มาตรการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

มาตรการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

 

มาตรการสนับสนุนการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ

ภาครัฐ-เอกชนผนึกกำลังหนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จัดตั้งโครงการ Robotics Cluster Pavilion ในงานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2018 ระหว่างวันที่ 20-23 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทคบางนาพร้อมบูรณาการมาตรการสนับสนุนจากทุกหน่วยงานรัฐ นำเสนอพร้อมกันอย่างครบวงจร ตั้งแต่การให้คำปรึกษา  บริการประเมินความพร้อมทุกด้าน  แหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ มาตรการภาษี เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมั่นใจและพร้อมที่จะลงทุน รวมทั้งยังเป็นศูนย์รวมSIมาตรฐานที่ผ่านการขึ้นทะเบียนแล้วพร้อมชมการสาธิต Smart Mini Factory 4.0 ตอบโจทย์ Industry 4.0

ดร.ณัฐพล รังสิตพล เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม รักษาการตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ)เผยมาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยมีเป้าหมายให้อุตสาหกรรมไทยมีผลผลิตมวลรวมสูงขึ้น 50 % มีผู้ประกอบการ SI เกิดขึ้นอย่างน้อย 1,400 ราย และมีการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้น  200,000 ล้านบาทใน 5 ปี   โดยสามารถลดการนำเข้าหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติจากต่างประเทศได้ 30% (8 หมื่นล้านบาท) และสามารถส่งออกได้ในปี 2569

จากความต้องการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในประเทศไทยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นรวมถึงความต้องการพัฒนาสายการผลิตด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ สศอ. จึงร่วมกับภาคเอกชนร่วมกันจัดโครงการ Robotics Cluster Pavilion ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์ในการอำนวยความสะดวก ให้ความรู้ เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบการ SME โดยตรง แบบตัวต่อตัว โดยได้รวบรวมมาตรการในการสนับสนุนทั้งหมดและนำเสนออย่างบูรณาการ

ประกอบด้วยการให้บริการให้คำปรึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช) และสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA)และการแนะนำการเลือก SIโดยเครือข่ายศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติหรือ CoREการจองสิทธิ์รับสินเชื่ออัตราพิเศษภายในงานโดยธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank)ประกอบด้วย สินเชื่อเศรษฐกิจติดดาว วงเงินสูงสุดไม่เกิน 5ล้านบาท/ราย สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 วงเงินสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท/ราย และโครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) เพื่อปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

นอกจากนี้ยังมีส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับเครื่องจักร  การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 50 หรือ 100 ตามเงื่อนไขที่กำหนด

รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคลัสเตอร์หุ่นยนต์ กล่าวถึงความคืบหน้าในการส่งเสริมผู้ประกอบการ SME ให้ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถชิงความได้เปรียบการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค ทั้งนี้หากมีการลงทุนในการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างเหมาะสม จะสามารถคุ้มทุนได้เฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี โดยมีผลิตภาพเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10-16%

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย–เยอรมัน เผยถึงมาตรการสนับสนุน SME ในส่วนของ Center of Robotics Excellence (CoRE) โดยจะให้คำปรึกษาด้านเทคนิคและประเมินความคุ้มค่าทางการเงินในเบื้องต้น(Quick Feasibility) จัดหาผู้เชี่ยวชาญในเครือข่าย CoREซึ่งเป็นSI ที่ลงทะเบียนไว้กับศูนย์ฯ เพื่อให้คำปรึกษาด้านเทคนิคในเชิงลึกอย่างใกล้ชิด ขณะเดียวกันกลุ่ม SIก็สามารถเข้ามาลงทะเบียนเป็นสมาชิกเครือข่ายได้ภายในงาน

ดร. ประพิณ อภินรเศรษฐ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย(TARA)เผยถึงการจัดโครงการฯนี้ว่ากลุ่ม TARA พร้อมให้คำปรึกษาโดย SI ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนจากพลาสติก อุตสาหกรรมการขึ้นรูปและการประกอบ อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารเพื่อให้ SME เห็นแนวทางเบื้องต้นในการปรับเปลี่ยน รวมทั้งได้พบกับ SI ที่ได้มาตรฐาน

เพื่อให้ SME เห็นถึงความเป็นไปได้ และเปรียบเทียบประสิทธิผลของการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ในกระบวนการผลิตได้ชัดเจนมากขึ้น TARA จึงได้ร่วมกับสมาชิกสมาคม 15 บริษัท ออกแบบสายการผลิตอัจฉริยะ Smart Factory ที่จะสาธิตขั้นตอนต่างๆ ซึ่งผู้เข้าชมจะสามารถเห็นขั้นตอนในการผลิตจริงภายในงาน 

นายอิสระ บุรินทรามาตย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท รี้ด เทรดเด็กซ์ จำกัดเผยถึงการจัดงานแมนูแฟกเจอริ่ง เอ็กซ์โป 2018(เอ็มอี)ว่า “งานแสดงสินค้าเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการผลักดันเทคโนโลยีสู่กลุ่มอุตสาหกรรม เพราะนอกจากผู้เข้าชมงานจะได้สัมผัสถึงสมรรถนะของเทคโนโลยีใหม่ๆ แล้ว ผู้จัดแสดงก็มีการจัดรายการส่งเสริมการขายทั้งราคาและการบริการที่มากกว่าปกติ ซึ่งผู้เข้าชมงานสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของแต่ละสินค้าได้ ทั้งยังเป็นเวทีที่สำคัญในการให้องค์ความรู้เพื่อประกอบการตัดสินใจ

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญในการจัดงานปีนี้คือRobotics Cluster Pavilion ซึ่งประกอบด้วยกิจกรรมที่ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายในระดับความสนใจต่างๆ 3 รูปแบบ คือ กิจกรรมสัมมนาให้ความรู้เบื้องต้นกับผู้ที่เริ่มมีความสนใจการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ประกอบด้วย รวมสิทธิประโยชน์เพื่อการใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิตเลือก SI อย่างไรให้เหมาะสมกับธุรกิจ และเริ่มการใช้หุ่นยนต์ง่ายขึ้นด้วยแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยพิเศษ

กิจกรรมสัมมนาเชิงปฎิบัติการ เจาะลึกมาตรการภาษีเพื่อการลงทุนระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์กับ BOI และบริการปรึกษาเชิงลึกแบบตัวต่อตัวในประเด็นปรับปรุงสายการผลิตอย่างไรให้คืนภาษี 100% การประเมินความพร้อมก่อนตัดสินใจใช้ระบบอัตโนมัติ สำหรับผู้ที่มีแผนการใช้ หรือเริ่มดำเนินแผนการปรับเปลี่ยนระบบแล้ว

การจัดงานเอ็มอี มหกรรมเทคโนโลยีและโซลูชั่น เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมและการผลิต ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 20– 23 มิถุนายนนี้ ณ ไบเทค บางนาในปีนี้มีบริษัทเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 500 บริษัท 2,400 แบรนด์ จาก 46 ประเทศ ครอบคลุม 7 กลุ่มอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมพลาสติก แม่พิมพ์และการขึ้นรูป เทคโนโลยีการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์  และเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติและการประกอบ  การเคลือบและเตรียมพื้นผิว การรับช่วงการผลิต โดยใช้พื้นที่การจัดงานกว่า 46,000 ตารางเมตร คาดว่าตลอดทั้ง 4 วันจะมีผู้เข้าชมงานกว่า85,000 คน

โดยมีกลุ่มเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติและการประกอบเข้าร่วมแสดงกว่า 95 บริษัท มี   แบรนด์หุ่นยนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศรวมกว่า 27 แบรนด์ ซึ่งนับว่ามากที่สุดในภูมิภาคทั้งนี้ด้วยเพราะความต้องการเทคโนโลยีด้านนี้ของภาคอุตสาหกรรมขยายตัวอย่างมาก ไม่ว่าจากปัจจัยด้านแรงงาน ความซับซ้อนของขั้นตอนการผลิตที่มีมากขั้น รวมถึงนโยบายประเทศไทย 4.0 ที่ผลักดันลงมาถึงกลุ่ม SME ถือว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ