รู้จักโรคใหม่ “Snapchat dysmorphia”

รู้จักโรคใหม่ “Snapchat dysmorphia”

“Snapchat dysmorphia” โรคใหม่ทางจิตใจ ผลกระทบจากปรากฏการณ์การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ “Snapchat”

Snapchat กลายเป็นแอปพลิเคชั่นแชทแถวหน้าของเหล่าอเมริกันชน โดยเฉพาะในหมู่คนดังวงการ Hollywood และวัยรุ่นยุโรปเป็นที่เรียบร้อยภายหลังการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเวลาสั้นๆ เพียง 3 ปี ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ Snapchat ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย และมีผู้ใช้งานปัจจุบันกว่า 188 ล้านคน เพราะความเร้าใจในฟีเจอร์ที่ไม่เหมือนใคร

แต่อย่างไรก็ตาม Dr.Neelam Vashi ผู้อำนวยการศูนย์ผิวพรรณ Boston University’s School of Medicine ได้เผยแพร่บทความทางการแพทย์ผ่านทาง JAMA Facial Plastic Surgery กล่าวถึงอาการ “Snapchat dysmorphia” ซึ่งหมายถึงปรากฏการณ์การใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ “Snapchat” แล้วส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจผู้ใช้งานจนก่อให้เกิดความรู้สึกไม่พอใจในรูปร่างหน้าตาของตนเอง

สำหรับสาเหตุที่เรียกชื่อว่า “Snapchat dysmorphia” นั้น เพราะ Snapchat เป็นหนึ่งในสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมมากในสังคมสหรัฐฯ ผู้ใช้สามารถส่งต่อภาพหน้าตาที่ผ่านการปรับแต่งด้วยฟิลเตอร์ต่างๆ ที่ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าตนเองดูดีขึ้น ซึ่งสำหรับบางคน การที่ได้เห็นรูปภาพของตนเองในแอปที่ดูดีมีเสน่ห์ กลับส่งผลให้พวกเขารู้สึกไม่พอใจกับรูปร่างหน้าตาที่แท้จริงของตนเอง หลายคนถึงขนาดตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัดศัลยกรรม เพื่อหวังจะให้ตนเองดูดีตามอย่างภาพในแอปเหล่านั้น

ทั้งนี้ ในอดีต 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรมใบหน้าโดยมากนั้น มักจะมีดาราหรือคนดังเป็นแบบอย่าง แต่ในระยะหลังเริ่มมีผู้เข้ารับการผ่าตัดอีกกลุ่มเพิ่มมากขึ้น โดยกลุ่มนี้ไม่ต้องการปรับเปลี่ยนใบหน้าตนเองให้เหมือนดาราหรือคนดัง หากแต่ต้องการจะผ่าตัดปรับเปลี่ยนใบหน้าของตนเองให้ใกล้เคียงใบหน้าของตนเองที่ผ่าน "การปรับแต่งด้วยฟิลเตอร์" แทน

สอดคล้องกับงานวิจัยทางการแพทย์ก่อนหน้าเกี่ยวกับผลกระทบจากการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์กับสถิติการผ่าตัดศัลยกรรมใบหน้าพบว่า ผลจากความนิยมของการถ่ายรูป selfie นั้น ทำให้มีหลายคนเข้ารับการผ่าตัดใบหน้า เพื่อหวังว่าจะถ่ายรูป selfie แล้วออกมาดูดียิ่งขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง และผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม รพ.บางมด ได้ให้ความคิดเห็นเกี่ยวกับการศัลยกรรมตามใบหน้าตนเองในแอปพลิเคชั่นว่า

“ภาพที่เกิดจากการตกแต่งด้วยฟิลเตอร์ในแอปพลิเคชั่น คือ เทคนิคการตกแต่งภาพที่มีความแตกต่างจากข้อเท็จจริง หรือหลักปฏิบัติจริงทางการแพทย์ที่สามารถทำได้ อีกทั้ง ในแต่ละบุคคลมีข้อจำกัดทางด้านโครงสร้างของใบหน้า, ร่างกาย, ผิวหนังที่มีความหนา บาง หรือความยืดหยุ่นแตกต่างกัน ซึ่งอาจจะทำได้จริง หรือไม่ได้จริง

ดังนั้น สิ่งสำคัญที่อยากจะเน้นย้ำและแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการทำศัลยกรรม คือ ควรเข้ารับการวิเคราะห์และรับฟังคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทำให้พอดี เหมาะสมตามลักษณะโครงสร้าง ไม่มากเกินไป เพื่อความปลอดภัยของตัวเอง เนื่องจากในความเป็นจริงโครงสร้างของมนุษย์ไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกับเทคนิคการตกแต่งด้วยแอปพลิเคชั่น”

สุดท้าย นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล ได้ฝากข้อคิดที่ควรคำนึงถึงก่อนการทำศัลยกรรม นั่นคือ “ความปลอดภัย” โดย “ยิ่งทำน้อย ยิ่งปลอดภัย” เพราะการทำศัลยกรรมควรทำเฉพาะจุดที่มีปัญหาจริงๆ ทำให้น้อยที่สุด และตรงปัญหาที่สุด จึงจะได้รับผลดี และ “ยิ่งพอดี ยิ่งปลอดภัย” นั่นคือ อย่าต้องการทำอะไรที่ฝืนธรรมชาติมากๆ เพราะโอกาสเกิดผลแทรกซ้อนตามมา ควรทำให้พอดีกับโครงสร้างของแต่ละคน

และ “ยิ่งเลือกเป็น ยิ่งปลอดภัย” คือ ควรรู้จักเลือก ได้แก่ เลือกสถานพยาบาลที่มีมาตรฐานและความปลอดภัย, เลือกแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญและมากประสบการณ์, วัสดุอุปกรณ์ที่ดี เช่น ซิลิโคน ได้รับมาตรฐาน อย. US FDA เป็นต้น รวมถึง อย่าหลงเชื่อตามคำโฆษณา รีวิวต่างๆ มากจนเกินไป”

นอกจากนี้ บทความฉบับดังกล่าวยังเผยว่า Snapchat อาจเป็นตัวกระตุ้นหรือส่งผลต่อสภาพทางจิต จนนำไปสู่ความผิดปกติทางจิตจริงๆ อย่างหนึ่งที่เรียกว่า "โรคคิดว่าตนเองมีรูปร่างหรืออวัยวะผิดปกติ" หรือ "Body Dysmorphic Disorder (BDD)" ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้สุขภาพจิตแย่ลง โดยมีอาการย้ำคิด หมกมุ่นเกี่ยวกับรูปลักษณ์ ทั้งที่ความจริงแล้วปกติ หรือใกล้เคียงปกติ หรือมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย