DITP กางเทรนด์อัญมณีเครื่องประดับตลาดสหรัฐ

DITP กางเทรนด์อัญมณีเครื่องประดับตลาดสหรัฐ

แนะใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียเข้าถึงผู้บริโภค เพิ่มโอกาสทางการค้า ร่วมงานแฟร์ระดับโลก Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 64

 

ทูตพาณิชย์ลอสแอนเจลิสแนะผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดอัญมณีและเครื่องประดับสหรัฐอเมริกา ชี้ผู้บริโภคสนใจสินค้าที่แตกต่างจากคนอื่น ตลาดสมาร์ทจิวเวลรีสดใส แนะใช้ช่องทางอีคอมเมิร์ซและโซเชียลมีเดียเข้าถึงผู้บริโภค เพิ่มโอกาสทางการค้า ร่วมงานแฟร์ระดับโลก Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 64

 

นางขวัญนภา ผิวนิล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้า ณ นครลอสแอนเจลิส เปิดเผยว่า ตลาดสินค้าเครื่องประดับของสหรัฐอเมริกามีการเติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2552 หลังจากฟื้นตัวจากวิกฤตเศรษฐกิจตกต่ำ และคาดการณ์ว่า ตลาดจะขยายตัวต่อไปจนถึงปี 2565 แม้ว่าจะมีการขยายตัวในอัตราที่ลดลง โดยคาดการณ์ว่า ปีนี้ตลาดจะเติบโต 1.4%

 

แนวโน้มตลาดสหรัฐที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคสนใจและต้องการสินค้าที่มีรูปแบบแตกต่างจากคนอื่น และหันไปซื้อสินค้าที่มีการออกแบบเป็นสินค้าชิ้นเล็กๆ เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ต้องการสินค้าที่มาจากแหล่งกำเนิดแท้จริงของเครื่องประดับนั้นๆ (Ethnic) จนตลาดไม่สามารถตอบสนองได้ทัน ซึ่งนี่คือโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะสามารถผลิตสินค้าเครื่องประดับป้อนตลาดนี้ได้

 

“ชาวอเมริกันมองหาเครื่องประดับที่โดดเด่นทั้งด้านคุณภาพ และทรงคุณค่ามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งเครื่องประดับจากประเทศไทยสามารถตอบโจทย์นี้ได้ โดยเห็นได้ชัดจากการที่คูหาประเทศไทย (Thailand Pavilion) ในงาน JCK Las Vegas ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม – 3 มิถุนายน ที่ผ่านมา ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับความสนใจจากอย่างมากจากผู้ซื้อชาวอเมริกัน โดยเฉพาะในส่วนของเครื่องประดับเงิน ที่สร้างสรรค์โดยช่างฝีมือชาวไทย และเครื่องประดับพลอยสีเจียระไนแล้ว” ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ นครลอสแอนเจลิสกล่าว

 

อีกหนึ่งเทรนด์ที่มาแรงคือ การเติบโตของสมาร์ท จิวเวลรี่ (Smart Jewelry) หรือเครื่องประดับที่ผลิตโดยการผสมผสานเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อให้สามารถตอบโจทย์การใช้งาน เช่น สร้อยข้อมือที่สามารถเก็บข้อมูลทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้สวมใส่ แหวนที่สามารถวัดจำนวนก้าวและแคลอรี  สร้อยคอที่จะสั่นเบาๆ เพื่อแจ้งว่ามีโทรศัพท์ อีเมล เข้ามา เป็นต้น

 

“ผู้ประกอบการไทยมีชื่อเสียงด้านความประณีต ฝีมือการผลิตที่โดดเด่นอยู่แล้ว หากสามารถผสมผสานฟังก์ชั่นเหล่านี้เข้าไปในเครื่องประดับที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวได้อีก ก็จะทำให้เครื่องประดับแบรนด์ไทยมีความน่าสนใจ และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่ได้ดียิ่งขึ้นอีก” ผอ.สำนักงานส่งเสริมการค้า ณ นครลอสแอนเจลิสกล่าว

 

ขณะเดียวกัน การเติบโตของยอดขายปลีกผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและการใช้โซเชียลมีเดีย จะกลายเป็นช่องทางโปรโมตสินค้าและจำหน่ายสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของผู้ประกอบการไทยอีกด้วย โดยเฉพาะผู้ประกอบการระดับ SMEs ที่อาจมีงบประมาณในการทำตลาดไม่สูงนัก

 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถใช้ช่องทางการร่วมงานจัดแสดงสินค้าสำคัญระดับสากล อย่างงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 64 ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 10-14 กันยายน 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เป็นเวทีในการแสดงผลงาน โชว์ดีไซน์ และพบปะคู่ค้าจากทั่วทุกมุมโลกที่ตอบรับจะเดินทางมาร่วมงานนี้ ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะได้แลกเปลี่ยนความรู้ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตลาด ความต้องการสินค้าของประเทศต่างๆ เทรนด์ ดีไซน์ และเทคโนโลยีการผลิต พร้อมขยายโอกาสทางการค้าอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มเติบโต แต่ก็ต้องจับตามองตัวแปรสำคัญที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดในปีนี้ ได้แก่ สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน แนวโน้มที่อาจเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ที่อาจส่งผลต่อการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค

 

“ตลาดสหรัฐฯ มีความอ่อนไหวเรื่องราคาสินค้า ซึ่งจะส่งกระทบต่อการกำหนดราคาสินค้าและการออกแบบสินค้า เมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ผู้บริโภคจะหันไปซื้อสินค้าที่มีราคาต่ำกว่า เช่น การหันไปนิยมเพชรสังเคราะห์ (Lab-Grown Diamond) แทนการใช้เพชรแท้” ผอ.ขวัญนภาอธิบายเพิ่มเติม

 

สำหรับการค้าสินค้าอัญมณีและครื่องประดับระหว่างสหรัฐฯ และไทยในปี 2561 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไปสหรัฐฯ มูลค่ารวม 1,357 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 15.72% จากปี 2560 โดยสินค้าส่งออกไปสหรัฐฯ 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องประดับเงิน (553 ล้านเหรียญสหรัฐ), เครื่องประดับทอง (429 ล้านเหรียญสหรัฐ) และทับทิม แซฟไฟร์ มรกต และพลอยเจียระไนอื่นๆ (167 ล้านเหรียญสหรัฐ)

 

ส่วนสหรัฐฯ ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมาไทยมูลค่ารวม 591 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 40% จากปี 2560 โดยสินค้าส่งออกหลัก 3 อันดับแรก ได้แก่ เพชร พลอย แพลตตินัม ตามลำดับ

Bangkok Gems & Jewelry (BGJF) คือหนึ่งในงานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับโลก จัดขึ้นปีละสองครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์และกันยายน โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ถือเป็นเวทีการค้าที่สำคัญที่นักธุรกิจ ผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้ที่เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลกเข้าร่วมงานเพื่อต่อยอดธุรกิจในหลากหลายมิติ ทั้งการสรรหาวัตถุดิบ การค้าขาย และสร้างเครื่อข่ายพันธมิตร

 

 

สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับข่าวประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม:

Department of International Trade Promotion, Office of Lifestyle Trade Promotion,

Napalai Praibung  Tel 02 507 8408

Email: [email protected]

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

สำนักส่งเสริมการค้าสินค้าไลฟ์สไตล์

นภาลัย ไพรบึง โทร 02 507 8408

Email: [email protected]

 

Asialife Media (Thailand) Co., Ltd.

Natthineethiti (Nikki) Phinyapincha

ณัฐินีฐิติ (นิกกิ) ภิญญาปิญชาน์

Public Relations Division

2019 Bangkok Gems & Jewelry Fair

Email: [email protected]

Website: www.bkkgems.com

Facebook: Bangkokgemsofficial