ซีพีเอฟสนับสนุน“รร.ต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ”

ซีพีเอฟสนับสนุน“รร.ต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ”

โรงเรียนที่เข้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ของมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทสนับสนุนโดยซีพีเอฟได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบ

      

17 โรงเรียน ในโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟและโรงเรียนที่เข้าโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ของมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทสนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ประจำปี 2561 จากสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)        

       

สำหรับรางวัลโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ประจำปี 2561 มีโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือก ในระดับดีเด่นรวมทั้งสิ้น  81 โรงเรียน ระดับดี 16 โรงเรียน และระดับพอใช้ 4 โรงเรียน ในจำนวนดังกล่าว มีโรงเรียนในโครงการ ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ได้รับคัดเลือกในระดับดีเด่น 3 โรงเรียน และระดับดี 1 โรงเรียน และโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน ของมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทสนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับรางวัลระดับดีเด่น 11 โรงเรียน และระดับดี 5 โรงเรียน

   

นายทรงวุฒิ มลิวัลย์ รักษาราชการแทนผู้อำนวยสำนักงานกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษา กล่าวว่า โครงการประกวดโรงเรียนต้นแบบอาหารกลางวันระดับประเทศ ประจำปี 2561 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 2

 เพื่อส่งเสริมให้โรงเรียนในระดับประถมศึกษา เห็นความสำคัญของภาวะโภชนาการในโรงเรียน  เป็นเวทีให้เด็กนักเรียนแสดงความสามารถด้านการผลิตอาหารกลางวัน นอกจากนี้ โรงเรียนยังต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถเผยแพร่ความรู้ให้กับชุมชนและโรงเรียนรอบข้างด้วย        

 

“โรงเรียนระดับประถมศึกษาในสังกัด สพฐ.มีมากกว่า 2 หมื่นโรงเรียน  สพฐ.เพียงหน่วยงานเดียวคงไม่สามารถพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านอาหารกลางวันได้ทั้งหมด การมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆโดยเฉพาะภาคเอกชนสามารถช่วยสร้างอนาคตของประเทศชาติให้มีภาวะโภชนาการที่ดี พัฒนาทั้งทางสติปัญญาและร่างกาย อาทิ โครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ที่เน้นเรื่องโภชนาการของเด็กๆ เข้ามาช่วยได้มาก” นายทรงวุฒิกล่าว

 

นายณรงค์ หล้าอัมพร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านลาดบัวขาว จ.นครราชสีมา ซึ่งเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีจำนวนนักเรียน 198 คน และโรงเรียนส่งเสริมกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่ เพาะเห็ด ปลูกผักสวน ครัว แปรรูปอาหาร และเป็นแหล่งเรียนรู้ที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างโรงเรียนและชุมชน  กล่าวว่า  โรงเรียนบ้านลาดบัวขาวเป็นโรงเรียนขยายโอกาส รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณอาหารกลางวันหัวละ 20 บาทต่อคนต่อวัน สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา แต่ในระดับมัธยมศึกษาที่ 1-3  รัฐบาลไม่มีงบประมาณสนับสนุนอาหารกลางวันให้ การที่โรงเรียนเข้าร่วมโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต โดยจัดกิจกรรมต่างๆ ด้านการผลิตอาหาร ทำให้มีผลผลิตมาเป็นอาหารเสริมที่เพียงพอให้นักเรียนได้บริโภคอาหารที่มีโภชนาการครบถ้วน

 

นายวิชัย ปลาบู่ทอง ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านวังใหญ่ จ.กาญจนบุรี  กล่าวว่า ภูมิใจที่โรงเรียนได้รับคัดเลือกให้เป็นโรงเรียนต้นแบบด้านอาหารกลางงวันระดับประเทศ ในระดับดีเด่น สะท้อนกระบวนการจัดการด้านอาหารกลางวันของโรงเรียนที่มีประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญกับภาวะโภชนาการที่ดีของนักเรียน และการมีส่วนร่วมของเครือข่าย อาทิ ซีพีเอฟ ที่เข้ามาส่งเสริมโครงการซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต ทำให้โรงเรียนมีแหล่งผลิตอาหารที่สะอาด ปลอดภัย  ช่วยลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการของนักเรียน    

 

โรงเรียนบ้านวังใหญ่ เปิดการเรียนการสอนชั้นอนุบาล-ประถมศึกษาปีที่ 6  มีนักเรียน 145 คน  โรงเรียนแบ่งฐานการเรียนรู้ 10 ฐาน  ได้แก่ ปลูกผักสวนครัว สวนมะนาว ปุ๋ยหมักชีวภาพ เพาะเห็ดนางฟ้า เลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก พืชสวน เพาะกล้าไม้ ทำสวนกล้วย และยังเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงให้กับชุมชน

 

ด้าน ด.ช.สัทพงษ์ เข็มพุดซา  นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านคลองยาง (มูลบนอุปถัมภ์) จ.นครราชสีมาเล่าว่า โรงเรียนมีกิจกรรมเลี้ยงไก่ไข่ เลี้ยงปลาดุก เพาะเห็ด ปลูกผักสวนครัว ปลูกกล้วย ฯลฯ ช่วยให้นักเรียนรู้จักการผลิตอาหารเอง และสามารถนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ผลผลิตที่เหลือจากการนำไปทำเป็นอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน ยังสามารถจำหน่ายมีรายได้เข้ากองทุนของโรงเรียนอีกด้วย     

 

โรงเรียนบ้านคลองยาง (มูลบนอุปถัมภ์) เน้นทำกิจกรรมโครงการขับเคลื่อนหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาอย่างต่อเนื่อง และรู้จักนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง 3 ห่วง (พอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง) 2 เงื่อนไข (เงื่อนไขความรู้ เงื่อนไขคุณธรรม) 4 มิติ (มิติด้านเศรษฐกิจ ,วัตถุ สิ่งแวดล้อม สังคม และวัฒนธรรม)มาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งที่โรงเรียนและที่บ้าน ./