ม.รามฯ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ให้ชาวไทย-ชาวต่างชาติ ประเทศนอร์เวย์

ม.รามฯ เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม  ให้ชาวไทย-ชาวต่างชาติ ประเทศนอร์เวย์

จัดโครงการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม และเสริมสร้างวัฒนธรรมสัมพันธ์ นำศิลปวัฒนธรรมด้านดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้าน และนาฏศิลป์ไทย

ผศ.กรสรวง ปาณินท์ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม เปิดเผยว่า การนำหลักสูตรด้านศิลปวัฒนธรรมไปเผยแพร่ครั้งนี้ ทางสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล ได้จัดห้องเรียน จำนวน ๒ แห่ง    มีผู้เข้าร่วมโครงการจำนวน ๑๐๒ คน ณ เมือง Oslo วัดไทยนอร์เวย์ จำนวน ๖๒ คน และเมือง Moss จำนวน ๔๐ คน ซึ่งมีกลุ่มผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯของปีที่ผ่านมาเข้าอบรม ทำให้เห็นพัฒนาการ และสามารถแสดงโชว์ในเวทีต่างๆ ได้อย่างมั่นใจ และผลงานที่แสดงออกมาเป็นที่ชื่นชอบแก่ผู้ชมเป็นอย่างมาก ส่วนกลุ่มผู้ที่ไม่เคยเข้าร่วมโครงการฯ เริ่มต้นเรียนตั้งแต่ขั้นตอนฝึกหัดเบื้องต้น และแยกห้องเรียนเป็นกลุ่มๆ เพื่อให้ผู้เรียนได้มีสมาธิทางการเรียนรู้ได้เร็ว โดยผู้ผ่านการประเมินได้รับใบประกาศนียบัตร จาก นายประสิทธิพร เวทย์ประสิทธิ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงออสโล และขึ้นแสดงโชว์ในงาน Thai Fair 2019 ณ กรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ มีผู้ชมการแสดง จำนวนกว่า ๕0,0๐๐ คน เมื่อวันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๖๒

 เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2562 ทีมอาจารย์รามฯ ยังได้เผยแพร่วัฒนธรรมไทยในงาน Leber day Evelrum ณ เมือง Hamar ประเทศนอร์เวย์  วันที่ ๒ มิถุนายน ๒๕๖๒ จัดแสดงวัฒนธรรมไทยในงาน International Childrens Festival ณ เมือง Hamar ประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย เป็นภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวนอร์เวย์ และชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในนอร์เวย์

วันที่ 3 มิถุนายน 2562 ทีมอาจารย์รามฯและผู้เข้าร่วมโครงการได้มีส่วนร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตไทย เนื่องในโอกาสงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 ผู้ช่วยศาสตราจารย์กรสรวง ปาณินท์ ได้คิดประดิษฐ์การแสดงขึ้นใหม่ โดยประพันธ์บทและบรรจุทำนองเพลง และอาจารย์ณัฐภูมินทร์ คล้อยเอี่ยม ประดิษฐ์ท่ารำ ชื่อชุดการแสดง “ถวายพระพร รัชกาลที่ 10”

การแสดงชุดนี้จัดทำเพื่อให้ชาวไทยในประเทศนอร์เวย์ได้แสดงความจงรักภักดี และน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ มหิศรภูมิพลราชวรางกูร กิติสิริสมบูรณ์อดุลเดช สยามินทราธิเบศรราชวโรดม บรมนาถบพิตร พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยบรรจุทำนองเพลงสะสม สองชั้น ออกรัวดึกดำบรรพ์

ผศ.กรสรวง กล่าวด้วยว่า “ถือเป็นความภาคภูมิใจในฐานะประชาชนคนไทย และนับเป็นการสร้างเสริมวัฒนธรรมสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและประเทศนอร์เวย์ เป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยรามคำแหงในต่างแดน และในอนาคตคาดว่าจะมีการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในประเทศอื่นของกลุ่มสแกนดิเนเวีย โดยขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยรามคำแหงในอนาคตต่อไป”