Seed Ball เติมป่าเขียวที่เขาพระยาเดินธง ลพบุรี  

Seed Ball เติมป่าเขียวที่เขาพระยาเดินธง ลพบุรี  

เรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำSeed Ball ที่ถูกตามหลักวิชาการของกรมป่าไม้ จะได้กล้าที่สมบูรณ์แข็งแรงทำให้กล้าไม้เจริญเติบโตได้ดี


 

ฝายชะลอน้ำทั้งเล็กและใหญ่ในพื้นที่เขาพระยาเดินธง จ.ลพบุรี  กักเก็บน้ำไว้เต็มทุกฝาย หลังจากที่ฝนตกลงมาระลอกใหญ่เมื่อไม่กี่วันมานี้   ต้นไม้ในป่าผลิยอดเขียว  เช่นเดียวกันหน่อกล้วยที่เพิ่งถูกนำลงดินเมื่อ 2 สัปดาห์ที่แล้ว แตกยอดอ่อนหลังรับน้ำฝนชุ่มฉ่ำเต็มที่  ซึ่งในระยะต่อไปหน่อกล้วยเหล่านี้จะช่วยรักษาความชื้นในป่า และยังสามารถเป็นแนวกันไฟแบบธรรมชาติได้อีกด้วย  
 
ก้อน Seed Ball  ซึ่งจิตอาสาซีพีเอฟและชุมชนช่วยกันปั้นและนำไปวางตามหลุมที่ขุดไว้ในพื้นที่ป่า จำนวน 2,000 ก้อน เริ่มงอกเป็นต้นกล้าที่พร้อมจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ในอนาคต  ความเขียวชะอุ่มและความชุ่มชื้นที่เกิดขึ้นนี้  เป็นผลจากกความร่วมมือในกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูป่าที่มีกรมป่าไม้ร่วมกับชุมชน และ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ  ดำเนินการภายใต้โครงการ"ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" โครงการที่อนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ในพื้นที่  5,971 ไร่ ที่เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี    
 
 
นายหงษ์พิจารณ์ บัวไข  นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ  ซึ่งทำหน้าที่สาธิตและอธิบายขั้นตอนการทำ Seed Ball ที่ถูกวิธี   กล่าวว่า  Seed  Ball  เป็นรูปแบบหนึ่งของการฟื้นฟูป่าที่เลียนแบบธรรมชาติ โดยใช้เมล็ดหยอดหลุมให้งอกเองในพื้นที่ป่า ซึ่งเมล็ดที่นำไปวางในหลุม มาจากการผสมดินเหนียว ปุ๋ยหมัก หรือดินดำปลูกต้นไม้ที่ผสมปุ๋ยแล้วกับน้ำ ปั้นเป็นก้อนพอเหมาะ นำไปผึ่งแดดหรือลม  ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้ มีการนำ Seed Ball ที่ปั้นแล้วไปวางตามหลุมที่ขุดไว้  เพื่อช่วยเพิ่มอัตราการงอกของเมล็ดตามธรรมชาติในพื้นที่เขาพระยาเดินธง  โดยชนิดของพันธุ์ไม้ที่ใช้ ต้องเลือกชนิดไม้เปลือกแข็ง งอกได้เร็ว และเป็นไม้โตเร็ว อาทิ ขะเจ๊าะ(สาธร)   งิ้วป่า ทองหลางป่า ประดู่ป่า เสี้ยวป่า มะกล่ำต้น มะค่าแต้ มะค่าโมง  พฤกษ์ ถ่อนแดง กระพี้จั่น  เป็นต้น     
  
    
ด้านนายรวบ ชัยวัติ  ผู้ใหญ่บ้านห้วยบง  เล่าว่า  เข้าหน้าฝนอย่างนี้  ชาวบ้านในชุมชนใกล้ๆ โครงการเขาพระยาเดินธง ได้อาศัยเข้าไปเก็บเห็ด หน่อไม้  ผัก มาทำอาหาร ตอนนี้ป่าไม้เริ่มสมบูรณ์แล้ว ชาวบ้านเองก็ดีใจที่ได้ป่ากลับคืนมา  เป็นศูนย์เรียนรู้ให้กับนักเรียน นักศึกษา เยาวชน มาดูเรื่องการปลูกป่า และต่อไปไม่ใช่แค่ที่เราจะต้องช่วยกันดูแลป่า แต่จะต้องช่วยกันปลูกป่า และป้องกันการตัดไม้ทำลายป่าด้วย  เพราะสุดท้ายแล้วประโยชน์ก็ตกอยู่กับชุมชนเอง  นอกจากนี้  ชาวบ้านยังมีรายได้จากกิจกรรมฟื้นฟูป่า อาทิ หน่อกล้วยที่นำไปปลูกเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของดินและป่า  ทางซีพีเอฟก็เข้ามารับซื้อจากชาวบ้านในหมู่บ้านรอบๆโครงการ    
 

อนุชิต  ศรีสุระ  จิตอาสาที่เคยเข้าร่วมกิจกรรมปลูกต้นกล้า ทำฝายชะลอน้ำ กำจัดวัชพืช  และ ทำ Seed Ball เล่าว่า  กิจกรรมล่าสุดที่ร่วมกันทำ Seed Ball  ทำให้มีโอกาสเรียนรู้ขั้นตอนและวิธีการทำSeed Ball ที่ถูกตามหลักวิชาการของกรมป่าไม้ และยังได้ทราบเทคนิคต่างๆ  เช่น  ใส่น้ำส้มควันไม้ผสมกับดินเหนียวก่อนปั้นเป็นก้อนทรงกลม  เพื่อป้องกันการกัดแทะของแมลงที่มีต่อเมล็ดพันธุ์   ซึ่งการทำ Seed Ball ดีต่อการปลูกป่า คือ ได้พันธุ์ไม้ที่แข็งแรง เนื่องจากกล้าไม้ที่งอกจากเมล็ดพันธุ์ที่ไม่มีการเคลื่อนย้าย จะได้กล้าที่สมบูรณ์แข็งแรง ระบบรากไม่กระทบกระเทือน จึงทำให้กล้าไม้เจริญเติบโตได้ดี

 
เช่นเดียวกับจิตอาอาสาอีกคนที่ร่วมกิจกรรมปลูกป่าอยู่เสมอ  "ต๊อด" สุรพัฒน์ สายเพชร  กล่าวว่า  ก่อนที่จะมาร่วมกิจกรรมทำ Seed ball  คิดว่าคงเป็นการปั้นดินใส่เมล็ดพันธุ์ไม้ธรรมดาๆ แล้วก็โยนไปในป่า  แอบคิดว่ามันจะรอดมั้ย แต่เมื่อได้มาฟังวิทยากรของกรมป่าไม้และลงมือทำ มันมีขั้นตอนที่ละเอียดอยู่เหมือนกัน  ตั้งแต่การเลือกชนิดพันธุ์ไม้ การผสมดิน การผสมน้ำส้มควันไม้เพื่อกันแมลง การปั้นดินให้ได้ขนาดพอเหมาะ  ทุกคนช่วยกันปั้นและนำไปกระจายใส่ตามหลุมที่ขุดเตรียมไว้  คาดหวังว่าเมล็ดไม้ทุกลูกที่ทำขึ้นมาจะเติบโตเป็นต้นไม้ใหญ่ต่อไป
 
 
โครงการซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก  เขาพระยาเดินธง เริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่ปี  2559 จากพื้นที่เขาหัวโล้น เต็มไปด้วยวัชพืชและหนามสนิม   ซีพีเอฟมุ่งมั่นจับมือชุมชน และกรมป่าไม้    ดูแลอย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 4 ของโครงการ  ภายใต้เป้าหมายโครงการ 5 ปี (ปี 2559-2563)  เพาะกล้าไม้ไปแล้วรวมกว่า 3 แสนกล้า  สร้างฝายชะลอน้ำทั้งหมด 45 แห่ง   ผลสัมฤทธิ์ที่เห็นเป็นรูปธรรมในวันนี้  ไม่เพียงต้นกล้าที่ปลูกมีอัตรารอดมากกว่า 85 % แต่ปัจจุบันความหลากหลายทางชีวภาพกลับคืนสู่ป่าแห่งนี้ ทั้งสัตว์ชนิดต่างๆ และพันธุ์ไม้ที่เติบโตขึ้นเป็นลำดับ  เป็นแหล่งพืชอาหาร สมุนไพร และไม้ใช้สอยให้กับชุมชน นอกจากนี้ ในอนาคต พื้นที่เขาพระยาเดินธงจะเป็นต้นแบบการปลูกป่าให้กับการฟื้นฟูป่าในพื้นที่อื่นๆของประเทศ และเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูสภาพป่าไม้ให้กับเยาวชนและประชาชนต่อไป ./