป็นขยะไร้ค่า

จากสถานการณ์ที่มีการพบแพขยะพลาสติกยาวกว่า 10 กิโลเมตร ในทะเลนอกเขตชายฝั่งจังหวัดชุมพร และการตายของวาฬนำร่องที่พบถุงพลาสติกถึง 85 ชิ้นในท้อง อีกทั้งยังมีกรณีเกาะสีชัง ที่เป็นตัวอย่างปัญหาของแหล่งขยะที่มาจากการขนส่งระหว่างประเทศ ทำให้ปัญหา "ขยะทะเล" ได้รับความสนใจจากสังคมอีกครั้ง ซึ่งปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงมาตราการบริหารจัดการขยะทั้งบนบกและในทะเลที่ขาดประสิทธิภาพ ประกอบกับการตีพิมพ์งานวิจัยของJambeck ในวารสาร Science เมื่อปี พ.ศ.2558 ที่จัดอันดับให้ประเทศไทยเป็นอันดับ 6 ของประเทศที่มีปริมาณขยะพลาสติกที่ขาดการบริหารจัดการที่ถูกต้อง จึงเป็นที่มาของการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อเกี่ยวกับสถานการณ์ขยะทะเล แนวทางการป้องกันและแก้ไขสำหรับประเทศไทย ภายใต้โครงการการจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อในประเด็นเร่งด่วนเกี่ยวกับผลประโยชน์ทางทะเลของประเทศไทย พ.ศ. 2559-2561โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)ขยะทะเล ส่วนใหญ่เกิดจากน้ำมือของมนุษย์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่มีตั้งแต่ขนาดเล็กจนถึงขนาดใหญ่ และส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติกมีน้ำหนักเบาไม่สามารถย่อยสลายได้ในเวลาอันสั้น ถูกกระแสน้ำและคลื่นลมพัดพาไปในที่ที่ห่างไกลจากแหล่งกำเนิด โดยขยะพลาสติกส่วนใหญ่เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ถุงพลาสติก ขวด ภาชนะใส่อาหาร และวัสดุที่ใช้สำหรับบรรจุหีบห่อ รวมทั้งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เช่น สายรัด แผ่นพลาสติก เครื่องมือประมง เช่น แห อวน ลอบ เป็นต้น

ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ จารยะพันธุ์  ผู้ทรงคุณวุฒิ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ให้ข้อมูลว่า ขยะทะเลมีทั้งขยะที่เกิดจากการท่องเที่ยว การทำประมง ภาคอุตสาหกรรม การเดินเรือพาณิชย์ รวมถึงการทิ้งขยะลงทะเลโดยผิดกฎหมาย โดยแหล่งที่มาของขยะทะเลส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนฝั่ง เช่น ชุมชน แหล่งทิ้งขยะบนฝั่ง บริเวณท่าเรือ และการท่องเที่ยวชายหาด  และจากกิจกรรมในทะเล เช่น การขนส่งทางทะเล การประมง และการท่องเที่ยวทางทะเล เป็นต้น และขยะพลาสติกที่พบในทะเล ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมบนบกถึงร้อยละ 80  ดังนั้น หากยังไม่รีบแก้ไข หรือป้องกันจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทั้งทำลายระบบนิเวศปะการัง การตายของสัตว์ทะเลหายาก อย่างเต่าและโลมา ทั้งนี้จากข้อมูลของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พบว่า ในปี พ.ศ. 2560 เต่าและโลมา กลืนขยะไปถึงร้อยละ 2-3 บางตัวถูกอวนหรือเชือกรัดกว่าร้อยละ 20-40

นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจ (การท่องเที่ยว) เรื่องของทัศนียภาพเสื่อมโทรมที่เกิดจากปัญหาขยะทะเล ปัญหาสุขภาพ และอาหารที่มีผลกระทบจากสารพิษ เนื่องจากพลาสติกสามารถถูกย่อยเป็นขนาดเล็กลงได้โดยแสงแดด (photodegradation) ทำให้สารเคมีบางชนิดที่เป็นพิษ ละลายไปในน้ำทะเล ขณะที่พลาสติกบางชนิดยังสามารถดูดซึมสารพิษเช่น PCB ที่อยู่ในน้ำทะเลสามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารได้เมื่อถูกกินโดยสัตว์ รวมถึงนำไปสู่การเกิดปัญหาระหว่างประเทศเรื่องปัญหาขยะข้ามแดน

" ดังนั้น การจัดการขยะทะเลต้องแก้ไขตั้งแต่ต้นทางคือ คน โดยต้องสร้างความตระหนักให้กับประชาชน และการปรับเปลี่ยนมุมมองการแก้ปัญหาขยะใหม่ ไม่ใช่แก้ด้วยการเก็บขยะแล้วนำไปรีไซเคิลเพียงอย่างเดียว แต่ควรเปลี่ยนมุมมองของคนทิ้งขยะใหม่ ไม่มองขยะเป็นเพียงแค่ขยะหรือของเหลือทิ้ง แต่มองขยะให้เป็นวัตถุดิบ ให้การจัดการขยะเป็นเรื่องของ business model ทำให้เห็นประโยชน์จากขยะเหล่านี้มากกว่าการมองว่าเป็นปัญหา ยกตัวอย่างการจัดการขวดน้ำดื่มหนึ่งใบ ถ้าเรามองว่ามันเป็นขยะหลังดื่มน้ำเสร็จแล้วก็โยนทิ้งในถังขยะ เพียงแค่นี้ขวดน้ำดื่มนี้ก็กลายเป็นขยะแล้ว แต่ถ้าเราจัดการขวดน้ำดื่มด้วยการนำกลับไปรีไซเคิล ขวดน้ำดื่มนี้ก็จะกลายเป็นวัตถุดิบ ฉะนั้น อยู่ที่การบริหารจัดการของเราว่าจะให้เป็นขยะหรือให้เป็นวัตถุดิบ"

ปัจจุบันปัญหาขยะทะเล ถูกบรรจุอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals – SDGs) เป้าหมายที่14 มีเป้าหมายเพื่ออนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากมหาสมุทรทะเลและทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในเป้าประสงค์ที่14.1 การลดมลพิษทางทะเลรวมถึงขยะทะเล และจากข้อมูลสถานการณ์ขยะในประเทศไทย ใน ปี พ.ศ.2561 พบว่า คนไทยสร้างขยะ 1.15 กิโลกรัม/คน/วัน คิดเป็น 76,360 ตัน/วัน  ขณะที่ขยะมูลฝอยทั่วประเทศรวมกันมากกว่า 27.82 ล้านตัน ถูกนำไปกำจัดด้วยวิธีถูกต้อง 10.88 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 39.1 ส่วนที่สามารถนำกลับมาใช้ประโยชน์ได้ใหม่มี 9.58 ล้านตัน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.4 ขณะที่ขยะที่กำจัดไม่ถูกต้องมีกว่า 7.36 ล้านตัน หรือร้อยละ 26.5 และยังมีขยะอีกจำนวนมากที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวม โดยบริเวณที่พบขยะตกค้างพบมากที่สุดคือ ชายหาด ปะการัง และป่าชายเลนในพื้นที่ 24 จังหวัดชายทะเล และส่วนใหญ่พบเป็นถุงพลาสติก

นอกจากนี้ข้อมูลกรมควบคุมมลพิษ ยังพบว่า ระบบการจัดเก็บและรวบรวมขยะมูลฝอยไปสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยชุมชนของหน่วยงานท้องถิ่น อย่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีเพียง 4,894 แห่ง หรือร้อยละ 63 ที่มีประสิทธิภาพ แต่ยังมีถึง 2,881 แห่ง หรือร้อยละ 37 ที่ยังไม่มีการเก็บรวบรวมและถูกนำไปกำจัด

ศ.ดร.เผดิมศักดิ์ กล่าวว่า เราทุกคนเป็นต้นเหตุทำให้เกิดขยะและเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากขยะ  ดังนั้นการป้องกันและแก้ไขปัญหาขยะนั้นจึงเป็นเรื่องของทุกคนและต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการจัดการปัญหาขยะจากบนบก เพื่อป้องกันไม่ให้ลงสู่ทะเล เริ่มตั้งแต่การจัดการขยะในครัวเรือน การปรับมุมมองเกี่ยวกับขยะจากวัตถุเหลือใช้ให้กลายเป็นวัตถุดิบสำหรับกระบวนการผลิตอื่นๆ มากกว่าถูกมองว่าเป็นขยะไร้ค่า และอาจให้รางวัลหรือมอบประกาศนียบัตรการจัดการขยะที่ดีให้แก่ที่พักอาศัย คอนโด หอพัก โดยใช้หลักการเดียวกับกรณีร้านค้า โรงแรม หรือโรงงานที่ตั้งอยู่ติดชายทะเล และการนำแนวคิดเศรษฐกิจสีน้ำเงิน มาเป็นเครื่องมือประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการป้องกันขยะทะเล เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับย่อเกี่ยวกับสถานการ์ขยะทะเลฯ จากงานวิจัยนี้ มี 4 ประเด็น ได้แก่        1.การป้องกันปัญหาขยะทะเลจากแหล่งกำเนิดขยะทั้งบนบกและในทะเล โดยการลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดทั้งบนบก ในพื้นที่เกาะ และพื้นที่ชายฝั่ง ออกมาตรการให้ผู้ผลิต ลด เลิก ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว การเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ผลิต การควบคุมกิจกรรมการใช้ประโยชน์ที่ก่อให้เกิดขยะทะเล  และสนับสนุนแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจสีน้ำเงิน  2.การแก้ไขสถานการณ์ขยะที่เกิดขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากกิจกรรมบนบก การรองรับและจัดการขยะจากกิจกรรมบนบกและในทะเล การเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มบริการจัดเก็บขยะให้เข้าถึงทุกชุมชนอย่างสม่ำเสมอ  การคัดแยกและนำขยะพลาสติกกลับมาเป็นวัตถุดิบ จัดตั้งศูนย์คัดแยกขยะ หรือ ธนาคารขยะ

  1. การแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากปัญหาขยะทะเลและชายฝั่งพัฒนาเทคโนโลยีและอุปกรณ์ในการติดตามเพื่อจัดการและจัดเก็บขยะในทะเล รวมทั้งแก้ไขปัญหา  Microplasticและ Microbeat ที่อยู่ในห่วงโซ่อาหาร และ 4. กลไกภาพรวม โดยการกำหนดให้มีเขตบริหารจัดการทรัพยากรจังหวัดในทะเล และการวางแผนที่การใช้ประโยชน์ ที่มีกระทรวงมหาดไทยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก การมี Business model  เพื่อเป็นจุดเปลี่ยนในการจัดการกับ Political economy รวมถึงการปรับปรุงกฏหมายในประเทศให้ทันสมัยและเอื้อต่อการบริหารจัดการขยะในระดับประเทศ

 " การจัดการเป็นเรื่องสำคัญ หากจัดการไม่ดีก็กลายเป็นขยะ ถ้าจัดการถูกก็กลายเป็นวัตถุดิบ เมื่อปัญหาขยะทะเลลดลง ชายหาดปลอดขยะ ทรัพยากรทางทะเลอุดมสมบูรณ์ ก็จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจฐานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ซึ่งครอบคลุมกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทางทะลทั้งทางตรงและทางอ้อม อาทิ การเป็นแหล่งอาหาร ทรัพยากรธรรมชาติ การเป็นแหล่งพลังงาน การท่องเที่ยว การขนส่ง และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่อง" ศ.ดร. เผดิมศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย