อพท.3 เปิดแผนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ฝั่งทะเลตะวันออก

อพท.3 เปิดแผนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ฝั่งทะเลตะวันออก

อพท.3 เปิดแผนศึกษาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ฝั่งทะเลตะวันออกส่งทีมที่ปรึกษาวิเคราะห์ศักยภาพ39ชุมชนครอบคลุมพื้นที่อีอีซี

อพท.3 เปิดแผนศึกษา พัฒนาเมืองท่องเที่ยว ฝั่งทะเลตะวันออก  สู่การบริหารจัดการระบบคลัสเตอร์ เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ รองรับการพัฒนาอีอีซี คาดจำนวนนักท่องเที่ยวไทย- เทศ หลั่งไหลเข้าพื้นที่เพิ่ม ตามแผนพัฒนาระบบคมนาคมและโลจิสติกส์ ส่งทีมที่ปรึกษา สำรวจ วิเคราะห์ศักยภาพพื้นที่ 39 ชุมชน จ.ชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทราเชื่อมโยงเส้นทาง จันทบุรี และตราด  วางเป้าหมายเปิดแหล่งท่องเที่ยวเข้าถึงพื้นที่ชุมชน เทียบชั้นมาตรฐานสากล  คาดยกร่างแผนปฏิบัติการเชิงรุก แล้วเสร็จ กันยายนนี้

นายธิติ จันทร์แต่งผล ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษ 3 (อพท.3 )(ฝั่งทะเลตะวันออก)  เปิดเผยว่า  ขณะนี้ได้จัดทำโครงการศึกษารูปแบบการบริหารการพัฒนาเมืองท่องเที่ยวในเขตการพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก  เพื่อยกระดับการท่องเที่ยวที่มีศักยภาพให้สอดรับกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(อีอีซี)ใน 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา  และขยายพื้นที่ครอบคลุมการบริหารจัดการของ อพท.3   ที่อยู่นอกพื้นที่อีอีซเพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด เพื่อให้เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตในระยะยาว โดยมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนผ่านการบูรณาการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยคาดว่าผลการศึกษาจะนำไปสู่การจัดทำแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาวให้แล้วเสร็จในเดือนกันยายน ปี 2562 นี้

สำหรับแผนการศึกษาดังกล่าว ดำเนินการโดยคณะที่ปรึกษาจาก บริษัท ฟลัดเวย์ จำกัดในการเข้าไปวิเคราะห์ ศึกษาโอกาส และผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาโครงการอีอีซี ทั้งในด้านการพัฒนาเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง (ไฮสปรีดเทรน) การพัฒนาเมืองใหม่ในพื้นที่ 4 จังหวัด การพัฒนาสนามบินนานาชาติ อู่ตะเภาและเมืองการบิน ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตลาดการท่องเที่ยวในพื้นที่ภาคตะวันออก จากปัจจัยการเคลื่อนย้ายของประชากรที่เพิ่มขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และนักท่องเที่ยว ในประเทศและต่างประเทศ

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความพร้อมรองรับ กับปริมาณนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ได้มีการจัดทำแผนปฏิบัติการ   พัฒนาระยะสั้น 3 ปี ระยะกลาง 5 ปี และระยะยาว 10 ปี โดยประสานงานกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก   ( สกพอ.) และหน่วยราชการ และภาคส่วนอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปสู่การบูรณาการบริหารการพัฒนาเมืองท่องเที่ยว ทั้งการกำหนดเส้นทางการท่องเที่ยว กำหนดกิจกรรมในชุมชน  และการบริการในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก รวมถึงการกำหนดพื้นที่ต้นแบบและการจัดพื้นที่(Zoning) เพื่อการท่องเที่ยวให้มีคุณภาพ ควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามมาตรฐานหลักการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน รวมถึงการจัดทำโครงการนำร่อง เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวโดยชุมชนในพื้นที่ 39 ชุมชนในพื้นที่อีอีซี

สำหรับกรอบการศึกษาในโครงการดังกล่าวฯ แบ่งเป็นการศึกษาด้านต่างๆ  ประกอบด้วยการศึกษาผลกระทบและโอกาสในพื้นที่ในเขตการพัฒนาการท่องเที่ยวฝั่งตะวันออก จากนโยบายการขับเคลื่อนอีอีซีการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มการขยายตัวด้านอุปสงค์ที่เกิดจากยุทธศาสตร์ประเทศด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ เต็มรูปแบบและครบวงจรการศึกษาวิเคราะห์แนวโน้มความต้องการและพฤติกรรมการเดินทางท่องเที่ยวของกลุ่มเป้าหมายตลาดการท่องเที่ยวใหม่ๆการศึกษาจุดเชื่อมต่อ (Node) การพัฒนาการท่องเที่ยวที่สำคัญ ที่จะเกิดขึ้นในระยะสั้น จนถึงระยะยาว เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับพื้นที่ท่องเที่ยวหลัก และแหล่งท่องเที่ยวรองในเขตพัฒนาการท่องเที่ยวภาคตะวันออกการศึกษาตำแหน่งพื้นที่ทางการท่องเที่ยว

โดยการประเมินศักยภาพความพร้อมในการยกระดับเขตพัฒนาท่องเที่ยวฝั่งทะเลตะวันออก สู่การเป็นจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวระดับนานาชาติการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและแผนการรองรับที่เหมาะสม (Carrying Capacity) ทั้งในด้านศักยภาพหลักของพื้นที่ (Destination Positioning )ในระดับเขตการพัฒนาท่องเที่ยว (Custer Positioning ) ให้สอดรับกับการดำเนินงานของอพท.นำแนวคิดของกระบวนการ Design Thinking  มาเป็นเครื่องมือในการสร้าง การมีส่วนร่วมกับภาคีการบูรณาการแผนระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ร่วมกับ สกพอ. และหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องที่จะนำไปสู่ผลสำเร็จในการดำเนินโครงการ

 

อย่างไรก็ตามการศึกษาครั้งนี้ จะนำไปสู่แผนปฏิบัติการ ให้สอดรับกับแผนการพัฒนาพื้นที่อีอีซี ซึ่งต้องมีความพร้อมในการเตรียมบุคลากรที่มีความสามารถในการต้อนรับนักท่องเที่ยว และมีการจัดรูปแบบการท่องเที่ยว การสร้างเส้นทางการท่องเที่ยวใหม่และมีการเชื่อมโยงกับแหล่งท่องเที่ยวเดิม เพื่อให้เป็นระบบคลัสเตอร์ด้านการท่องเที่ยวชุมชน แต่ยังคงรักษามาตรฐานด้านการบริการ การดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกิดการท่องเที่ยวในแหล่งชุมชนมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันเป็นตลาดที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง  เป็นที่ยอมรับของนักท่องเที่ยวไทยและต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาท่องเที่ยวในเมืองพัทยาที่มีจำนวนมากกว่า 10 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง