การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี 4.0

การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี 4.0

 

สอศ. - มจพ. - วจด. ผนึกความร่วมมือ (MOU)จัด “การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี 4.0” ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ พร้อมทุนการศึกษากว่า 600,000 บาทเป้าวางพื้นสร้างคนป้อนไทยแลนด์ 4.0 กำหนดแข่งรอบตัดสินในงานเวิลด์ไดแด็ค เอเชีย 2018 ตุลาคมนี้ ณ ศูนย์ฯสิริกิติ์

ครั้งแรกในประเทศไทย ผนึก 3 หน่วยงานการศึกษาแห่งชาติ สำนักคณะกรรมการอาชีวศึกษา(สอศ.)โดยดร.บุญส่ง จำปาโพธิ์รองเลขาธิการฯ  ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ(มจพ.)ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ เซี่ยงฉิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯและรองศาสตราจารย์ ดร.คุณหญิงสุมณฑาพรหมบุญ อธิการบดีเทคโนโลยีจิตรลดา(วจด.)ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(MOU)จับมือกับ สมาคมเวิลด์ไดแด็ค (WORLDDIDAC Association) จัด“การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยี 4.0”ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี พร้อมทุนการศึกษาและรางวัลกว่า 600,000 บาทเพื่อเสริมสร้างความรู้การฝึกทักษะ การควบคุมระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์แก่นักศึกษานับเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความรู้ของนักศึกษาสายอาชีวศึกษาและอุดมศึกษาให้สามารถปฏิบัติงานได้จริงและเกิดประโยชน์แก่ภาคอุตสาหกรรมตามนโยบายประเทศไทย 4.0 โดยการแข่งขันฯจะจัดขึ้นภายในงานนิทรรศการสื่อการสอนใหม่“เวิลด์ไดแด็ค เอเชีย 2018”งานแสดงสื่อเทคโนโลยีนานาชาติเพื่อการศึกษาชั้นนำของเอเชีย ระหว่างวันที่ 10 – 12 ตุลาคม 2561 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 

การแข่งขันการควบคุมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติด้วยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม 4.0 ในปี 2561 ประกอบด้วยการแข่งขันควบคุมระบบอัตโนมัติ / หุ่นยนต์แขนกลในงานเชื่อมและออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยหุ่นยนต์อุตสาหกรรม4.0  คาดว่าจะมีทีมที่สนใจเข้าร่วมการแข่งขันประเภทละกว่า 60ทีม จากกว่า 100สถาบัน

รายละเอียดการสมัคร ที่เว็บไซต์http://i40kmutnb.org/

งานสื่อการสอนใหม่ “เวิลด์ไดแด็ค เอเชีย” เป็นหนึ่งในซีรี่ส์งาน เวิลด์ไดแด็ค ที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยจัดขึ้นเพื่อร่วมยกระดับการศึกษาระดับอาเซียน โดยจะจัดแสดง อุปกรณ์ เทคโนโลยี และสื่อการสอนใหม่จากนานาประเทศ อาทิ Smart classroom, Interactive Board, IT Solutions Zone เป็นต้น เพื่อผู้บริหารสถาบันการศึกษา ครู อาจารย์ นักวิชาการ และผู้เกี่ยวข้องในวงการการศึกษาทุกระดับ ได้ใช้พัฒนาการเรียนการสอน หลักสูตร รวมทั้งเตรียมความพร้อมครู อาจารย์ ให้สามารถพร้อมแข่งขันในยุคประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน