ฝ่ายงานวิจัยมุ่งเป้าคว้า2รางวัลผลงานวิจัยเด่น สกสว.ปี 2561

ฝ่ายงานวิจัยมุ่งเป้าคว้า2รางวัลผลงานวิจัยเด่น สกสว.ปี 2561

ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร เป็นประธานในการเปิดงานและผู้มอบรางวัลในครั้งนี้

ได้มีการจัดงานพิธีมอบรางวัลผลงานวิจัยเด่น สกสว. ประจำปี 2561 ณ โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ โดยมี ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร ประธานกรรมการนโยบายกองทุนสนับสนุนการวิจัย ปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในการเปิดงานและผู้มอบรางวัลในครั้งนี้

โดยฝ่ายงานวิจัยมุ่งเป้า ภายใต้การบริหารงานของ ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยมุ่งเป้า สามารถคว้ารางวัลวิจัยเด่นประจำปี 2561 ได้ถึง 2 งานด้วยกัน โดยมีผู้ประสานงานจากชุดโครงการท่องเที่ยว ชุดโครงการยางพารา และชุดโครงการผลักดันผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ร่วมแสดงความยินดี

ผลงานรางวัลวิจัยเด่นของฝ่ายงานวิจัยมุ่งเป้าชิ้นแรกเป็นของ ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ และคณะ ชื่อผลงานว่า “อนาคตสิมิลัน บนความสมดุลของการท่องเที่ยว” โดยงานวิจัยชิ้นนี้มีความโดดเด่นในการเป็นบรรทัดฐานการจัดการการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติที่มุ่งสู่สมดุล มีการนำผลงาน วิจัยไปขับเคลื่อนให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมโดยใช้หลักวิชาการ ตอบโจทย์ของสังคมที่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงการบริหารจัดการการท่องเที่ยวในอุทยานแห่งชาติ ไปสู่มาตรฐานสากล และการแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวที่มีมากเกินไปในอุทยานแห่งชาติ

ทาง ผศ.ดร.ดรรชนี เอมพันธุ์ เผยว่า “เกาะสิมิลันเขาสวยอยู่แล้ว แต่พอมีจำนวนนักท่องเที่ยวมาก ก็เกิดผลกระทบที่ไม่ดีตามมา ในแง่ของความแออัด การกำหนดจำนวนที่เหมาะสม จะช่วยฟื้นฟูและคืนสภาพให้สิมิลัน เป็นความชื่นใจที่การวิจัยไม่เสียเปล่า รู้สึกโล่งใจที่ทรัพยากรที่กำลังจะตายไปทีละน้อย เราได้เข้ามาแก้ไขปัญหาก่อนที่มันจะเกินเยียวยาได้” 

และผลงานรางวัลวิจัยเด่นของฝ่ายงานวิจัยมุ่งเป้าชิ้นที่สองเป็นของ ผศ.ดร.ชนะ รักษ์ศิริ ชื่อผลงานว่า “หุ่นยนต์สำหรับการขูดหน้ายางรถยนต์อัตโนมัติในกระบวนการผลิตยางหล่อดอก” ซึ่งงานวิจัยชิ้นนี้ได้สร้างหุ่นยนต์มาทดสอบการทำงานสำหรับการขูดหน้ายางรถยนต์อัตโนมัติ โดยใช้เวลาในการขูดยางเฉลี่ย 1.5 นาที/เส้น ทำให้เพิ่มการผลิตได้เป็น 36,000 เส้น/ปี เป็นเงิน 68,000,000 บาท/ปี มากกว่าเครื่องขูดยางแบบเดิมถึง 2 เท่าด้วยกัน และสามารถทดแทนแรงงานคนได้ถึง 3 คน  ปัจจุบันยังไม่มีหุ่นยนต์อุตสาหกรรมที่ใช้ในการขูดยางโดยตรง จึงเป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับกระบวนการขูดยาง ซึ่งสามารถสร้างสิทธิบัตรที่พัฒนาขึ้นในประเทศไทยได้

โดยทาง ผศ.ดร.ชนะ รักษ์ศิริ เผยว่า “ยางหล่อดอกเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญที่สามารถช่วยลดต้นทุนได้มาก โดยปกติแล้วต้นทุนของยางหล่อดอกจะต่ำกว่ายางใหม่ 30% ถึง 50% โดยที่สมรรถนะในการขับขี่ ความเร็ว ความนุ่มนวล และความปลอดภัยเทียบเท่ากับยางใหม่ ในการพัฒนาหุ่นยนต์อัตโนมัติที่มีความยึดหยุ่นและสามารถใช้ได้กับยางล้อได้หลายประเภท ก็จะทำให้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตยางหล่อดอก พร้อมทั้งเป็นการลดต้นทุนแรงงานในการผลิตด้วย”